ตั้งวงรำพันกับแอดมินเพจ ‘ซดเหล้าเข้าพรรษา’ ทำไมต้องสู้เพื่อ ‘สิทธิแห่งการเมา’
โดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย สัมภาษณ์
“เราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา” รำพันจากแอดมินเพจ‘ซดเหล้าเข้าพรรษา’ ชวนตั้งวงฟังทัศนะกับเทศกาลเข้าพรรษางดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบที่จะประกาศให้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเป็นช่วงกิจกรรม “งดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง” ตามที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติเสนอ
โดยพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ได้กำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา ยกเว้นการขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม” เพื่อสนับสนุนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย จากยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ
อย่างไรก็ตามล่าสุดนาทีแรกของวันที่ 10 ก.ค. ในโซเชียลเน็ตเวิคได้มีการตั้งเพจชื่อ “ซดเหล้าเข้าพรรษา” ขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การรณรงค์ “เทศกาลเข้าพรรษางดดื่มสุราแห่งชาติ ทำความดีถวายในหลวง” ไว้อย่างน่าสนใจว่า
1. การดื่มสุรามีผลร้ายต่อสุขภาพจริง แต่นั่นเป็นเรื่องของปัจเจกของใครของมัน
2. การดื่มสุรา มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง เช่น อุบัติเหตุ หรือสุขภาพที่เสื่อมโทรมของประชากรก็ทำให้ประเทศอ่อนแอ --- แต่รัฐก็ควบคุมการบริโภคผ่าน "ภาษีบาป" ของสินค้าพวกนี้ไปแล้ว รัฐได้เงินจากผู้บริโภคไปมหาศาลในแต่ละปี
3. การควบคุมการบริโภคสุราเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่สิ่งที่ไม่ปกติในประเทศไทยคือการควบคุมโดยการอ้าง "ศาสนา" ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการของสังคมโดยรวมแต่อย่างใด
ดังนั้นการต่อต้านประเด็นเรื่องสุรา จึงเท่ากับการต่อต้านการเป็น "รัฐศาสนาพุทธ" ของประเทศไทยนั่นเอง ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ศาสนาพุทธ ขอสิทธิให้คนอื่นได้อยู่บ้าง....จน ทราย อินทิรา เจริญปุระ ในชื่อเฟซบุ๊ก “Itr Charoenpura” นักแสดง คอลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์แนะนำเพจนี้จากหลักการ 3 ข้อข้างต้นด้วยว่า “เชิญท่านพิจารณา ถ้าเห็นด้วยตามหลักการนี้ก็ตามไปไลค์เพจ หากไม่เห็นด้วยต่อหลักการ โปรดทำเพจต่อต้านอย่างสงบ”
ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้มีโอกาสตั้งวงพูดคุยกับแอดมินเพจซดเหล้าเข้า พรรษา เพื่อทำความเข้าใจแนวคิด พร้อมทั้งเป็นช่องทางในนำเสนอมุมมองที่แตกต่างจากรัฐกรณีการรณรงค์งดเหล่าใน ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาดังกล่าว
0000
แอดมินซดเหล้าฯ : แอดมินมีหลายท่านช่วยงานกันครับ เพราะเราอยากให้เพจมันหลากหลาย มีทั้งสาระ เฮฮา พูดเรื่องเหล้า เบียร์ ไวน์ พูดเรื่องการไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐศาสนา เราเลยให้คนมาช่วยทำเพจกันเยอะ และจะพยายามเพิ่มจำนวนแอดมินให้มากขึ้นเรื่อยๆต่อไป
“..รัฐนำเอา “ศาสนา” ใหญ่ของรัฐ มาใช้ในการ “ควบคุม” พฤติกรรมของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็น “รัฐสมัยใหม่” เพราะมันจะเปิดโอกาสให้มีการ “ละเมิดสิทธิผู้อื่น” ในนามศาสนาได้อีกมาก..” - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ปัจจุบันปัญหาแอลกอฮอล์นั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาสังคม ความรุนแรงในครอบครัว และก่อให้เกิดโรคภัยร้ายแรงกว่า 60 ชนิด มีการสรุปการใช้จ่ายในการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น มีความรุนแรง มีปัญหาอาชญากรรมจากแอลกอฮอล์ถึง 1,242 ราย หรือคิดเป็น 23.6% จากการถูกทำร้ายโดยรวม ซึ่งการก่ออาชญากรรมกว่าครึ่งนั้นมีการดื่มสุราก่อนกระทำความผิดด้วย รวมทั้งเพจเองก็บอกว่า “การดื่มสุรา มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง..” แต่ทำไมไม่เห็นด้วยกับการใช่ช่วงเวลานี้ในการลดผลร้ายต่อสังคมนั้น
