หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประวัติศาสตร์สุโขทัย "ลอยกระทง"

ประวัติศาสตร์สุโขทัย "ลอยกระทง"



โดย  Sujit Wongthes


เวียนมาถึงอีกแว้ววว สำหรับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่างานใหญ่จะจัดขึ้น ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นประจำทุกปี เข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุผลที่เชื่อกันว่า “ต้นกำเนิดของการจัดงานประเพณีลอยกระทง ในประเทศไทย ซึ่งได้ริเริ่มมานับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี” !?! 

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดนี้ ยกมาจากจดหมายเชิญสื่อมวลชนที่จัดทำขึ้นในนาม จังหวัดสุโขทัย โดยอ้างว่าเป็นคำพูดของนาย จักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ได้รับการถ่ายทอดกันมานาน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆสนับสนุนเลย สำหรับวรรณคดีเรื่อง ‘นางนพมาศ’ ซึ่งระบุว่าเป็นสนมของพระร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์สุโขทัยนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 นี้เอง ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์”

ความจริงแล้ว ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงวิชาการ ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ หรือความรู้ใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จะจัดงานลอยกระทงใหญ่โต จะจัดประกวดนางนพมาศหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่ควรมีการอธิบายข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ประชาชนเข้าใจในข้อเท็จจริง 

อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่น่าจะช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเพณีดังกล่าวก็คือ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง’ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก่อนอื่น ต้องสารภาพก่อนว่า ไม่ได้ไปมิวเซียมดังกล่าวมานานหลายปี แต่เท่าที่ผ่านตา ยังไม่เคยเห็นการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีการลอยกระทง และวรรณคดีเรื่องนางนพมาศอย่างจริงจัง 

หากมีการจัดนิทรรศการในประเด็นนี้ควรหยิบยกเรื่องราวของการขอขมาน้ำ ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ของผู้ คนในดินแดนอุษาคเนย์ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่พบหลักฐานมากมาย อาทิ ภาพสลักที่ปราสาทบายน ประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1750 ก่อนที่รุ่งอรุณแห่งความสุขอย่างสุโขทัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลน่าสนใจที่คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อดีตบรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเคยเขียนไว้ว่า 

พิธีขอขมาดินน้ำเดือน 12 ที่ไทยเรียกลอยกระทง เทียบได้กับขึ้นปีใหม่ในทางสากล เพราะเสร็จพิธีก็เข้าฤดูกาลใหม่ เรียกเดือนอ้าย หรือเดือนที่หนึ่งของปีนักษัตรใหม่ 

นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ระบุถึงพิธีในทำนองนี้หลายอย่าง เช่น พิธีพายเรือ, พิธีลอยประทีป, พิธีไหว้พระแข (พระจันทร์) ก่อนจะกลายมาเป็น ‘ลอยกระทง’ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ บ่งบอกถึงพัฒนาการของประเพณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี 


ประเด็นเหล่านี้ น่าจะได้รับการพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไม่ว่าจะแบบถาวร หรือแบบหมุนเวียนเมื่อเข้าสู่เทศกาลลอยกระทงในแต่ละปี หรือหากมีการจัดอยู่แล้ว ก็ขอยกย่องและส่งแรงเชียร์ให้จัดต่อไปทุกปี 

งานแสง เสียง สี อันเอิกเกริก จะได้ไม่เพียงสร้างความสุขให้แก่ผู้คนเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความรู้อันเป็นพื้นฐานของความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองต่อไป

เนื้อหาทั้งหมดจาก : คอลัมน์สโมสรมิวเซียม โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวางแผงล่าสุด  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น