หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำไมสตรีไทยต้องมีสิทธิทำแท้งเสรี

ทำไมสตรีไทยต้องมีสิทธิทำแท้งเสรี

 


 
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์


สิทธิของสตรีที่จะควบคุมร่างกายตนเอง โดยไม่มีนักการเมือง พระ ผู้พิพากษา หรือพวกอนุรักษ์นิยมหัวไดโนเสาร์ มาควบคุม เป็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเมืองพื้นฐาน “สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย” นี้ หมายถึงสิทธิที่จะตั้งท้องหรือไม่ และสิทธิที่จะยุติการตั้งท้องถ้าไม่พร้อม สิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัยนั้นเอง


พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” เพื่อนำความคิดของตนเอง มาบังคับใช้กับคนอื่น โดยสนับสนุนกฎหมายห้ามทำแท้งอย่างที่มีอยู่ในไทยในปัจจุบัน เป็นพวกที่ใช้เผด็จการเพื่อกดขี่คนอื่น เพราะถ้าคุณเป็นสตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งคุณก็ไม่ต้องทำ แต่คุณไม่มีสิทธิ์เหนือร่างกายผู้หญิงคนอื่นที่คิดต่าง ถ้าคุณเป็นผู้ชายคุณมีสิทธิ์พูดและคิด แต่ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้นในการสนับสนุนการบังคับผู้หญิงไม่ให้ทำแท้ง คนที่อยากเผด็จการกับร่างกายสตรี เป็นพวกที่นิยมระบบทาส เพราะการใช้อำนาจเหนือร่างกายผู้อื่นคือระบบทาส


 พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” ในการห้ามทำแท้ง เป็นพวกสองมาตรฐาน เพราะเน้น “สิทธิจอมปลอมของทารกที่ยังไม่เกิด” เหนือ “สิทธิแม่” แต่ยิ่งกว่านั้นพวกนี้เป็นคนที่ให้ความชอบทำกับการมีกองทัพเพื่อฆ่าคน และให้ความชอบธรรมกับการฆ่าคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ นอกจากนี้พวกที่คัดค้านการทำแท้งมักจะสนับสนุนโทษประหารชีวิต


หัวหอกในการจำกัดสิทธิสตรีไทยในการทำแท้งคือ จำลอง ศรีเมือง ที่เป็นหัวหน้าแก๊งพันธมิตรฯ จำลอง คนนี้เคยเป็นทหารรับจ้างเพื่อฆ่าคนในลาว เป็นคนที่มีส่วนในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา และเป็นคนที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคพวกของเขามองว่าพลเมืองไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป”


สิทธิการทำแท้งเป็นเรื่องชนชั้น เพราะในขณะที่คนจนหรือกรรมาชีพในโรงงานต้องเสี่ยงกับการทำแท้งอย่างไม่ ปลอดภัยในสถานที่เถื่อน หรือเสี่ยงกับการติดหนี้มหาศาลเพื่อไปทำแท้งในคลินิก คนรวยและลูกสาวของครอบครัวชั้นสูง สามารถใช้เงินซื้อการทำแท้งปลอดภัยในไทยหรือในต่างประเทศ และเขาทำเป็นประจำ



พวกอนุรักษ์นิยมเสื้อเหลืองโกหกว่าการทำแท้งกับการมีเพศสัมพันธ์แบบ “สำส่อน” เกี่ยวโยงกัน แต่เราต้องเปิดเผยความจริงว่าสตรีส่วนใหญ่ที่เลือกทำแท้งในไทยและที่อื่น เป็นคนที่มีคู่ถาวร จำนวนมากมีลูกแล้วด้วย แต่จุดร่วมคือไม่พร้อมจะตั้งท้อง ยิ่งกว่านั้นพวกเสื้อเหลืองอนุรักษ์นิยมเป็นพวกที่คัดค้านการให้เพศศึกษากับ วัยรุ่น และคัดค้านการตั้งเครื่องขายถุงยางในห้องน้ำมหาวิทยาลัยและที่อื่นๆ ที่วัยรุ่นใช้ พวกเสื้อเหลืองอนุรักษ์นิยมมองด้วยความผิดเพี้ยน ว่าการมี sex หรือเพศสัมพันธ์คือ “สิ่งสกปรก” เพราะเขาเองทำให้สกปรกเองผ่านการซื้อขายเพศ การถ่ายภาพแล้วไปปล่อยตามอินเตอร์เน็ท หรือการเอาเปรียบบังคับเด็กๆ แต่การมีเพศสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมกันและสมัครใจ ระหว่างวัยรุ่นกันเอง หรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ เป็นสิ่งงดงาม


