หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"นิธิ เอียวศรีวงศ์" ชี้ทางออก-บทเรียนประเทศไทย การเจรจาไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับบนอีกต่อไป

"นิธิ เอียวศรีวงศ์" ชี้ทางออก-บทเรียนประเทศไทย การเจรจาไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับบนอีกต่อไป 
 

 
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทางออก-บทเรียน ประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม


สัมภาษณ์ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ถึงสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้พร้อมทางออกที่เป็นไปได้เพื่อ ป้องกันความสูญเสีย

-เหตุการณ์ในขณะนี้ มีความเป็นไปได้ที่ผลจะออกมาเป็นกี่ทาง 

ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มี  2-3 ทาง 1) ไม่ว่าคุณสุเทพจะเจรจาหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นยุทธวิธีของรัฐบาล คือ พยายามที่จะดึงเอาม็อบกลับบ้าน โดยการทำให้รู้สึกว่าจะไม่มีอันตรายแก่ม็อบและจะไม่มีการเผชิญหน้าทั้งปวง หรือทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายคุณสุเทพ ดูไร้เหตุผลเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นๆ ถ้าเขาทำสำเร็จ ก็หมายความว่า จำนวนมากของม็อบจะกลับบ้าน 

ผมอยากเตือนด้วยว่า เมื่อไหร่ขึ้นชื่อว่าม็อบ เมื่อนั้นไม่เคยอยู่คงทนหรอกครับ เช่นกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อปลายปี 2548 ม็อบเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ แต่พอมาต้นปี 49 คุณทักษิณขายหุ้น มันเท่ากับจุดเชื้อไฟให้ม็อบกลับคืนมาใหม่อีกทีหนึ่ง ซึ่ง ถ้าไม่เกิดกรณีประเภทเหล่านี้ขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าโอกาสที่รัฐบาลจะค่อยๆ ดึงให้คนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลน้อยลงมีความเป็นไปได้มากขึ้น  แล้วรัฐบาลจะทำอะไรต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
2)รัฐบาลอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ จากข้อแรก เพราะ ม็อบ(ต่อต้านรัฐบาล)อาจจะสร้างกิจกรรมให้กับคนที่เข้ามาร่วมในลักษณะรุนแรง ขึ้นเรื่อยๆ  พอถึงจุดนั้น ถามว่าในที่สุดจะทำอย่างไร ผมคิดว่า ทางออกอีกทางหนึ่งคือ รัฐบาลยอมตาม หมายถึงลาออก ซึ่งจะไม่เกิดผลอะไรมากนักถ้ารัฐบาลลาออกเฉยๆ เพราะพอลาออก ก็เลือกรัฐบาลใหม่ในรัฐสภา พรรคเพื่อไทยซึ่งกุมเสียงข้างมาก ก็จะได้กลับคืนมาเป็นรัฐบาลอีก ซึ่ง ไม่สามารถจะสลายการต่อต้านรัฐบาลลงไปได้แน่ๆ เพราะไม่ได้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น แต่เป็นแค่พิธีกรรมเฉยๆ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลก็จะไม่โง่ ที่จะเลือกอันนี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย 

3) ถ้ามีการปะทะกันอย่างรุนแรง เช่นที่เริ่มเกิดขึ้นเวลานี้ ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนคุณสุเทพ กับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนคุณสุเทพหรือคัดค้านคุณสุเทพ ถูกทำร้ายและมีการตอบโต้เรื่อยๆ บานปลายไป ถามว่าจะมีอำนาจอื่นเข้ามาแทรกไหม ผมคิดว่ามี อำนาจนั้น อย่างน้อยที่สุดที่เห็นชัดสุด คือ กองทัพ 

บางคนจะรู้สึกว่ากองทัพขาดทุน หลังจากเข้ามาแทรกเรื่องเหล่านี้ เพราะ หลังยึดอำนาจไปแล้วคุณจะทำอย่างไรก็มีแต่จะทำให้กองทัพเสียหายมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ขาดทุนอีกเหมือนกัน เพราะทุกคนก็มองกองทัพว่าจะเป็นคนที่ยุติการสลายตัวของรัฐ ฉะนั้น ถ้าถึงขนาดตีกันทั้งเมือง ผมคิดว่า กองทัพก็จำเป็น แม้ว่าจะอยาก หรือไม่อยากก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนจะแทรกอย่างไร แทรกแซงแบบจำกัด หรือเต็มตัว ผมยังมองไม่เห็นว่ากองทัพไทย จะอยู่ในฐานะแทรกแซงแบบจำกัดได้ 

