หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“วรเจตน์” ผ่าร่างนิรโทษฯ ชี้ขัดหลักการวาระแรก - ขัดมาตรา 30

“วรเจตน์” ผ่าร่างนิรโทษฯ ชี้ขัดหลักการวาระแรก - ขัดมาตรา 30


   
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
   
เมื่อ วันที่ 28 ต.ค. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เวคอัพ ไทยแลนด์ ทางช่องวอยซ์ทีวี ถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่กรรมาธิการ(กมธ.)เสียงข้างมาก มีมติเปลี่ยนแปลงตามคำแปรญัตติของนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ว่า หลักในการตรากฎหมาย หากสภาฯ มีมติรับหลักการในวาระ 1 ซึ่งในชั้น กมธ.ก่อนเข้าสู่วาระ 2 มีสิทธิแก้ไขได้แต่ต้องไม่เกินกว่าหลักการที่สภาฯ มีมติรับหลักการไว้ในวาระ 1 การที่กมธ.แก้ไขเกินกว่าหลักการเช่นนี้ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในแง่ของกระบวนการตรากฎหมาย การที่กมธ.อ้างว่าร่างเดิมจะถูกตีกลับเพราะขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 30 นั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีน้ำหนัก หรือไม่มีสาระใดๆ เลย เพราะเดิมทีก็นิรโทษกรรมให้กับฝ่ายประชาชนทุกสีอยู่แล้ว ไม่ใช้เฉพาะสีใดสีหนึ่ง แต่ถ้าจะมีกรณีใดที่ขัดกับหลักความเสมอภาค คิดว่าการที่กมธ.เสียงข้างมากไประบุว่าไม่รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักความเสมอภาคแล้ว เพราะความผิดคดี 112 เป็นเหตุจูงใจที่มาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้นก็ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

”ตอนที่ร่างนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เข้าสภาฯ ผมยังคิดว่าเมื่อเข้าสู่ชั้น กมธ.ก็มีโอกาสที่จะสอดไส้ทหารและผู้สั่งการด้วย แต่ว่าร่างที่ผ่านกมธ.ซึ่งรวมถึงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณด้วย เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายมากทีเดียว เพราะการนำหลายเรื่องที่มีธรรมชาติของเรื่องไม่เหมือนกันมารวมไว้ด้วยกันแบบนี้ สุดท้ายจะทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากมาก เพราะหลักการเดิมเพียงแค่จะมุ่งนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ดังนั้น ก่อนเข้าสู่ชั้นกมธ. นิติราษฎร์ก็คุยกันว่าหากมีการแก้ไขเกินกว่าหลัก ก็คงต้องออกมาแสดงจุดยืนในทางกฎหมายออกไป ซึ่งตอนนี้เวลามาถึงแล้ว อีกทั้งร่างฉบับนี้มากกว่าที่คิด มีการรวมนิรโทษกรรมในเรื่องของ คตส. เพียงแต่ท่าทีที่แสดงออกคงทำในทางกฎหมาย เพราะเราเชี่ยวชาญทางกฎหมาย ส่วนในแง่การประเมินในทางการเมือง คงจะไม่ทำ โดยจะชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร แล้วการแก้ปัญหาไปสู่ทางที่ดีกว่า ถูกต้องเป็นอย่างไร” วรเจตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะนิติราษฎร์เตรียมแถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนที่มีต่อ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ....” ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการฯ และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 วันที่ 31 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น.ที่ห้อง 123 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


(ที่มา)
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1qazJOVEU0TlE9PQ%3D%3D&subcatid 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น