หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556
(ชื่อบทความเดิม: วิเคราะห์ปัญหาในการตีความและบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา : ศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556)
โดย อรชุน เจนธนุรวิทยา [นามปากกา]
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 โดยศาลฎีกาได้ยกเหตุแห่งการตีความหลายประการซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบบงาน ยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย ทั้งนี้ ด้วยความเคารพต่อศาล ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยเหตุผลหลายประการดังต่อไปนี้
ประการหนึ่ง ข้อความของจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อความบางส่วนดังนี้ “… เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่คิดว่าเราไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไปแล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับ ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านเมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้าง บางส่วนนะครับ บางส่วนยังมีอยู่บ้าง ก็คือ ความภาคภูมิใจในตัวผม คิดถึงทีไรเราก็มีความภาคภูมิใจตลอด” ผู้เขียนเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่น่าจะมีลักษณะเป็นการ “หมิ่นประมาท” องค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 เพราะจากบริบทของข้อความ มิได้มีแม้แต่ตอนหนึ่งตอนใดที่เป็นการ “ใส่ความ” <1> องค์รัชกาลที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจบริหารบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์ เป็นแต่เพียงการกล่าวเปรียบเทียบแก่ผู้ฟังโดยยกตัวอย่าง “ระบบการเมืองการปกครอง” ในสมัยนั้นซึ่งมีระบอบการปกครองที่แตกต่างจากสมัยปัจจุบันเท่านั้น ดังนี้ การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า “ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา …” จึงเป็นการวินิจฉัยที่นอกจากจะตีความหมายข้อความของจำเลยจนผิดเพี้ยนเกินเลย จากที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ยังเป็นการทำลายหลักวิชาองค์ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง อีกด้วย เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนย่อมมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข ทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและระบอบการปกครองในแต่ละยุคสมัย หาใช่สิ่งที่อาจอาศัยมาตรฐานความรับรู้ทั่วไปในสมัยปัจจุบันเข้าตัดสินความ ถูกต้องชอบธรรมได้ไม่ แม้ข้อความของจำเลยจะสื่อแสดงได้ว่าในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ยังมีการใช้ระบบทาสอยู่ในสังคมไทย ก็ไม่อาจฟังได้ว่าเป็นเพราะการปกครองที่ไม่ดีของพระองค์อันทำให้ประชาชนอาจ เสื่อมศรัทธาดังที่ศาลวินิจฉัย เนื่องเพราะระบบทาสมีใช้ในสังคมไทยสืบเนื่องมาแต่บุรพกาล หาใช่พระบรมราโชบายส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 ไม่ อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์ตามบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ ย่อมจะเห็นได้ว่าการดำรงคงอยู่ของระบบทาสในสังคมไทยสมัยนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระปรีชาสามารถในการปกครองบริหารบ้านเมืองของรัชกาล ที่ 4 ดังที่ศาลวินิจฉัยแต่ประการใด ด้วยเหตุผลดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ขาด “องค์ประกอบภายนอก” ของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ประการสอง สืบเนื่องจากรายละเอียดข้างต้นที่ผู้เขียนเห็นว่า ข้อความของจำเลยไม่มีลักษณะเป็นการใส่ความองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 4 โดยประการที่น่าจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ข้อความของจำเลยเพียงเปรียบเปรยถึง “ระบบการเมืองการปกครอง” ในรัชสมัยของพระองค์กับสมัยปัจจุบันเท่านั้น โดยหลัก “กรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา” (Acta exteriora indicant interiora secreta) ผู้เขียนจึงเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใส่ความหรือดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงขาด “องค์ประกอบภายใน” ของการกระทำความผิด
ประการสาม ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า “… บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ระบุว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ในขณะกระทำความ ผิดหรือไม่ และก็มิได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ที่ถูกกระทำจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยัง คงครองราชย์อยู่ …” อันพึงอนุมานได้ว่า ศาลตีความบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้มีผลคุ้มครองไปถึงบุรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะโดยพื้นฐานแห่งหลักวิชาทางอาญา การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดเพราะกฎหมายอาญามีสภาพบังคับที่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งในด้านชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียง แม้จะเป็นความจริงที่ว่าหลักการตีความกฎหมายอาญานั้น อนุญาตให้มีการ “ขยายความกฎหมาย” (Extensive interpretation) ได้ แต่ทั้งนี้ จะขยายความจนเกินขอบเขตหรือขัดแย้งกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้ โดยหลักการของกฎหมายอาญา บทบัญญัติต่าง ๆ มุ่งคุ้มครองเฉพาะกับการกระทำต่อบุคคลที่ยังมีชีวิต ในกรณีที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองบุคคลเนื่องจากการกระทำผิดต่อผู้ตาย ก็จะต้องมีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง เช่น บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการบัญญัติกฎหมายอาญาที่ต้องมีความชัดเจนแน่นอนปราศจากความ คลุมเครือ (Reasonably definite) นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครอง “ฐานะของบุคคล” มิใช่บทบัญญัติที่คุ้มครอง “ตัวบุคคล” ซึ่งฐานะใด ๆ ของบุคคลจะเกิดมีขึ้นได้ บุคคลนั้นย่อมต้องมีสภาพบุคคลอยู่ด้วย ดังนั้น ผู้ปราศไร้ซึ่งสภาพบุคคลย่อมไม่อาจมีนิติฐานะใด ๆ ที่กฎหมายอาญาจะให้ความคุ้มครองโดยเฉพาะเจาะจง ด้วยเหตุนี้ การตีความถึงบุคคลผู้มีนิติฐานะตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง ซึ่งได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงต้องตีความว่าหมายถึงพระผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพหรือยังมีชีวิตอยู่ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ การตีความให้บทบัญญัติมาตรา 112 มีผลคุ้มครองไปถึงบุรพกษัตริย์ ยังมีปัญหาในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก เพราะหากใช้ตรรกะและบรรทัดฐานเดียวกันแล้ว จักกลายเป็นว่าบทบัญญัติมาตรานี้มีผลคุ้มครองไปถึงอดีตพระราชินี อดีตรัชทายาท และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทุกพระองค์หรือทุกคน แล้วแต่กรณี อีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะการหมิ่นประมาทบุคคลเหล่านั้นโดยเฉพาะบุคคลทางประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ ไปเสียนานแล้ว ย่อมไม่น่าจะเป็นความผิดอันร้ายแรงอันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งเป็นชื่อ “ลักษณะ” ที่หมวด 1 (มาตรา 107 ถึงมาตรา 112) อยู่ในบังคับ แต่ประการใด
ประการสี่ นอกจากข้อความตามย่อหน้าข้างต้น ศาลยังยกเหตุผลในการวินิจฉัยอีกด้วยว่า “… การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาทให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ …” ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา ผู้เขียนเห็นว่าการวินิจฉัยเช่นนี้ผิดหลักการตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญา อย่างชัดเจน โดยเหตุผลของศาลดูเสมือนเป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 327 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้เทียบเคียงเพียงบางส่วน ซึ่งหลักการพื้นฐานการใช้กฎหมายอาญาจะอาศัย “การเทียบเคียงกฎหมาย” (Analogy) ที่มีใจความใกล้เคียงมาลงโทษจำเลยไม่ได้ โดยกฎหมายสหรัฐอเมริกาถือว่า “การเทียบเคียงกฎหมาย” เพื่อลงโทษจำเลยในทางอาญาถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ “หลักศุภนิติกระบวน” (Due Process of Law) <2> เลยเสียทีเดียว ดังนี้ เมื่อบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามิได้บัญญัติถึงสาระสำคัญแห่งการกระทำ คือ การใส่ความบุรพกษัตริย์อันอาจเป็นเหตุให้กษัตริย์องค์ปัจจุบันเสียหาย จึงต้องถือว่าการกระทำดังกล่าวมิใช่องค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้ และจะอาศัยการเทียบเคียงกฎหมายอื่นเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะขัดกับหลักการตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญาดังที่ผู้เขียนได้เสนอแล้ว ข้างต้น
ประการห้า ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อีกทั้งไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปอีกด้วย เพราะบทบัญญัติมาตรา 327 คุ้มครองแต่เฉพาะ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตาย ที่อาจต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเนื่องมาจากการใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามเท่านั้น ไม่รวมถึงหลานหรือเหลนของผู้ตายด้วย ดังนั้น แม้หากจะถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการ “ใส่ความ” องค์รัชกาลที่ 4 บทบัญญัติมาตรา 327 แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็ยังไม่ครอบไปถึงการกระทำของจำเลย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวได้ เนื่องจากยังคง “ขาดองค์ประกอบภายนอก” ของฐานความผิดนั้นอยู่นั่นเอง
ประการหก ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา จากเหตุผลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนนำเสนอข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าจำเลยไม่ควรได้รับโทษในทางอาญา ทั้งนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายอาญาสากลที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษหากไม่มีกฎหมาย” (Nullum crimen nulla poena sine lege) ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำ นั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ดังนี้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด จำเลยจึงไม่สมควรต้องรับโทษทางอาญา
ท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ถูกยึดถือเป็นบรรทัดฐาน นอกจากจะเป็นการลงโทษทางอาญาแก่บุคคลซึ่งมิได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา อันจะก่อให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงต่อระบบงานยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย แล้ว ยังก่อให้เกิดความสับสนอย่างมากในวงการศึกษานิติศาสตร์ไทย อีกทั้งยังจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง ไทยอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะองค์ความรู้ที่ดีและเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ย่อมเกิดได้ด้วยการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์และอภิปรายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อแก้ไขปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคต หากสังคมเกิดความหวาดกลัวที่จะต้องประสบภัยจากบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ดังที่ศาลตีความไว้เช่นนี้ ย่อมเป็นการปิดกั้นหนทางเรียนรู้อย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการศึกษาไทยทั้งระบบ อันจะก่อให้เกิดผลเสียแก่อนาคตของชาติในระยะยาว
เชิงอรรถ
1.การใส่ความในทางอาญา
คือการกล่าวอ้างข้อความหรือข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจจะเป็นความ
จริงหรือความเท็จก็ได้
และการกล่าวอ้างนั้นน่าจะทำให้ผู้ถูกกล่าวอ้างเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น
หรือถูกเกลียดชัง
2.Bouie v. Columbia.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น