'เป่านกหวีด' บทความใน The Economist ฉบับที่ไม่วางจำหน่ายในไทย
บทความในอิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 16 พ.ย. ระบุว่ากลุ่ม “ชินวัตร”
อาจจะมั่นใจเกินไปว่าได้ความไว้วางใจจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมแล้ว
และทำเกินตัวเกินไปที่ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านรัฐสภา
แต่ก็ยากจะแพ้เลือกตั้ง
และสิ่งที่ฝ่ายต้านทักษิณกลัวที่สุดก็คือการเข้าหาราชสำนักของทักษิณนั่นเอง
ในรอบหลายปีมานี้ อิโคโนมิสต์หลายฉบับ ถูกงดจำหน่ายในประเทศไทย เช่นเมื่อปี 2554 อิโคโนมิสต์ ฉบับ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ไม่มีการวางจำหน่าย โดยสายส่งปฏิเสธนำเข้าและจัดส่งหนังสือ "เพราะมีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับประเทศไทย" โดยในเล่มมีรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยในกรณีการบังคับใช้กฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในหัวข้อ “When more is less. The increasing use of lèse-majesté laws serves no one” (เมื่อยิ่งมากก็ยิ่งน้อย การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่เพิ่มขึ้นไม่ควรมีใครถูกดำเนินคดี) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
หรือในปี 2553 ผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทย งดวางจำหน่ายอิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2553 ที่มีคำโปรยที่หน้าปกว่า “The battle for Thailand” โดยบริษัทเวิร์ล มีเดีย ผู้แทนจัดจำหน่ายในประเทศไทยระบุว่า ดิ อิโคโนมิสต์ตัดสินใจระงับการจัดจำหน่ายในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กล่าวว่าไม่มีคำสั่งห้ามการจัดจำหน่ายออกมาเป็นทางการ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) http://prachatai.com/journal/2010/03/28430
นอกจากนี้ในรอบปี 2551 - 2552 มีการงดวางจำหน่ายนิตยสารอิโคโนมิสต์ 4 ฉบับ ในจำนวนนี้มี 2 ครั้งที่เป็นการสั่งห้ามจำหน่ายจากตำรวจสันติบาล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
สำหรับรายละเอียดของบทความ "เป่านกหวีด" มีรายละเอียดบางส่วน ดังต่อไปนี้
000
Banyan, 16 พฤศจิกายน 2013
"อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร แพ้ศึกแต่กำลังจะชนะสงคราม"
ภาวะสงบศึกของการสู้รบบนท้องถนนในช่วงปี 2549-2553 ได้จบลงแล้ว ผู้ประท้วงได้กลับมาแน่นขนัดกรุงเทพฯ อีกครั้งพร้อมเสียงเป่านกหวีดที่แสบแก้วหู ในกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดชที่ประชาชนเคารพนับถือแต่ทรงประชวร ขบวนการที่ดูเหมือนจะสันติในช่วงต้นเดือนนี้ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย การถอยของเธอที่น่าจะช่วยได้บ้าง แต่ความแตกแยกทางการเมืองกลับยิ่งดูห่างไกลกว่าที่เคยเป็นมา และเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของไทยอีกด้วย
สาเหตุของรอยร้าวดังกล่าวก็ตรงไปตรงมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในชนบท มักเลือกตั้งรัฐบาลที่มีความภักดีต่อทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยระหว่างปี 2544-2549 ซึ่งผู้มีอำนาจ ทั้งชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ตุลาการ ทหาร ชนชั้นสูง และศาล ทนไม่ได้เสียเลย พวกเขาไล่ทักษิณออกไปด้วยการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เผชิญกับข้อหาคอร์รัปชั่นหากเขาเดินทางกลับประเทศ และบริหารประเทศด้วยการโทรศัพท์มาจากดูไบ ในปี 2550 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังเลือกตั้งรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของเขา และฝ่ายค้านก็หาวิธีตามกฎหมายเพื่อกำจัดรัฐบาลออกไปและตั้งรัฐบาลที่นำโดย พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือประชาธิปัตย์ และในปี 2554 พวกเขาก็ทำเหมือนเดิมอีกครั้ง ด้วยการเลือกน้องสาวของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ภาวะสงบศึกที่ตามมา แสดงให้เห็นถึงความยับยั้งชั่งใจจากทั้งสองฝ่าย ในท้ายที่สุด ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายชนนั้นนำจะเข้าใจเสียทีว่าพวกเขาจำเป็นต้องยอมรับกับ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์เองนั้น ในขณะที่ได้สร้างความฉันท์มิตรกับกองทัพและไม่แตะต้องอะไรที่จะกระทบ กระเทือนผลประโยชน์ ก็ได้ทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกบังคับใช้อย่างเข้มแข็งกว่าที่เคย เป็นมา