อย่างที่กล่าวไปแล้ว คือไม่มีใครตะแบงว่าการดื่มสุราไม่มีผลเสีย เราทราบดีว่าการดื่มสุรามีผลเสีย โดยเฉพาะถ้าดื่มปริมาณมากๆ แต่ก็เหมือนหลายอย่างในชีวิตของมนุษย์ครับ ที่มีผลเสีย และเสียมากหากบริโภคมากเกินไป เช่น กินแฮมเบอเกอร์ทุกวันจำนวนมาก ก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ แต่มนุษย์ก็ยังเลือกจะทำมันบ้าง สุราก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น
แล้วทำไมไม่เห็นด้วยกับการใช้ช่วงเวลานี้? เพราะมันเท่ากับว่า รัฐนำเอา “ศาสนา” ใหญ่ของรัฐ มาใช้ในการ “ควบคุม” พฤติกรรมของพลเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเป็น “รัฐสมัยใหม่” เพราะมันจะเปิดโอกาสให้มีการ “ละเมิดสิทธิผู้อื่น” ในนามศาสนาได้อีกมาก
หรือคิดด้วยฐานกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครอง การที่รัฐจะจำกัดสิทธิของประชาชนได้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ก่อประโยชน์แก่รัฐหรือสังคม อย่างที่เราเรียกว่า ประโยชน์สาธารณะ แต่เรื่องนี้ แม้ “ผล” ของมันอาจจะก่อประโยชน์สาธารณะคือการจำกัดปริมาณผู้ดื่มสุรา แต่ “จุดประสงค์แรก” ของมันผมว่าไม่ใช่ เหตุผลของมันไม่ได้เอาเรื่องความปลอดภัยหรือประโยชน์สาธารณมาจับ แต่เป็นเหมือนการมุ่งให้ผู้คุณบำเพ็ญบุญในศาสนาหนึ่งมากกว่า
“..เราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา..” - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวการที่เพจบอกว่า “การควบคุมการบริโภคสุราเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่สิ่งที่ไม่ปกติในประเทศไทยคือการควบคุมโดยการอ้าง "ศาสนา" ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการของสังคมโดยรวมแต่อย่างใด” นั้น อยากให้ลองยกตัวอย่างมาตรการสวัสดิการทางสังคมในการควบคุมการบริโภคสุราที่ เป็นรูปธรรมว่ามีอะไรบ้าง รวมทั้งรัฐควรอยู่จุดไหนกับเรื่องการบริโภคสุราของประชาชน
สุราเป็นสินค้าสีเทาอ่อนไหวในทุกสังคม ในสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีช่วงห้ามขายเหล้าโดยสิ้นเชิง (Prohibition) ที่รัฐเอาหลักคิดทางศาสนาสุดโต่งมาเป็นแนวนโยบาย พวกเขาแก้รัฐธรรมนูญห้ามขาย ผลิต จัดส่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั่วประเทศ สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจใต้ดินขยายตัวมหาศาล เกิดระบบมาเฟีย ผู้คนดื่มเหล้าด้อยคุณภาพ ต้องหลบๆซ่อนๆ เดือดร้อนกันไปทั่ว จนกระทั่งผู้นำการเคลื่อนไหวหลายคนออกมายอมรับว่าการห้ามขายเหล้านั้นไม่ เวิร์ก เสียมากกว่าได้ สุดท้ายก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้กลับมาขายได้อีก
แต่ละสังคมจึงมีการควบคุมการบริโภคสุราที่แตกต่างกันไป เข้มงวดบ้าง ผ่อนปรนบ้าง ซึ่งเส้นแบ่งนั้นสังคมก็ต้องถกเถียงกันเอาเอง และเราไม่ได้ต่อต้านการควบคุมการบริโภคสุรา สิ่งที่เราต่อต้านคือการใช้อำนาจรัฐจากฐานคิดทางศาสนา
ถ้ารัฐจริงใจจะควบคุมการบริโภคสุราจริงๆ ทำไมไม่ห้ามขายเหล้าเบียร์ใน 7-11 ไปเลยละครับ ประกาศไปเลย ทั่วประเทศ ทุกวัน ไม่ต้องเฉพาะวันหยุดในศาสนาพุทธด้วย หรือไม่ก็มีมาตรการมากมายที่เราสนับสนุนและคิดว่าควรบังคับใช้ให้ได้อย่าง จริงจัง เช่น เมาไม่ขับ ห้ามขายหรือบริการสุราในปั๊มน้ำมัน ตรวจสอบการดื่มสุราของผู้ขับขี่รถยนต์อย่างจริงจังเข้มงวด หรือแม้แต่การห้ามหรือจำกัดโฆษณาที่ยังเทาๆ แต่อย่างน้อย มันก็มีการวิจัยที่เป็นรูปธรรมว่าโฆษณาสร้างนักดื่มหน้าใหม่ได้จริง หรือมาตรการทางอ้อมอื่นๆ เช่น ขึ้นภาษีสุรา เพื่อลดอำนาจซื้อ
