หน้าเว็บ

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เหยื่อ วีรชน กับอุดมการณ์

เหยื่อ วีรชน กับอุดมการณ์


 
"การเข้าใจเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของวีรชนนักสู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ถูกปกปิดบิดเบือนไป ให้เป็นเพียงเหยื่อสังหาร และอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” ที่ เป็นกระแสในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น แม้แต่การลอบสังหารเลขาธิการพรรคสังคมนิยมเมื่อต้นปี 2519 ก็ถูกลืมเลือนจากสังคมไทยไปแล้ว" 

โดย ยังดี โดมพระจันทร์  

เรื่องราวสีเทาๆ กับความทรงจำในประวัติศาสตร์
 
การจัดงานรำลึกถึงวีรชนกรณีกวางจูที่เกาหลีใต้ ในเดือนพฤษภาคมทุกปีมีการจัดงานรำลึกถึงวีรชน เพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์เหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเมืองกวางจู กับเผด็จการทหาร(Gwangju People Uprising)

ปูมหลังคือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 หลังจากประธานาธิบดี ชอนดูฮวน ขึ้นสู่อำนาจได้จับกุมนักการเมืองหลายคน นักศึกษามหาวิทยาลัยชนนัมจึงจัดชุมนุมคัดค้านและถูกปราบปรามโดยกำลังติด อาวุธของรัฐ ทำให้ประชาชนกวางจูนับแสนโกรธแค้น เข้ายึดอาวุธจากสถานีตำรวจท้องถิ่น จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับกำลังทหารทั้งทางบกและทางอากาศของรัฐบาล  ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตราว 207 คน และสูญหายกว่า 900 คน  เหตุการณ์ผ่านมา 32 ปี ที่อนุสรณ์วีรชนกวางจู จะมีการประกอบพิธีระลึก โดยนายกรัฐมนตรีมาร่วมงาน รวมทั้งนักการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และญาติวีรชนเข้าร่วม ขณะที่กลางเมืองกวางจู มีการปิดถนนสายร่วมงานรำลึกกันนับหมื่นคน

สิ่งที่น่าคิดซึ่งสหายจากกลุ่ม All Together ซึ่งเป็นกลุ่มก้าวหน้าตั้งข้อสังเกตคือ ยุคใดที่รัฐบาลเป็นประชาธิปไตย เนื้อหาการจัดกิจกรรมรำลึกจะเน้นถึงวีรชน และอุดมการณ์ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ แต่หากยุคใดรัฐบาลเป็นแนวปฏิรูป หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็จะเรียกผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ว่าเป็น “เหยื่อ” ของความรุนแรง

รูปธรรมก็คือ การอธิบายถึงเหตุการณ์โดยไม่ประณามรัฐบาลและกลุ่มนายทหารที่ร่วมมือกันก่อ อาชญากรรม โดยเน้นภาพเหยื่อผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงแทน เช่น เหยื่อเสียชีวิตในบ้านขณะนั่งกินข้าว หรือไปซื้อของ เสียชิวิตจากเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เข้าร่วมจับอาวุธต่อสู้ หรือกลุ่มนักศึกษาที่มีองค์กรจัดตั้ง เป็นต้น  การเลือกที่จะเสนอ “ความเป็นเหยื่อ” สร้างภาพ และเรื่องราวสีเทาๆ เหล่านี้เป็นการจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์หรือไม่???


จาก 6 ตุลา 2519 เราเคยมีรัฐบาลของประชาชนหรือไม่??? 