จากนั้น พี่น้องชินวัตรอาจจะมั่นใจเกินไปว่าพวกเขาได้ความไว้วางใจจากฝ่ายอนุรักษ์ นิยมแล้ว พวกเขาก็ทำเกินตัวไป ที่ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งผ่านรัฐสภา ซึ่งจะล้มล้างความผิดคดีคอร์รัปชั่นหลายพันคดี รวมถึงคดีที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายนี้นั่นก็คือคดีของทักษิณด้วย และการนิรโทษเหมาเข่งก็ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ รอดพ้นจากคดีสังหารที่พวกเขากำลังเผชิญจากเหตุการณ์การใช้กำลังสลายการ ชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน และทหารก็จะหลุุดพ้นจากการเกี่ยวข้องใดๆ เช่นเดียวกัน
ความไม่พอใจจากการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ทำให้ฝ่ายชนชั้นนำออกมาสู่การประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง บ้างก็ใส่เสื้อเหลืองแบบที่พวกเขาเคยใส่เมื่อครั้งก่อน แต่จากความผิดพลาดที่น่าประหลาดใจ การผ่านกฎหมายฉบับนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในตำแหน่งทางศีลธรรมที่เหนือ กว่าและทวีความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ใช้คำกล่าวว่า ทักษิณนั้นข้ามศพเพื่อที่จะกลับบ้าน พวกที่มองโลกในแง่ดีในพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะพอมองเห็นจุดจบของการครองอำนาจ ของทักษิณ และโอกาสในการกลับมาสู่อำนาจของประชาธิปัตย์ซึ่งบางคนมองว่าอำนาจนั้นเป็น สิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดด้วยซ้ำ
ซึ่งพวกเขาก็ได้ชัยชนะ ยิ่งลักษณ์สัญญาว่าจะไม่ผลักดันร่างดังกล่าวต่อหากว่าถูกปัดตกในชั้นวุฒิสภา ซึ่งเกือบครึ่งเป็น ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่าจากการเลือกตั้ง และส.ว. ทั้งหมด 141 คนโหวตคว่ำร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา ในวันเดียวกัน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งตัดสินข้อพิพาทระหว่างกัมพูชาเรื่องเขตแดน เรื่องเขาพระวิหารก็ได้ช่วยยิ่งลักษณ์ไว้ ฝ่ายค้านเองก็พยายามหยิบประเด็นนี้มาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่คำตัดสินก็ออกมาอย่างเป็นกลางและยากที่จะทำให้ถูกตีความว่าฝ่ายไทยขาย หน้า
ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงประท้วงต่อไป ด้วยเหตุผลว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังไม่ได้ตกไปเสียทีเดียว เพราะยิ่งลักษณ์ยังมีเวลาอีก 180 วันที่อาจจะละเมิดคำสัญญาและเสนอเข้าสู่สภาล่างใหม่อีกครั้ง ในขณะที่สุเทพและ ส.ส.ประชาธิปัตย์อีกแปดคนลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อนำการประท้วง พวกเขาประกาศให้มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศแบบเอเชียใต้เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไร อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดนั้น การประท้วงก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว หากแต่พวกแกนนำการชุมนุมต้องการที่จะล้มรัฐบาล
แต่ฝ่ายค้านของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องรู้ว่าเธอน่าจะชนะการเลือกตั้งอีก ครั้ง เสื้อแดงอาจจะไม่พอใจกับรัฐบาลที่ล้มเหลวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือการไม่สามารถนำผู้ที่รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมปี 2553 มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไปหา ทักษิณ เศรษฐีพันล้านเชื้อสายไทย-จีน นับว่าเป็นผู้นำที่แปลกสำหรับผู้คนที่ไม่ได้มีเชื้อสายจีนจากภาคอีสาน แต่พวกเขาชอบนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประชานิยม เช่น นโยบายจำนำข้าวทั้งในรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์โดยไอเอ็มเอฟ
ในสองย่อหน้าสุดท้าย อิโคโนมิสต์ฟันธงว่า หากทักษิณไม่มีทางที่จะแพ้จากการเลือกตั้ง กองทัพก็ไม่น่าจะทำการรัฐประหารอีกครั้ง เพราะการทำรัฐประหารจะต้องเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ในการลงพระปรมาภิไธย ขณะเดียวกัน วันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ก็จะทรงเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 86 แล้ว
ดิ อิโคโนมิสต์ยังได้กล่าวถึงเอกสารในวิกิลีกส์ที่เปิดผยบทสนทนาของทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทยในปี 2548 ที่ระบุถึงประเด็นผู้สืบสันตติวงศ์ และท่าทีของทักษิณต่อประเด็นดังกล่าว
ในย่อหน้าสุดท้าย อิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ทักษิณเองก็ต้องการการยอมรับจากพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับนักการเมืองคน อื่นๆ เช่นกัน คงไม่มีอะไรดีสำหรับทักษิณมากกว่าการพระราชทานอภัยโทษ และสิ่งที่ทำให้ศัตรูของเขากลัว ไม่ใช่เรื่องที่เขาแอบเป็นผู้นิยมสาธารณรัฐ แต่มันคือเรื่องที่เขาอาจจะผูกมิตรกับราชสำนักซึ่งจะทำให้เครือข่ายของเขา อยู่ในอำนาจไปอีกนานหลายปี
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/11/49844
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น