เหตุผลเดียวของรัฐในการจำกัดการบริโภคสุรา ต้องเป็นเรื่องของความปลอดภัยสาธารณะและระบบสุขภาพโดยรวมของสังคมเท่านั้น ไม่ใช่การใช้ “ศาสนา” เป็นเป้าหมายหลักในโครงการ “ลดเหล้าเข้าพรรษา”
รัฐควรอยู่จุดไหนกับเรื่องการบริโภคสุราของประชาชน? เราเห็นว่ารัฐสามารถแทรกแซงเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคสุราที่รบกวนต่อสังคมหรือ เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น การดื่มสุราในที่สาธารณะ การเมาแล้วขับ การกำหนดมาตรการทางกฎหมายหรือการดำเนินนโยบายของรัฐควรอยู่ในกรอบนี้เท่า นั้น รัฐ “ไม่มีสิทธิ” บังคับให้คนเป็นคนดี
ทำไมคิดว่าเรื่องการดืมสุรา “เป็นเรื่องของปัจเจกของใครของมัน” ทั้งๆที่เพจเองก็มองว่า การดื่มสุรามีผลร้ายต่อสุขภาพ และ มีผลร้ายต่อสังคมโดยรวมจริง
“เราเชื่อว่ามนุษย์ที่โตแล้วคิดเองเป็น เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทุกคน เราไม่เชื่อว่ามนุษย์หรือพลเมืองของรัฐต้องถูกกำกับบังคับเหมือนเด็กทารก ถ้าเราสามารถออกเสียงเลือกตั้งปกครองตนเองได้ในประเทศนี้ แล้วทำไมเราจะตัดสินใจเองไม่ได้ว่าวันไหนควรดื่มเหล้า” - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวในโลกนี้มีหลายสิ่งมากมายที่มันส่งผลร้ายต่อสุขภาพแต่ก็อาจมีผลดีต่อคนๆ นั้นในด้านอื่นๆ เราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีความสามารถในการ “ชั่งน้ำหนัก” เอาเองได้ว่าจะยอมรับความรื่นรมย์นั้นแลกกับผลเสียทั้งหลายหรือไม่ คุณเพลินเย็นนี้ เช้ามาคุณปวดหัว คุณยอมจ่ายไหม ถ้าเจ้าตัวคนดื่มตัดสินใจได้ ก็จบ ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มแล้วรบกวนสังคม ซึ่งตอบไปเยอะแล้วข้างต้น
“รัฐต้องสร้างสภาพ “ไม่คุ้ม” ในการละเมิดกติกาการดื่มสุรา ให้เห็นว่า ถ้ากินเหล้าขับรถ ผลได้ไม่คุ้มเสีย เช่น อาจจะห้ามขับรถไปเลยปีหนึ่ง แค่ไปดื่มคืนเดียว ขับรถไม่ได้ทั้งปี คุณอย่าเสี่ยงเลยมันไม่คุ้ม นี่คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า นิติเศรษฐศาสตร์” - แอดมินเพจซดเหล้าเข้าพรรษา กล่าวทำไมถึงมองว่า สิทธิในการดืมสุรา ไม่เกี่ยวกับ การเมาแล้วขับหรือล่วงละเมิดบุคคลอื่นในสังคม / แล้วหากดืมสุราแล้วจะมีมาตราการในการป้องกันไม่ให้คนไปขับรถหรือล่วงละเมิด คนอื่นในสังคมได้อย่างไรบ้าง
การใช้บังคับกฎหมายที่ป้องกันการละเมิดสิทธิดังกล่าวอย่างเข้มงวด เมาแล้วขับ จับดำเนินคดีจริงจัง ผมเห็นบางคนเป็นข้าราชการมีตำแหน่งพอสมควร ดื่มแล้วขับ ตำรวจเรียก แสดงตำแหน่ง ตำรวจปล่อย ไม่ต้องเป่า อย่างนี้ก็ไม่ไหว รวมทั้งการลงโทษอย่างจริงจังหากการดื่มสุราไปก่อเหตุละเมิดต่อผู้อื่น
รัฐต้องสร้างสภาพ “ไม่คุ้ม” ในการละเมิดกติกาการดื่มสุรา ให้เห็นว่า ถ้ากินเหล้าขับรถ ผลได้ไม่คุ้มเสีย เช่น อาจจะห้ามขับรถไปเลยปีหนึ่ง แค่ไปดื่มคืนเดียว ขับรถไม่ได้ทั้งปี คุณอย่าเสี่ยงเลยมันไม่คุ้ม นี่คือสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า นิติเศรษฐศาสตร์
เราอยากเรียกร้องให้บริหารจัดการประเด็นเรื่องสุราแบบ “รัฐฆราวาส” (Secular State) นั่นคือจัดการกันไปตามกฎหมาย ยึดผลประโยชน์สังคมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ยึดเรื่องบาปบุญคุณโทษ เอาความเชื่อทางศาสนานำ พอถูกจับก็เอาเรื่องเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ “ช่วยๆกันหน่อย” อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง
"In wine there is wisdom, in beer there is freedom, in water there is bacteria."
