อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
แต่หากไม่ปิดหูปิดตาหรือโกหกตัวเองมากเกินไป เราย่อมเห็นความจริงว่าใน “เสื้อแดง” นั้นมีทั้งสู้เพราะรักทักษิณ เพราะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพราะคัดค้านรัฐประหาร รับไม่ได้กับการใช้รัฐประหาร และองค์กรที่ตั้งขึ้นจากรัฐประหารจัดการกับนักการเมืองที่ประชาชนเลือก รับไม่ได้กับการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และกองทัพอ้างเรื่อง “ขบวนการล้มเจ้า” สลายการชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก รับไม่ได้กับอำนาจนอกระบบ ต้องการประชาธิปไตย ต้องการแก้ไข/ยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ระบบตุลาการไทยให้เป็นประชาธิปไตย
ฉะนั้น จึงไม่อาจสรุปง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์เสื้อแดงไม่ใช่ปรากฏการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ทักษิณและคนรักทักษิณ (ที่อาจตั้งคำถามได้ว่าพวกเขามี “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” จริงหรือไม่) พวกเขาก็ยืนยันที่จะสู้ใน “วิถีทางประชาธิปไตย” ผ่านเวทีการเลือกตั้ง เราจึงอาจเรียกรวมๆได้ว่า ปรากฏการณ์เสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอีกก้าวหนึ่ง อย่างแน่นอน
จะว่าไป เส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นคดเคี้ยวยาวนาน มองจากขบวนการเสื้อแดง ย้อนไปหาประวัติศาสตร์พฤษภาคม 2535, 6 ตุลาคม 2519, 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึงปฏิวัติสยาม 2475 ถึงกบฏ ร.ศ.103 ถึงยุคเทียนวรรณปัญญาชนผู้เรียกร้องให้ “เลิกทาส” และให้มีระบบการปกครองแบบ “ปาลีเมนท์” แม้ว่ารอยต่อ จุดเชื่อมทางความคิด อุดมการณ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จะไม่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียว เพราะมีลักษณะเฉพาะ มีความซับซ้อนเฉพาะของตนเองตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนไป แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นการต่อสู้ที่มี “จุดร่วม” สำคัญอันเดียวกัน เป็นจุดร่วมอย่างที่ไมเคิล ไรท เรียกว่าการต่อสู้เพื่อให้มี “สิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม”
ในหนังสือ “ฝรั่งหลังตะวันตก” ไมเคิล ไรท บอกว่า หัวใจสำคัญของการเกิด “Renaissance (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ)” ในยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 คือ เป็นยุคของการต่อสู้เพื่อ “สิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม” จากอำนาจครอบงำกดขี่ของศาสนจักร และระบบกษัตริย์ Renaissance ในยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ล้มลุกคลุกคลานใช้เวลาร่วมสองร้อยปี แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้นั้นได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ยังคงมีการต่อสู้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะการกดขี่อย่างไร้เหตุผลและความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้หายไปจากโลก
นอกจากนี้ ไมเคิล ไรท ยังมองว่า Renaissance ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของชาวยุโรป ใครจะเรียนรู้ หยิบไปใช้หรือปฏิเสธมันก็ได้ และ Renaissance ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่ยุโรปที่เดียวเท่านั้น มันอาจเกิดขึ้นที่ไหนๆ ในโลกก็ได้ ที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เขามองว่าการต่อสู้ของเทียนวรรณ เรื่อยมาถึง 14 ตุลา, 6 ตุลา ก็คือ Renaissance ของไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลาน มองจากแง่นี้ปรากฏการณ์เสื้อแดงก็คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ยังล้มลุกคลุก คลาน
ต่อสู้กับอะไรหรือ? Renaissance ก็คือการต่อสู้กับ “ความมืด” ยุคนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยุคสว่างทางปัญญา” (Enlightenment) อิมมานูเอล ค้านท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันบอกว่าวิธีสลายความมืดก็คือ “enlighten-ทำให้เกิดแสงว่าง” ในที่ที่มันมืด หากความมืดเกิดจากอำนาจครอบงำกดขี่ของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ ก็ต้องทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาด้วยการต่อสู้ให้มีเสรีภาพในการใช้เหตุผล ของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆเรื่อง ค้านท์เขียนว่า
อันที่จริงหาก สาธารณชนได้รับเสรีภาพ การเกิดแสงสว่างทางปัญญานี้ก็เกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย...แสงสว่างทาง ปัญญานี้ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเสรีภาพ โดยเฉพาะสิ่งที่ดูเรียบง่ายที่สุดที่จะได้ชื่อว่า “เสรีภาพ” อันได้แก่เสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง...การใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะจะต้องมีเสรีภาพในทุกๆ ขณะ มีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่จะนำแสงสว่างทางปัญญามาสู่มนุษยชาติได้ (อิมมานูเอล คานท์.คำตอบของคำถามว่า “แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?” แปลโดย โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ จากเว็บไซต์ปรัชญาภาษา)
ในสังคมทุกยุคสมัยมักจะมีบุคคลที่มีความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเอง และมีสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม พวกเขาเรียกร้องเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆเรื่อง แต่บุคคลเช่นนี้มักถูกทำร้ายโดยอำนาจรัฐเสมอมา อำนาจรัฐที่ “บิดเบือน” ความจริงและความยุติธรรม
หากเรานับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคม “ตาสว่าง” หรือเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ให้เกิด Renaissance ในสังคมไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในคุก ก็ชอบธรรมแล้วที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องนิรโทษกรรมให้พวกเขา
แต่การนิรโทษกรรมที่ล่าช้า เสมือนใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อหาทางนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” ดังที่กำลังพยายามทำกันอยู่ ย่อมทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้นการไม่นิรโทษกรรมนักโทษคดี 112 ย่อมเท่ากับตกอยู่ใต้อำนาจที่บิดเบือน “ความจริง” และ “ความยุติธรรม”
บิดเบือนความจริงว่า พวกเขาไม่ใช่ “นักโทษการเมือง” ทั้งๆ ที่เป็นความจริงว่า พวกเขาต่อสู้ด้วยแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เมื่อบิดเบือนความจริงก็เท่ากับบิดเบือนความยุติธรรมที่พวกเขาควรได้รับเฉก เช่นนักโทษการเมืองอื่นๆ
การที่รัฐไทยบิดเบือนความจริงและความยุติธรรมดังกล่าว สะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่พ้นจาก “ยุคมืด” เพราะประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง แสงสว่างทางปัญญาจึงยังไม่เกิด
แต่คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจึงต้องตกอยู่ใต้ อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดิมอีก ถ้ายังเป็นอยู่เช่นนี้ เมื่อไรสังคมไทยจะหลุดพ้นจาก “ยุคมืด” ได้เสียที
จะยอมให้พลเมืองผู้มีความคิดอิสระ มีจิตสำนึกแรงกล้าในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และความยุติธรรม ต้องถูกทำลายไปอีกเท่าใด จึงจะเพียงพอกับการ “บูชายัญ” อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2013/11/49538
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น