หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

สาระ+ภาพ: ประเทศที่มีรัฐประหารหลังปี 49 - ตอนนี้อยู่ตรงไหนกัน?

สาระ+ภาพ: ประเทศที่มีรัฐประหารหลังปี 49 - ตอนนี้อยู่ตรงไหนกัน?

 

ดูภาพขนาดเต็มได้ที่นี่ 


19.09.49 ไทย
ชื่อประเทศ ราชอาณาจักรไทย
จำนวนครั้งของการรัฐประหาร 12 ครั้ง
รัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549
ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
สถานะปัจจุบัน มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง และมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้สมัยรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตามก็เผชิญการรัฐประหารมาแล้ว 12 ครั้ง บังคับใช้รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ

การรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ "คปค." มีหัวหน้าคณะคือ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ทำการรัฐประหารขับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ลงจากอำนาจ โดยขณะนั้นทักษิณอยู่ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเมื่อต้นปี 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศยุบสภาเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และจัดการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ยอมร่วม

ต่อมา 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ ขณะที่รัฐบาลรักษาการในเวลานั้นได้ประกาศจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ มีกำหนดวันที่ 15 ตุลาคม 2549 อย่างไรก็ตามได้เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อนในวันที่ 19 กันยายน 2549

หลังทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แทนรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิก มีการตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่ถูกยกเลิกไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 และมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคณะรัฐประหารได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. มีหัวหน้า คปค. เป็นประธาน คมช.

ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ได้ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ อีก 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี


การลงประชามติ รธน. การเลือกตั้ง และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ในขณะที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 49 จังหวัด มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 14.7 ล้านคะแนน ไม่เห็นชอบ 10.7 ล้านคะแนน โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีผลนิรโทษกรรมและคุ้มครองการกระทำของคณะรัฐประหารและเหตุการณ์ที่เกี่ยว ข้องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

หลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้ ต่อมารัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550 โดยผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ซึ่งเกิดจากการรวมกันของอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย ที่รอดมาจากการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 233 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 165 ที่นั่ง โดยพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาลผสม มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาตินำโดย พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ได้แถลงข่าวจบภารกิจเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 โดยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 คมช.จึงขอจบภารกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้คณะรัฐประหารจะยุติบทบาทไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 และกลไกที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้การเมืองยังคงไม่มีเสถียรภาพ โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาชุมนุมยืดเยื้อในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวหาว่าเป็น "รัฐบาลนอมินี" ของทักษิณ ชินวัตร โดยพันธมิตรได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 และมีความพยายามยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วยแต่ไม่สำเร็จ

ในวันที่ 9 กันยายน 2551 นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะได้ตัดสินให้การเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุด เนื่องจากไปเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ทำให้รัฐสภามีการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกรอบ โดยได้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปชุมนุมในอาคารของท่าอากาศ ดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 และในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคของทั้งสามพรรค มีกำหนด 5 ปี

และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 รวมเวลาชุมนุมทั้งสิ้น 193 วัน

โดยหลังการยุบพรรค สมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ได้ไปอยู่ในพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคพลังประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่นำโดย เนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มที่อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากการยุบพรรคเมื่อปี 2550 ได้ไปตั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รวบรวมเสียง ส.ส. ในสภา โดยเฉพาะการรวมเสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มาจาก ส.ส.เดิมของพรรคชาติไทย และพรรคภูมิใจ แล้วตั้งรัฐบาลผสมแทนพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้การเมืองไทยตลอดรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ถูกประท้วงต่อต้านโดยแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่พัฒนามาจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และกลุ่มต้านรัฐประหารในปี 2549 โดย นปช. มีการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใน กทม. ซึ่งจบลงด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีการสลายการชุมนุม เช่น การสลายการชุมนุมในวันที่ 13-14 เมษายนปี 2552 และการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งการสลายการชุมนุมในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเกิดจลาจลเผาทรัพย์สินและอาคารทั้งในกรุงเทพมหานคร และในบางจังหวัดเพื่อตอบโต้การสลายการชุมนุมด้วย

ในปี 2554 หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยนำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งโดยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ ส.ส. 159 ที่นั่ง

โดยปัจจุบันในรัฐสภามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบรายมาตรา โดยเป็นการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. โดยมีการคัดค้านมาจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่ม ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง

อ่านประกอบ
2006 Thai coup d'état http://en.wikipedia.org/wiki/2006_Thai_coup_d'%C3%A9tat
Thai constitutional referendum, 2007 http://en.wikipedia.org/wiki/Thai_constitutional_referendum,_2007
Thai general election, 2011 http://en.wikipedia.org/wiki/Thai_general_election,_2011

(อ่านต่อ)
http://www.prachatai.com/journal/2013/09/48868

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น