ขณะที่เราเห็นใจเหยื่อ เราก็ต้องไม่ลืมวีรชน และอุดมการณ์ของเขา เพราะมิเช่นนั้นพวกนักบิดเบือนประวัติศาสตร์ก็สามารถจะสร้างเรื่องราว และชุดความคิดอื่นเข้ามาแทนที่
หันมามองสังคมไทย อาชญากรรมรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในความเห็นของนักวิชาการหลายคน เรื่องของเหตุการณ์นองเลือดไม่มีอะไรลึกลับ และทุกวันนี้ถึงแม้ว่าเราจะขาดข้อมูลบางประการ โดยเฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐว่าใครสั่ง หน่วยอะไรวางแผน และปฏิบัติงานอย่างไร แต่ข้อมูลจากสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ตลอดจนบทความในยุคต่อมา รวมกับความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องก็สามารถประกอบเป็นภาพรวม ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ในที่สุดคำถามที่ว่าใครสั่งฆ่าประชาชนก็ยังไม่มีคำตอบ




ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เสนอเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีประวัติศาสตร์สาธารณะของเหตุการณ์นี้ ว่าฝ่ายที่ได้รับ “ชัยชนะ” ในวันนั้นเป็นฝ่ายที่มีส่วนโดยตรงหรือทางอ้อมในการปราบปราม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอำนาจและอิทธิพลในสังคมไทย ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สรุปว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ซึ่งลักษณะนี้ต่างกับประวัติศาสตร์ที่มีความเจ็บปวดและบาดแผลในประเทศอื่น บางประเทศที่ได้รับการชำระไปแล้ว เนื่องจากการชำระดังกล่าวส่งเสริมอุดมการณ์และอำนาจของรัฐปัจจุบันในประเทศ นั้นๆ  ที่ต้องขีดเส้นใต้เพราะ เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ผ่านมากว่า 35 ปี เราเคยมีรัฐบาลของประชาชนจริงหรือ???

การปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” จาก 6 ตุลาทำให้อุดมการณ์พร่าเลือน
   
การเข้าใจเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของวีรชนนักสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ถูกปกปิดบิดเบือนไป ให้เป็นเพียงเหยื่อสังหาร และอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะการปฏิเสธ “แนวทางสังคมนิยม” ที่เป็นกระแสในหมู่คนหนุ่มสาวขณะนั้น แม้แต่การลอบสังหารเลขาธิการพรรคสังคมนิยมเมื่อต้นปี 2519 ก็ถูกลืมเลือนจากสังคมไทยไปแล้ว 

ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ให้ข้อสรุปว่า  6 ตุลา เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ยากที่จะมีผู้ร้ายฝ่ายเดียวที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นผู้ร้าย ไม่เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 ที่สังคมโดยรวมยอมสรุปว่าเป็นเพราะความผิดของเผด็จการทหาร ดังนั้น 6 ตุลา จึงถูกทำให้ “ลืม” มากกว่าการจดจำ

เวลาผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยนจากการมองว่านักศึกษาเป็นผู้กระทำผิด มาเป็นการมองนักศึกษาว่าเป็น “เหยื่อ” ที่น่าเห็นใจ

แต่กระแสหลักในสังคมกำหนดเงื่อนไขในการ “ให้อภัย” นักศึกษาว่าจะต้องมีการเลิกตั้งข้อสงสัยต่างๆ พร้อมกันไป เพื่อสิ่งที่ ดร.ธงชัย เรียกว่า “การหุบปากเหยื่อเพื่อสมานฉันท์สังคม” เมื่อ นำมาเทียบกับเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 แล้ว การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพยายามเสนอการปรองดอง น่าจะกล่าวได้ว่าเป็นการหุบปากเหยื่อเช่นกัน


ขบวนการคนเสื้อแดง และผู้รักประชาธิปไตยคงต้องสำรวจตรวจสอบ และร่วมกันพิจารณาอย่างจริงจังว่า เราจักสืบทอด ความเป็นเหยื่อ เชิดชูวีรชน หรือ ยึดถืออุดมการณ์??? จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้อย่างไร จะสามารถจดจำความจริงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ความจริงไม่ใช่เพียงจำนวนกระสุนสังหาร จำนวนศพ และการลำดับเหตุการณ์ แต่ความจริงของไพร่กับอำมาตย์ อุดมการณ์ที่เราหวงแหน    ความขัดแย้งทางชนชั้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ อาชญากรรมรัฐที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ อย่าลืม!!

(ข้อมูลจากหนังสือ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง 6 ตุลาคม 2519” เว็บไซต์ www.2519.net) 



(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/10/blog-post_5.html  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น