อย่างกรณี อียิปต์ กองทัพก็แทรกแซงแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ยึดอำนาจทั้งหมด กองทัพเข้ามาช่วยรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตัวเอง ป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายเข้ามาทำร้ายได้ คือไม่ได้ยึดอำนาจทั้งหมด  ถามว่ากองทัพไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะแทรกแซงอย่างจำกัดเช่นนั้นได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้  เท่าที่คาดเดาคือ ถ้ากองทัพจะแทรกแซง ต้องแทรกแซงแบบหมดตัว คือ ต้องเข้ามายึดอำนาจด้วย อันนี้เป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีกอัน

4) ถ้ากองทัพไม่แทรกแซง ความเป็นไปได้อีกประการคือ รัฐบาลก็ทำตามข้อเสนอของนักวิชาการเมื่อวานนี้ คือ ต้องยุบสภา การยุบสภา มีข้อดีกว่าการลาออกเฉยๆ คือ ถ้ารัฐบาลชุดนี้สามารถกลับมาได้ใหม่ จากเสียงการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุด มันมีความชอบธรรมเพิ่มขึ้นนิดนึง และนอกจากการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนคาดเดาได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะ 

การเลือกตั้งจึงไม่เพียงพอ  ฉะนั้น จะต้องมาพร้อมกับการสร้างโอกาสใหม่ เปลี่ยนแปลงประเทศไทย อย่างที่คุณสุเทพ(เทือกสุบรรณ)ใช้เป็นข้ออ้างปฏิรูปประเทศไทย สร้างสภาประชาชน ถ้ารัฐบาลเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะทำให้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถูกพิสูจน์อย่างชัดเจน ที่จริงศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยบอกว่าต้องลงประชามติใช่ไหม ถ้าลงประชามติแล้วคนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การเลือกตั้ง มีความหมายมากขึ้น คือไม่ใช่ เพียงแต่การหาความชอบธรรมใหม่ แต่มันมาพร้อมกับการเสนอการเริ่มต้นใหม่ที่ทุกคนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ได้ 

การทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำพร้อมกับการเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินมาก รัฐบาลสามารถประกาศทำประชามติล่วงหน้า 90 วัน ต่อมาก็ประกาศยุบสภาก่อนเลือกตั้ง 45 วัน เพื่อให้การเลือกตั้ง กับการลงประชามติเป็นวันเดียวกัน เพื่อไม่ให้เสียเงินมาก  

-ยุบสภา เพราะมีคนชุมนุมยึดสถานที่ต่างๆ  เป็นการถอยที่พ่ายแพ้หรือไม่
 
ผมไม่คิดว่าแพ้นะ ถามว่า คนเดินถนนที่ออกมายึดโน่นยึดนี่มีสิทธิ์ที่จะทำได้ไหม ผมคิดว่ามีสิทธิ์ในระดับหนึ่ง แต่การยึดถึงขนาดที่คนอื่นเข้าไปทำงานไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่านี่คือสันติวิธี และผมไม่เชื่อว่านี่เป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เขาออกมาแสดงความคิดเห็น ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดนี้ เขาต่อต้านระฐบาลชุดนี้ เขาควรจะมีเสรีภาพที่จะทำได้
ถ้ารัฐบาลใดก็แล้วแต่ถูกท้าทายความชอบธรรมตัวเองมากขนาดนี้ จะถึงครึ่งประเทศหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่มีมากขนาดนี้ ผมคิดว่า จำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ว่าคุณจะเอาไหมรัฐบาลชุดนี้ 

ฉะนั้น ผมคิดว่าการยุบสภา เป็นการแก้ปัญหาปกติมากๆ ในระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับปี 53 ถ้ามีคนไม่พอใจรัฐบาลมากมายขนาดนั้น ก็ยุบสภา เลือกตั้งกันใหม่ 

