คำวินิจฉัย"ศาล รธน." ปัจจัยจบ"ม็อบนกหวีด"?
จะจบได้จริงภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน ตามที่แกนนำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ได้ประกาศไว้หรือไม่
เพราะหากดูปัจจัยและเงื่อนไขจากฝั่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมถอยแบบสุดซอย ทั้งการยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวม 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเอกฉันท์ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ส่งคืนให้กับสภาผู้แทนราษฎรวัดใจอีกครั้งหลัง 180 วัน แต่ดูจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ คาดว่ารัฐบาลจะไม่กล้าหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเรียกม็อบอีกเป็นแน่ โดยมีคำมั่นสัญญายืนยันผ่านสัตยาบันของ 4 พรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะไม่หยิบยกร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาในลักษณะนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาอีก
หากแต่การถอยของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ผ่านวิธีการต่างๆ ยังไม่อาจทำให้ม็อบราชดำเนินของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจยอมถอยจริง จึงนำมาซึ่งการยกระดับการเคลื่อนไหวชุมนุม ผ่านการแสดงอารยะขัดขืน 4 ข้อ คือ 1.ให้ทุกคนทุกบริษัท ทุกหน่วยงานราชการ หยุดงานตั้งแต่วันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2.ขอให้บรรดาพ่อค้านักธุรกิจ
ช่วยกรุณาไปปรึกษากันว่า วิธีปฏิบัติในการชะลอการชำระภาษี อย่าให้รัฐบาลมีเงินภาษีออกมาใช้ 3.ต่อสู้ด้วยสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ของเราคนไทยคือ ธงชาติ ขอให้ทุกบ้าน ทุกสำนักงาน ชักธงชาติขึ้นทั่วประเทศ ติดธงชาติไว้บนเสื้อผ้า ร่างกาย รถยนต์ แขวนคอด้วยนกหวีด ไปไหนมาไหนพกไป 2 อย่าง คือนกหวีดและธงชาติ และ 4.ถ้าประชาชนพบเห็นนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องพูดด้วย ไม่ต้องทำอะไร ให้หยิบนกหวีดเป่าใส่อย่างเดียว เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ยอมรับรัฐบาล
หากจะประเมินปัจจัยที่จะทำให้ม็อบราชดำเนินจบได้ตามที่แกนนำอย่าง "สุเทพ" ได้ประกาศไว้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนั้น เหตุการณ์ทางการเมืองที่น่าจับตามองคือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ในคำร้องที่กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา จากสายสรรหา และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง และให้ยุบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ในสังกัดร่วมลงชื่อเห็นชอบกับการแก้ไข และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเวลา 5 ปี
ประเด็นที่กลุ่มผู้ยื่นคำร้อง คาดหวังว่าจะสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ นั่นคือ เรื่องผลประโยชน์ขัดกัน คือ ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัวเองลงสมัคร ส.ว.ครั้งหน้าได้ จากเดิมที่เป็น ส.ว.ติดต่อกันเกิน 1 วาระไม่ได้ รวมทั้งมีการแก้ไขให้ "ลูก เมีย สามี" ลงสมัคร ส.ว.ได้ โดยจะโยงให้เห็นว่าอาจส่งผลให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา รวมทั้งกระบวนการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ การประชุม อย่างการกดบัตรแทนกันของสมาชิกรัฐสภา
แม้จะมีการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกมาเป็น 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
แนวทางที่สอง คือขัดรัฐธรรมนูญ แต่มีโทษไม่ถึงขั้นยุบพรรค ความผิดอาจจะไปตกอยู่ที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ที่เป็นผู้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นถอดถอนต่อไป
และ แนวทางที่สาม คือวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 คือ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไป ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่ขั้นตอนของการ "ยุบพรรค" ซึ่งหมายถึง พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
หากจะดูปัจจัยที่ เป็นทางลงของม็อบราชดำเนินทั้งหลายอย่างแล้ว แน่นอนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ย่อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แกนนำม็อบนกหวีดนำมาตัดสินใจว่า "จบ" หรือ "เดินหน้า" ต่อ
(อ่านต่อ)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384516146&grpid&catid=01&subcatid=0100
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น