หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

“ประชาธิปไตย” แบบกรีซ

“ประชาธิปไตย” แบบกรีซ 


 
โดย C.H.


นักวิชาการมักจะชอบพูดว่าระบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรีซ แต่เราควรศึกษาดูว่ามันเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ และรากฐานของระบบนี้มาจากไหน

ในยุคแรกๆ ของระบบการเมืองกรีซ จะมีกษัตริย์และความเชื่อเก่าตกค้างจากอดีต แต่เมื่อสังคมเจริญขึ้นมีชนชั้นเจ้าของที่ดินรายใหญ่เกิดขึ้นซึ่งไม่พอใจกับ พวกขุนนางเก่า จึงมีการล้มระบบกษัตริย์และสร้างสาธารณรัฐภายใต้การปกครองของอภิสิทธิ์ชน ขึ้นมาแทน

พวกอภิสิทธิ์ชนเจ้าของที่ดินรายใหญ่ นอกจากจะมีทาสแล้ว ยังบังคับให้เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินของตนเองต้องจ่ายภาษีเพื่อบำรุงรัฐ และเลี้ยงดูกองทัพเรือด้วย บางครั้งเกษตรกรรายย่อยจะยากลำบากและต้องขายตัวเป็นทาสเพื่อจ่ายหนี้ สถานการณ์แบบนี้นำไปสู่ความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างต่อเนื่องระหว่างประชาชน ธรรมดากับอภิสิทธิ์ชน หลายครั้งมีการยึดอำนาจโดยบุคคลที่ตั้งตัวเป็น “ทรราช” แล้วใช้นโยบายเอาใจคนจน เพื่อกดขี่อภิสิทธิ์ชนคนอื่นที่เป็นคู่แข่ง
   
ในกรณีเมือง อาเทนส์ มีการลุกฮือล้มอำนาจของอภิสิทธิ์ชน พร้อมกับการล้มอำนาจของ “ทรราช” ซึ่งนำมาสู่ระบบที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตย” แต่ทั้งๆ ที่ประชาชนธรรมดาขึ้นมามีอำนาจ โดยมีการเลือกผู้นำและผู้พิพากษา มันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เราเข้าใจทุกวันนี้ เพราะทาส ช่างฝีมือกับพ่อค้ารายย่อยจากต่างเมือง และสตรี ไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไรเลย นอกจากนี้ “ประชาธิปไตย” กรีซไม่มีผลในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเจ้าของที่ดินรายใหญ่กับประชาชนเลย

อย่างไรก็ตามนักคิดหลายคนที่เป็นตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน อย่างเช่น เพลโต และ ซอกคราทีส มักจะรังเกียจประชาธิปไตยนี้ และเสนอว่ามันเป็นระบบปกครองของ “ม็อบ” ที่ขาดการศึกษาซึ่งเปิดโอกาสให้นักการเมืองเลวฉวยโอกาสขึ้นมามีอำนาจ บ่อยครั้งพวกอภิสิทธิ์ชนที่เกลียดคนชั้นล่างและระบบประชาธิปไตย มักจะภาวนาว่า อาเทนส์ จะแพ้สงครามกับศัตรูเช่นเมือง สปาร์ตา เพื่อให้ประชาธิปไตยมันสิ้นสุดลงและอำนาจกลับมาอยู่ในมือของอภิสิทธิ์ชน
   
สาเหตุหนึ่งที่ประชาชนธรรมดาในเมือง อาเทนส์ มีอำนาจได้ ก็เพราะเมืองนี้อาศัยกำลังทหารเรือจำนวนมากในการปกป้องผลประโยชน์ ซึ่งทหารเรือเหล่านั้นคือประชาชนธรรมดานั้นเอง

 
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2011/04/blog-post_27.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น