หลังความพยายามสอดไส้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง พรรคเพื่อไทยควรสรุปบทเรียนอย่างไร

คืออย่างนี้ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ควรจะสรุปบทเรียนสำคัญอันหนึ่งว่า ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว สมัยหนึ่งการแก้ปัญหาทางการเมือง ในประเทศมันอยู่ที่การเจรจา ต่อรอง ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน ถ้าคุณเจรจาต่อรองสำเร็จคุณก็แก้ไปตามนั้น ว่ากันไปตามข้อตกลง แต่บัดนี้ ผมว่าประเทศไทย ไม่ได้อยู่ในฐานะแบบนั้นอีกแล้ว มันมีคนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแยะจนกระทั่งคุณไม่สามารถจะแก้ปัญหาทาง การเมืองด้วยการปิดห้องเจรจาในกลุ่มคนที่เป็นศัตรูกันหรือเป็นคู่แข่งกันได้ อีกต่อไปแล้ว คุณจะต้องหันมามองว่า ประชาชนเขาจะเอายังไงกับคุณ 

พรรคเพื่อไทย ดูเผินๆ ประหนึ่งว่า ให้ความสนใจกับประชาชน เพราะมีคนเสื้อแดงสนับสนุนอยู่มากมาย  แต่ครั้งนั้นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้สนใจ คือไม่ได้หันไปมองก่อนว่า  ถ้าออก พ.ร.บ.แบบนี้ คุณจะว่าอย่างไร แต่เขาก็ออกเลย พอออกมาเลย ก็พบด้วยความตระหนกตกใจว่า แม้แต่ตัวเสื้อแดงก็ต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้  อย่าไปพูดถึงกลุ่มอื่นๆเลย นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจน และพลังในการรวมรวมคนเสื้อแดงเข้ามาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ก็ไม่แข็งแกร่งเหมือนครั้งที่ผ่านมา ผมว่าอันนี้ก็เป็น บทเรียนที่เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปไม่ว่าพรรคใดก็แล้วแต่ ถ้าจะเล่นการเมือง อีกขาหนึ่ง ที่คุณทิ้งไม่ได้ คือประชาชน ไม่ใช่คุณไปได้ดีกับกองทัพ คุณไปได้ดีกับพ่อค้านักธุรกิจ คุณไปได้ดีกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ แล้วคุณจะอยู่รอด มันไม่จริง เพราะยังต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากภาคประชาชนมากกว่าที่เคยมีมา 

ลองย้อนกลับไปดูสมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ จอมพลอะไรก็แล้วแต่ที่เคยปกครองประเทศนี้มา เขาคิดว่าทุกอย่างมันอยู่ที่หัว(ขบวน) บางคนใช้วิธีตีหัวศัตรู บางคนใช้วิธี เจรจา ทั้งหมดอยู่ที่หัว ข้างล่างไม่เกี่ยว แต่บัดนี้ไม่ใช่แล้ว 

ความตื่นตัวของประชาชนมาพร้อมกับความรุนแรง เป็นการสะท้อนความก้าวหน้าหรือถอยหลังของประชาธิปไตย
การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างที่ขาดไม่ได้ ก็เป็นความก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีความก้าวหน้าก็มีความรุนแรงด้วย และหลีกเลี่ยงได้ค่อนข้างยาก ถ้าเราพยายามตีกรอบไม่ให้ความรุนแรงมันบานปลายแม้จะไม่สามารถยุติได้อย่าง สิ้นเชิง  ผมคิดว่ามันเป็นความก้าวหน้า แต่ถ้าคุณไม่สามารถตีกรอบได้ ก็จะกลายเป็นประเทศอันธพาล มีเรื่องขัดแย้งกันเมื่อไหร่ก็ตีกัน ถ้าอย่างนั้นเราก็ไปไม่รอด 

แต่ถ้าเราสามารถตีกรอบได้ ก็ต้องยอมรับว่าทุกประเทศในโลกนี้ ในการก้าวเข้าสู่ความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน ในทุกๆ ฝ่ายมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น แต่คุณจะตีกรอบให้มันอย่าบานปลายกันมากได้ไหม 

