หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เมื่อสิทธิมนุษยชนอยู่เหนือนิรโทษเหมาเข่ง: กรณีละตินอเมริกา

เมื่อสิทธิมนุษยชนอยู่เหนือนิรโทษเหมาเข่ง: กรณีละตินอเมริกา 




Sins of the Past: Will All of Latin America Find Justice for Cold War Atrocities?
http://world.time.com/2011/11/03/sins-of-the-cold-war-when-will-all-of-latin-america-find-justice


ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ศาลฎีกาในอาร์เจนตินา อุรุกวัย รวมถึงศาลสิทธิระหว่างรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ เนื่องจากมองว่าขัดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ให้ผู้สังหารประชาชนถูกนำตัวมาดำเนินคดีได้หลังจากรอคอยมากว่าสาม ทศวรรษ 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังดุเดือดเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจ “ถอย” การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแก้ไขของส.ส.วรชัย เหมะ รวมถึงร่างนิรโทษกรรมและปรองดองอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ในสภา 6 ฉบับ แม้การถอยครั้งนี้จะเป็นสัญญานที่ดีที่แสดงว่ารัฐบาลยอมรับฟังเสียงคัดค้าน ของประชาชน แต่การชุมนุมของฝ่ายค้านยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ในเร็ววันนี้
ปรากฎการณ์การคัดค้านดังกล่าว ไม่ต่างกันมากนักกับในหลายๆ ประเทศที่ภายหลังความขัดแย้ง มีความพยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ที่ผ่านการสูญเสียมากมายจากการปราบปรามของรัฐบาลต่อกลุ่มฝ่ายซ้ายในช่วง สงครามเย็น เมื่อรัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่ หรือรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจ ได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม และลบล้างความผิดให้กับทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มติดอาวุธที่เคยสังหารพลเรือนไปจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่พอใจ และแรงกดดันจากกลุ่มญาติ และภาคประชาสังคม ที่ยังคอยเรียกร้องให้รัฐบาลลุกขึ้นมาค้นหาความจริงและความยุติธรรมเรื่อย มา 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา ศาลสูงสุดในหลายประเทศเช่น อาร์เจนตีน่า อุรุกวัย เปรู ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้เป็นโมฆะ เนื่องจากพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว ศาลพบว่ากฎหมายนิรโทษกรรมแบบ “เหมาเข่ง” เป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของผู้เสียหายในการเข้าถึงความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยา นอกจากนี้ ยังเป็นการปล่อยให้ผู้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องรับความผิดที่เคยกระทำไว้ด้วย 
สงครามสกปรกในอาร์เจนตินาที่ยังรอคอยวันชำระ
ในประเทศอาร์เจนตินา การขึ้นมาของรัฐบาลเผด็จการทหาร นำโดย Jorge Rafael Videla นำมาสู่ “สงครามสกปรก” ในช่วง 1975-1983 รัฐบาลใช้กองกำลังทหารปราบปรามกลุ่มฝ่ายซัายติดอาวุธ รวมถึงผู้ที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว ชาวนา อาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ถูกสังหารไปไม่น้อย  มีการประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คนในช่วงนั้น
เมื่อหมดยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งที่ขึ้นมาใหม่คือ Raul Alfoncin ได้พยายามดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับสงครามสกปรก แต่ก็มีอุปสรรคจากกองทัพที่พยายามขัดขวางและกดดันรัฐบาลพลเรือนอยู่เสมอ แม้สามารถเอานายทหาร 9 คนมาลงโทษจำคุกได้จากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลและกองทัพ แต่ภายหลังรัฐบาล Alfoncin ก็ตรากฎหมายสองฉบับที่เสมือนกับนิรโทษกรรมออกมา คือ กฎหมาย Full stop law และ Law of Due Obedience ที่มีอำนาจยุติการสอบสวนคดีต่างๆ ต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการ เนื่องจากกองทัพขู่ว่าจะทำการรัฐประหาร ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐได้อีก ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีคนถัดมา Carlos Menem ได้ให้อภัยโทษแก่ทหารเหล่านี้ ทำให้ทหารที่ติดคุกอยู่ 9 คนให้ออกมาได้ 