เป็นคำพูดของมิตรสหายท่านหนึ่งซึ่งแอดมินก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ขอเอามาขอบคุณทุกคนที่มาช่วยแบ่งปัน wisdom และ freedom กันครับ (แอดมินโพสต์ในเพจฯ)
เพราะศาสนาคือความชอบ ความเชื่อ ความนิยมส่วนตน ถ้าเราให้รัฐใช้อำนาจโดยเอาฐานของศาสนาเป็นที่ตั้ง แล้วสิทธิของคนในศาสนาอื่นละจะว่าอย่างไร
ชาวคริสต์อยากดื่มไวน์ แต่บังเอิญเป็นวันพระในศาสนาพุทธเลยหาซื้อไม่ได้ อย่างนี้มันก็ไปละเมิดสิทธิเขา แล้วไหนจะคนที่ไม่นับถือศาสนาใดๆอีกล่ะ เราจะไปละเมิดสิทธิในการดื่มของเขาได้อย่างไร
แล้วถ้าเรายอมให้รัฐเอาฐานคิดทางศาสนามาใช้ในการปกครองประเทศ มันก็จะนำมาสู่หลักคิดในเรื่องอื่นๆอีกมากมายซึ่งหลายอย่างมันอาจไม่สอด คล้องกับการเป็นรัฐสมัยใหม่ เอาง่ายๆ สมมติว่าถ้าใช้ตรรกะเดียวกันกับเรื่องเหล้า แล้วรัฐไทยเขียนในรัฐธรรมนูญว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศีลข้อ 1 เราจะไม่ฆ่าสัตว์ ห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ ปิดกิจการฟาร์มหมู ไก่ เนื้อ ไปเลยทั่วประเทศ อย่างนี้คิดว่ายอมได้ไหม เป็นเหตุเป็นผลหรือเปล่า
ดังนั้นจึงขอพูดซ้ำๆอีกทีว่าเราไม่ได้ปัญหากับการควบคุมการดื่มสุรา เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามขายในปั้มน้ำมัน และไม่มีปัญหากับมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนดื่มสุรา เช่น เมาแล้วขับ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการอ้างศาสนา มาดำเนินนโยบายของรัฐ
การบอกว่า “ไม่เชื่อว่ารัฐไทยจริงใจกับเรื่องสุขภาพหรือความปลอดภัยของพลเมือง” มีประเด็นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจไหม และมีข้อเสนอเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพลเรือนที่เสนอว่ารัฐครดำเนินการ แต่กลับไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่มีประสิทธิภาพไหม
อย่างง่ายที่สุดคือเอาแค่มาตรการทุกอย่างที่มีวันนี้ ลองบังคับใช้ให้ได้อย่างจริงจังก่อนดีไหม สมัย “จัดระเบียบสังคม” เราเห็นผับบาร์ปิดตีหนึ่งกันได้เป๊ะๆ แต่พอมาทุกวันนี้เราก็รู้ดีว่ามันเป็นอย่างไร แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่ารัฐไทยเอาจริงเอาจังห่วงใยสุขภาพคนไทย
เราอยู่ในประเทศที่เบียร์หนึ่งกระป๋องราคาเท่ากับก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม แถมหาซื้อได้ที่ 7-11 ทั่วประเทศ พอรัฐออกมาประกาศมาตรการห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันพระ ก็มี “ข้อยกเว้น” ว่าขายได้ในโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวใหญ่ๆ มันแปลว่าอะไร? แปลว่ารัฐก็ยังอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยว เงินจากธุรกิจบริการ รัฐยังต้องการเงินอยู่นะ รัฐยังต้องเกรงใจ “เจ้าสัว” กิจการเหล้าเบียร์อยู่นะ แล้วไหนละความจริงใจหรือข้ออ้างเรื่องสุขภาพของพลเมือง? คนไทยเดินไปกินเหล้าที่โรงแรมกันไม่ได้เลยงั้นเหรอ
แอดมินชอบกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อะไรมากที่สุด เพราะอะไร
ข้อนี้ตอบไม่ได้ครับ แอดมินเรามีหลายคน และมันเป็นเรื่องปัจเจกของแอดมินแต่ละท่าน (หัวเราะ) คงต้องสังเกตกันเอาเองในหน้าเพจว่าใครชอบแบบไหนน่ะครับ
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/07/47643
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น