หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกมบนซากศพวีรชน

เกมบนซากศพวีรชน


 

 
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์
 
อย่าพึ่งออกมาฉลองการที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพให้อัยการในฐานะที่มีส่วนในการสั่งฆ่าเสื้อแดง เพราะในประการแรกมันไม่มีหลักประกันอะไรว่าอัยการจะสั่งฟ้อง ในประการที่สองถ้าสองนักการเมืองมือเปื้อนเลือดเหล่านี้ขึ้นศาล ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าเขาจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษอันสมควรสำหรับพวกนี้ แต่ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการที่สำคัญที่สุดคือ ธาริต ไม่ยอมกล่าวหาทหารแต่อย่างใด ซึ่งแปลว่านายทหารระดับนายพล ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการฆ่าประชาชน จะลอยนวลตามเคย และสืบทอดวัฒนธรรมป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทย


ถ้าเกิดอภิสิทธิ์และสุเทพถูกจำคุก ซึ่งไม่เกิดแน่ภายใต้ชนชั้นปกครองไทยและสถานการณ์ปัจจุบัน ทักษิณก็ควรจะถูกฟ้องในฐานะที่มีส่วนในการฆ่าประชาชนที่ตากใบ และในสงครามยาเสพติดด้วย นั้นคืออีกสาเหตุที่ฝ่ายชนชั้นปกครองคงไม่เอาจริงกับนักการเมืองประชาธิปัตย์ และสังคมไทยก็จะยังคงขาดมาตรฐานและหลักสิทธิมนุษย์ชนพื้นฐาน


กลับมาเรื่องทหาร อย่าลืมว่าทหารเป็นผู้ที่ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง แต่แรก และทั้งอนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหาร ต่อมาหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารจัดให้มีการเลือกตั้ง และพรรคพลังประชาชนชนะ ฝ่ายทหารก็จับมือกับศาลเตี้ยในการล้มรัฐบาลอีก และในที่สุดก็ “จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ในค่ายทหาร” ถ้าไม่มีทหารอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกไม่ได้ เขาเป็นหุ่นเชิดของทหาร

ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปราบปรามการประท้วงของเสื้อแดง ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย เราคงจำได้ว่า ศอฉ. นี้ตั้งขึ้นและทำงานในค่ายทหารราบที่๑๑ โดยที่ อนุพงษ์ เผ่าจินดา และประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทสำคัญร่วมกับทหารคนอื่น แน่นอนอภิสิทธิ์และสุเทพก็มีบทบาทด้วย และสุเทพถือตำแหน่งผู้อำนาวยการ แต่ตำแหน่งทางการกับอำนาจแท้ในการสั่งการไม่เหมือนกัน นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์สองคนนี้ไม่มีวันที่จะมีอำนาจสั่งการปฏิบัติการของทหารได้ สั่งเจ้านายตนเองได้อย่างไร? เขาได้แต่เห็นชอบและให้ความชอบธรรมกับการฆ่าเสื้อแดงเท่านั้น ดังนั้นคนที่มือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดงคือทั้งสี่คน อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ 

ทำไมทหารจึงลอยนวล?
 
ก่อนอื่นขอปัดทิ้งข้อแก้ตัวแทนรัฐบาลของเสื้อแดงบางคนที่มองว่าคำสั่งฆ่ามาจาก “เบื้องบน” เพราะไม่เคยมีอำนาจที่จะสั่งการอะไร ดังนั้นศูนย์กลางอำนาจสั่งฆ่าเสื้อแดงอยู่ที่กองทัพ ไม่ต่างจากพฤษภาคม ๓๕, ๖ ตุลา หรือ ๑๔ ตุลา
 
ตั้งแต่การเลือกตั้งในปี ๒๕๕๔ พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ และทักษิณได้ทำข้อตกลงกับทหาร ทักษิณเองเคยพูดเมื่อต้นปี ๒๕๕๕ ที่เขมร ว่าเขาไม่มีข้อขัดแย้งกับทหาร เพราะ “คู่ขัดแย้งคือพรรคประชาธิปัตย์” ในข้อตกลงกับทหาร ฝ่ายทหารยอมให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่จริงๆ แล้วมันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทหาร เพราะถ้าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งอีกครั้งจะมีการเคลื่อนไหวมากมาย แถมพรรคเพื่อไทยคุมและค่อยๆ สลายเสื้อแดงได้ ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการตอบแทนทหารรัฐบาลเพื่อไทยไม่แตะทหาร ผูกมิตรและเชิดชูด้วยซ้ำ และเพิ่มงบประมาณให้ด้วย นอกจากนี้มีการประกาศว่าจะไม่แตะเรื่อง 112 และมีความหวังว่าในอนาคตทักษิณจะกลับบ้านได้ แต่นักโทษ 112 คงกลับไม่ได้


การที่ธาริตส่งคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพให้อัยการเป็นการสร้างภาพปลอม เพื่อปลอบใจเสื้อแดงว่ารัฐบาลจะสร้างความยุติธรรมให้วีรชนที่สละชีพ ทั้งนี้เพื่อไทยทราบดีว่าต้องพึ่งคะแนนเสียงของเสื้อแดง และแน่นอนผลของคดีอภิสิทธิ์กับสุเทพ ถ้ามีคดีจริง ก็คงเกิดหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปแน่นอน ในระบบอยุติธรรมของไทยมันลากคดีไปเรื่อยๆ ได้


การที่อภิสิทธิ์และสุเทพมีคดีลอยอยู่เหนือหัว เป็นเครื่องมือในการต่อรอง เพื่อให้ทักษิณกลับบ้านได้ และเพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเพื่อไทยได้อีกด้วย และเครื่องมือต่อรองนี้จะไม่ทำให้ทหารโกรธแต่อย่างใด เพราะทหารมองว่าประชาธิปัตย์ “ใช้แล้วทิ้งได้” ไอ้ละครตะลก “หน้ากากขาว” ของชนชั้นกลางไร้ปัญญาก็เป็นเพียงละครต่อรองเช่นกัน

ส่วนเรื่องการนำทหารและนักการเมืองที่สั่งฆ่าเสื้อแดงขึ้นศาลจริงๆ หรือการยกเลิก 112 หรือการร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอคณะนิติราษฏร์นั้น ต้องรอให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจวิวัฒนาการออกมาจากเสื้อแดงที่ก้าวหน้าที่สุด ที่ปฏิเสธพรรคเพื่อไทย ปฏิเสธแกนนำ นปช. และปฏิเสธยุทธวิธีล้าหลังของกลุ่มเสื้อแดง 51 ที่อ้างว่ารักเชียงใหม่ แต่ถ้าไม่มีขบวนการดังกล่าว ไม่ต้องไปหวังว่าคนอื่น โดยเฉพาะพวกชนชั้นปกครอง จะทำให้ไทยมีประชาธิปไตยได้

(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/06/blog-post_17.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น