กฎหมายห้ามทำแท้งของไทย ที่รัฐอำมาตย์บังคับใช้มานาน เป็นการกดขี่สตรีภายใต้สองมาตรฐานของศีลธรรม และเป็นสิ่งที่บังคับให้สตรีไทยต้องไปเสี่ยงกับความอันตราย


การจำกัดสิทธิของผู้หญิงที่จะเลือกทำแท้ง เป็นผลจากความคิดจารีตเรื่องครอบครัว ที่พยายามควบคุมแง่ต่างๆ ของเพศสัมพันธ์ในสังคม ความคิดอนุรักษ์นิยมมองว่าชายกับหญิง แต่โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องแต่งงานก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหมายความว่าการมีเพศสัมพันธ์มีเพื่อมีลูกเป็นหลัก และผู้หญิงจะมีบทบาทหลักในการดูแลลูกภายใต้กรอบจารีตของครอบครัวทุนนิยม การที่ผู้หญิงจะมีเพศสัมพันธ์ตามความต้องการทางเพศธรรมชาติ ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ “ผิดอับอายขายหน้า” ดังนั้นการป้องกันตัวเองจากการตั้งครรภ์ด้วยการคุมกำเนิด ย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามในวัยรุ่นที่ยังไม่แต่งงาน และการทำแท้งถูกทำให้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน แต่คาดว่าในประวัติศาสตร์ ยุคก่อนการค้นพบวิธีคุมกำเนิด การทำแท้งเป็นวิธีการปกติของผู้หญิงไทยในการจำกัดจำนวนบุตร


เราต้องมองว่าประเด็นหลักของพวกที่คัดค้านการทำแท้งไม่ใช่ศาสนาหรือ ศีลธรรม ทั้งๆ ที่ถูกอ้างมาตลอด ประเด็นหลักคือการพยายามควบคุมผู้หญิงและเพศสัมพันธ์


ในประเทศที่รัฐบาลส่งเสริมสุขภาพของพลเมือง หรือในประเทศที่รัฐถูกกดดันโดยขบวนการสิทธิสตรี เริ่มมีการยอมรับสิทธิในการเลือกทำแท้งเสรี ตัวอย่างที่ดีคือประเทศยุโรปตะวันตกที่มีรัฐสวัสดิการ
ถ้าพิจารณาประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่ามีแค่สองประเทศเท่านั้นที่ยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ตนเอง โดยยอมให้มีสิทธิทำแท้งเสรี สองประเทศนั้นคือสิงคโปร์ และเวียดนาม


ในประเทศสิงคโปร์ก่อนปี ค.ศ. 1969 การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามกฎหมายที่เป็นมรดกจากยุคอาณานิคมอังกฤษ แต่ตั้งแต่ 1969 เป็นต้นไปมีการเสนอให้เปิดเสรีมากขึ้นในเรื่องทำแท้ง จนในปี 1974 มีการอนุญาตให้เลือกทำแท้งได้ สาเหตุหลักที่มีการเปลี่ยนกฎหมายคือประเด็นเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้หญิง รัฐบาลสิงคโปร์เข้าใจว่าการห้ามทำแท้ง ไม่ได้ยับยั้งการทำแท้งอย่างแท้จริง เพราะเพียงแต่บังคับให้คนไปทำแท้งในสถานที่อันตรายและผิดกฎหมายที่ไม่มี แพทย์ให้บริการ และบ่อยครั้งผู้ที่เป็นหัวหอกในการเสนอให้ทำแท้งเสรี คือหมอที่เคยต้องรักษาผู้หญิงที่มีปัญหาจากการทำแท้งเถื่อน คาดว่าอัตราการทำแท้งในปี 1996 เท่ากับ 15.9 ครั้ง ต่อประชากรผู้หญิงทุก 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเอเชีย


อย่างไรก็ตาม ในปี 1987 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนนโยบายไปสู่แนวจารีตอีกครั้ง เมื่อออกกฎหมายบังคับให้สตรีต้องไปปรึกษานักจิตวิทยาก่อนตัดสินทำแท้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในใจกลางสังคมทุนนิยม ที่ไม่เคยหายไป


