เตรียมยื่นประกันตัว รอบ 15 ภรรยาสมยศขอชื่อคนหนุน-ยันสมยศไม่หลบหนี
สุกัญญา ระบุว่า การต่อสู้ให้สมยศได้ออกมาต่อสู้คดีสำคัญอย่างยิ่ง การยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 15 จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. นี้ โดยนอกจากเหตุผลที่จะยื่นต่อศาลแล้ว จะมีการเพิ่มวงเงินประกันขึ้น จากที่เคยยื่น ที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 2,262,000 บาท ได้เพิ่มหลักทรัพย์เป็นที่ดินของครอบครัวของตนเองอีก 1 แปลง มูลค่า 1,500,000 บาท เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ประกันตัวเพื่อให้สมยศหลบหนี พร้อมชี้ว่าครอบครัวของตนเองมีหน้าที่การงานที่ชัดเจน ยืนยันว่าต้องการสู้คดีในประเทศไทย โดยหลักทรัพย์ที่ยื่นรวมเกือบสี่ล้านบาท ซึ่งมากกว่าคดีร้ายแรง ที่ใช้เพียง 1 ล้านบาทก็เพียงพอ
สุกัญญา กล่าวต่อว่า ทนายในประเทศ คือ วสันต์ พานิช ส่วนทนายในต่างประเทศ ได้รับการสนับสนุนจาก โรเบิร์ต อัมสเตอดัม ซึ่งกำลังประสานงานกับองค์กรสิทธิ ต้องการต่อสู้ว่าสิทธิในการแสดงความเห็นควรมีอยู่ ไม่เช่นนั้น นักข่าวหรือผู้ประกอบอาชีพใดๆ ก็มีสิทธิโดน 112 เหมือนกัน
ทั้งนี้ ตนเองและครอบครัว รวมถึงผู้ร่วมรณรงค์แคมเปญฟรีสมยศและปล่อยนักโทษการเมืองจัดทำแถลงการณ์ เพื่อเป็นหลักประกันต่อศาลว่าประชาชนในประเทศเห็นด้วยให้มีการปล่อยตัวสมยศ ตามสิทธิพลเมืองที่จะได้รับ และยินดีเป็นหลักประกันว่าสมยศจะไม่หลบหนี โดยได้ขอให้ผู้เข้าฟังร่วมลงรายชื่อด้วย
วสันต์ พานิช ทนายความของสมยศตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังมีการฟ้องคดีและนำสืบ ในบทความแรก มีการสืบโดยให้นักศึกษานิติศาสตร์ มธ. ซึ่งฝึกงานที่ดีเอสไอ มาอ่านบทความและบอกว่าเข้าใจว่าอย่างไร ไม่แน่ใจว่านักศึกษาจะต้องมีความเห็นเหมือนกับดีเอสไอหรือไม่ ถามว่า ทำไมไม่เอานักศึกษาหรือคนทั่วไปมาอ่านว่ามีความเห็นอย่างไร นอกจากนั้นก็เป็นทหารที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกมาให้ความเห็น และที่สุดแล้ว ศาลพิพากษาลงโทษ จำคุก 10 ปี จากการเป็นผู้จัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร
วสันต์ ชี้ว่า ในอดีต เมื่อจะฟ้องหนังสือพิมพ์ลงข่าวหมิ่นประมาท ต้องฟ้อง บก. ที่เป็นผู้เผยแพร่ ให้ร่วมรับผิด ตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายในยุคเผด็จการ แต่ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา ไม่อนุญาตให้มีการสั่งปิดโรงพิมพ์ และต่อมา พ.ร.บ.การพิมพ์ ดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติว่าการจะลงโทษผู้ใด ต้องมีกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติไว้เป็นความผิดด้วย เมื่อ พ.ร.บ.การพิมพ์ยกเลิกแล้ว จึงไม่มีกฎหมายที่จะลงโทษได้
ถ้าจะรับผิดในฐานะบรรณาธิการ แปลว่าสมยศจะต้องรู้เนื้อหาในหนังสือล่วงหน้า แต่พยานโจทก์ที่สืบมาส่วนใหญ่ยืนยันว่า พอหนังสือออกรายปักษ์ นักเขียนมักจะส่งล่วงหน้า 1-2 วันก่อนส่งโรงพิมพ์ ถามว่าบรรณาธิการจะมีเวลาตรวจหรือไม่ อย่างเก่งฝ่ายพิสูจน์อักษรก็อาจได้ตรวจทาน ประกอบกับผู้ใช้นามปากกา "จิตพลจันทร์" เขียนเป็นประจำ จาก 21 ฉบับ เขียนมาแล้ว 15 ฉบับ โดยเจ้าของโรงพิมพ์ พยานโจทก์ยังบอกว่า แม้รายได้ดี แต่พิมพ์ไม่ทัน เพราะต้นฉบับมาช้ามาก สุดท้ายจึงต้องไม่รับพิมพ์ ดังนั้น จะเห็นว่าโอกาสที่บรรณาธิการจะอ่านตรวจก่อนจึงไม่มี ถามว่า สมยศในฐานะบรรณาธิการ ซึ่งจะมีความผิดต่อเมื่อต้องมีกฎหมายกำหนดหรือต้องรู้ จำเป็นต้องรับผิดด้วยหรือ นี่คือประเด็นที่อุทธรณ์ คือ คำพิพากษาต้องยืนด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีกฎหมายบอกว่าผิด จะลงโทษไม่ได้
ทั้งนี้ ในการยื่นขอประกันตัว ซึ่งถูกปฏิเสธมาตลอดด้วยเหตุผลว่าสมยศมีพฤติกรรมจะหลบหนีนั้น ชี้ว่า หลังมีหมายจับเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2554 สมยศได้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. และกลับมาวันที่ 21 ก.พ. เช่นนี้จะอ้างว่ามีพฤติกรรมหลบหนีได้หรือไม่
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น