ด้วยแรงกดดันจากกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตที่ชื่อว่า Mothers of Plaza de Mayor หรือ กลุ่มแม่แห่งจตุรัสมายอร์ ทำให้ในปี 2006 ศาลฎีกาของสเปน ตัดสินว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยผ่านออกมา ขัดกับรัฐธรรมนูญและให้เป็นโมฆะ ทำให้เปิดการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดขึ้นมาใหม่ และในเดือนธันวาคม 2010 นี่เอง อดีตประธานาธิบดี Jorge Rafael Videla ที่มีบทบาทสำคัญในการสังหารช่วงสงครามสกปรก ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตในคุกไปเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา และยังสามารถดำเนินคดีแก่นายทหารระดับสูงได้อีกหลายคน 
ศาลอุรุกวัยที่มีหลักการสวนกระแสสังคม
ในปี 2010 เดียวกันกับที่อดีตประธานาธิบดีเวเนซูเอลาถูกจำคุกตลอดชีวิตนั่นเอง ศาลฎีกาของอุรุกวัย ก็ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษกรรมของอุรุกวัย ที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 1985 เพื่อนิรโทษความผิดให้ทหารและเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงรัฐบาลกึ่งพลเรือนกึ่ง ทหารช่วง 1973-1985 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ โดยได้อ้างหลักเกณฑ์จากศาลฎีกาของอาร์เจนตินาที่ได้ประกาศให้กฎหมายนิรโทษ กรรมเป็นโมฆะ และยังได้อ้างหลักคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกาด้วย 
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอุรุกวัยเคยมีการจัดประชามติสองครั้งในปี 1989 และ 2009 ว่าด้วยการนิรโทษกรรมให้ทหาร ว่าสมควรจะยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ประกาศไปแล้วหรือไม่ ปรากฎว่าราวร้อยละ 60% ของคนที่มาลงคะแนนเสียง ไม่เห็นด้วยว่าต้องยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรม และเห็นว่าควรคงเอาไว้ แสดงให้เห็นว่าการที่ศาลฎีกาตัดสินแบบนี้ หมายถึง ศาลได้ยึดในหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่ากระแสสังคมจะไปทางใด 
สงครามในเปรูที่ยืดเยื้อยาวนาน
ในช่วง 1980 จนถึงราว 2000 เกิดความขัดแย้งในเปรูระหว่างกลุ่มเหมาอิสต์ติดอาวุธที่ชื่อ Shining Path และ กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติ Tupac Amaru ซึ่งใช้วิธีการต่อสู้แบบกองโจร เข้าโจมตีรัฐบาลเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม ซึ่งรัฐบาลตอบโต้อย่างหนักด้วยการใช้กำลังทหารและตำรวจเปรูเข้าปราบปราม นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และเมื่อปี 1995 ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ก็ได้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อนิรโทษความผิดทุกประเภทที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1982-1995 
อย่างไรก็ตามในปี 2001 ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) ได้ตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐอเมริกา และขัดต่อสิทธิของเหยื่อในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา ศาลฎีกาในประเทศจึงได้ประกาศให้คำตัดสินของศาลมีผลกับทุกคดีในเปรูด้วย 
คำตัดสินดังกล่าว ส่งผลให้ประธานาธิบดีอัลแบร์โต ฟูจิโมริ ถูกดำเนินคดีในปี 2008 และหนึ่งปีถัดมา ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 25 ปี เป็นประธานาธิบดีคนแรกของละตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกดำเนินคดี และถูกตัดสินจำคุกด้วยศาลในประเทศจากคดีอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ 
วัฒนธรรมลบล้างความผิดที่บ่มเพาะความรุนแรง 
ส่วนในชิลี ยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมชัดเจน แต่ในหลายคดี ผู้พิพากษาได้ระบุว่า ในคดีที่มีการละเมิดหลักสิทธิมนุษชน ไม่สามารถเอากฎหมายนิรโทษกรรมมาใช้ได้ เพราะขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 
มีการวิเคราะห์ว่าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐอเมริกา และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาซึ่งเป็นองค์กรในระดับภูมิภาค ได้วิจารณ์ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อ ซึ่งหลักการนี้ได้ค่อยๆ กลายเป็นบรรทัดฐานของหลักสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคละตินอเมริกา 
มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่า ประเทศในละตินอเมริกาที่ยังมีวัฒนธรรมลบล้างความผิด หรือยังมีกฎหมายนิรโทษกรรมบังคับใช้อยู่ อย่างในกัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ หรือ ฮอนดูรัส ได้กลายเป็นประเทศที่ความรุนแรงในสังคมเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแก๊งมาเฟีย แก๊งค้ายาเสพติด ซึ่งตั้งตนเป็นใหญ่เหนือกฎหมาย เป็นผลมาจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมคนผิดไม่ได้รับผิด และส่งเสริมการใช้ความรุนแรงในสังคม
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น