ในประเทศเวียดนาม ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส การทำแท้งถือว่าผิดกฎหมาย แต่หลังจากที่เวียดนามเหนือได้รับเอกราชผ่านการต่อสู้กับฝรั่งเศส สตรีมีสิทธิเลือกทำแท้งตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิเจริญพันธ์และสุขภาพของผู้หญิง แต่ในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารในค่าย “โลกเสรี” ของสหรัฐอเมริกา ไม่มีการเปิดโอกาสให้สตรีมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะและรวมชาติในปี 1975 มีการขยายสิทธิทำแท้งไปทั่วประเทศ


นอกจากผู้หญิงจะมีสิทธิ์ทำแท้งแล้ว ในช่วงแรกหลัง 1975 มีการพัฒนาการบริการของรัฐในเรื่องสุขภาพอนามัยสำหรับสตรี ซึ่งรวมถึงการบริการในด้านการคุมกำเนิดอีกด้วย และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนปี 1989 เน้นว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้ง และได้รับการบริการในทุกด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพสตรี ในขณะเดียวกันมีการห้ามทำแท้งหรือติดอุปกรณ์คุมกำเนิดในสถานที่ที่ไม่ได้รับ ใบอนุญาตจากรัฐ บ่อยครั้งพนักงานภาครัฐและคนจนสามารถได้รับบริการทำแท้งและการรักษาสุขภาพ อื่นๆ โดยไม่คิดค่าบริการ และที่สำคัญคือ ในปี 1991 มีการออกกฎระเบียบให้ผู้หญิงลางานเพื่อทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม


กรณีเวียดนาม ที่มีเสรีภาพในการทำแท้ง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานภาพของผู้หญิงในเรื่องสุขภาพเจริญพันธ์ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศไทย


จากการสำรวจความเห็นและประสบการณ์ของพนักงานสาธารณะสุขในหลายประเทศของ เอเชีย [ดู Susheela Singh, Deirdre Wulf และ Heidi Jones (1997) ในหนังสือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเด็นถกเถียงทางการเมือง” ของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ๒๕๕๓] ค้นพบว่าผู้หญิงในทุกประเทศจะไปทำแท้ง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย อัตราการทำแท้งเฉลี่ยในเอเชียคือ 3% ของประชากรต่อปี หรือการทำแท้งทั้งหมด 4.2 ล้านกรณีต่อปี ซึ่งในตัวเลขดังกล่าวมีอัตราการทำแท้งผิดกฎหมาย 3 ล้านรายต่อปี


ในประเทศที่มีสิทธิ์ทำแท้งเสรี ผู้หญิงจะสามารถทำแท้งในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน ซึ่งสร้างความปลอดภัยกับผู้หญิง ส่วนในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกกหมาย อย่างประเทศไทย ผู้หญิงต้องไปเสี่ยงกับการทำแท้งเถื่อนที่อันตรายต่อชีวิต สำหรับผู้หญิงที่มีรายได้สูง เขาสามารถใช้เงินเพื่อซื้อความปลอดภัยในการทำแท้งได้ แม้แต่ในประเทศที่ห้ามทำแท้ง ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงภัยมากที่สุดคือผู้หญิงยากจน โดยเฉพาะในชนบท ในกลุ่มผู้หญิงที่ไปทำแท้งเถื่อน ประมาณ หนึ่งในสาม เกิดปัญหาสุขภาพ และประมาณครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ต้องเข้าโรงพยาบาล


สรุปแล้วการทำแท้งเป็นประเด็นชนชั้นในสองมิติคือ ในมิติความคิดทางการเมือง แนวคิดจารีตเรื่องครอบครัวของทุนนิยม ที่จำกัดการทำแท้ง เป็นแนวคิดที่ให้ประโยชน์กับชนชั้นปกครอง ทั้งๆ ที่ทำให้ผู้หญิงต้องเสี่ยงภัย และในมิติรูปธรรมของการทำแท้ง คนจนมักต้องเสี่ยงภัยมากกว่าคนรวยเสมอ นี่คือสาเหตุที่เราต้องสนับสนุนสิทธิการทำแท้งเสรีสำหรับสตรีไทย

(อ่านต่อ)
http://prachatai.com/journal/2010/11/31979

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น