ถ้าวิธีการเลือกตั้งอันเป็นที่มาของอำนาจรัฐบาล มีความชอบธรรมลดน้อยลงไป แล้วสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร 

นั่นนะสิครับ แต่อย่าลืมว่า การเลือกตั้ง มันถูกทำลายความชอบธรรมมาหลายสิบปีเต็มทน ในประเทศไทย นักวิชาการเองก็มีส่วน ในการบอกว่า การเลือกตั้งไทยไม่มีความหมาย เพราะมีแต่การซื้อเสียง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ลงไปศึกษาจริงๆ ว่าปัจจัยที่ทำให้คนไปเลือกตั้ง มีกี่ปัจจัยและปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญที่แตกต่างกันอย่างไร  ระยะหลังๆ ก็มีการไปศึกษาพบว่า จริงที่มีการให้เงิน แต่ชาวบ้านมีการจัดลำดับความสำคัญในการที่เขาจะตัดสินใจเลือกใคร 

เงินไม่ได้มาอันดับหนึ่ง แต่มาจากอย่างอื่นซึ่งอาจจะไม่เป็นระบอบประชาธิปไตยก็ได้ เช่น ความเป็นพรรคพวก ญาติคุณลงคุณไม่หย่อนบัตรเลือกตั้งให้เหรอ แล้ววิธีการนับญาติของคนไทยในชนบทเขานับกว้างนะ  ไม่ใช่นับกันแคบๆ  แล้วนอกจากเป็นญาติแล้ว มันยังให้เงินด้วย ก็ดีไม่ใช่เหรอ อย่างน้อยมันก็เห็นแก่หน้าเรา ว่าเราก็มีความสำคัญพอที่มันจะเอาเงินมาให้ แต่ว่ามันก็ยังนับญาติกับเราอยู่
คือมันซับซ้อน กว่าเรื่องซื้อก๋วยเตี๋ยว ขณะที่เวลานักวิชาการพูดถึงการซื้อเสียง พูดเหมือนซื้อก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมันไม่จริง แล้วคนก็รับเอาสิ่งนี้ไป แล้วช่วยกันทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนที่พรรคประชาธิปัตย์  ไม่สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งได้ ก็ยิ่งช่วยกันบ่อนทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งในประเทศไทย 

อาจารย์คิดอย่างไรกับการเมือง เรื่องจำนวน ซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็อ้างถึงผู้มาชุมนุมฝ่ายตนว่ามีจำนวนมาก แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับจำนวนคะแนนเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง 
นั่นสิ คือหมายความว่า ถ้าคุณเชื่อว่าจำนวนคุณมันมากจริง การยุบสภาก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โอเค ถ้างั้นไปแข่งกันในกติกาที่มีการนับคะแนนอย่างถูกต้อง ไม่ต้องมาประเมินกันด้วยสายตาอีกต่อไป
แต่ดูเหมือนทางฝ่ายค้านเอง ก็บอกว่า การยุบสภาไม่แก้ปัญหาและเตรียมบอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ทันยุบสภา ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งอยู่ในเงื่อนไขอะไร ก็พร้อมจะบอยคอตแล้ว 

สังคมจะอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างเช่นนี้อย่างไร

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยโอกาสที่จะเป็น Failed State สลายไปอย่างสิ้นเชิง เกิดขึ้นได้ยากพอสมควร เพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจส่วนใหญ่ในสังคมได้ประโยชน์จากรัฐสูงพอสมควร ความเป็นรัฐของไทยมันให้ประโยชน์ แก่คนเหล่านี้มาก เขาคงไม่ยอมปล่อยให้มันพังสลายไปหมด อย่างที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ว่า จนถึงที่สุดแล้ว ถามว่ากองทัพมีราคาที่ต้องจ่ายไหม ถ้าเขาไม่แทรกแซงเลย ถ้ามันเกิดสภาวะการณ์ที่รัฐกำลังจะล้มเหลวถึง 100 %เต็ม เขาก็มีราคาต้องจ่าย ถ้าเขาไม่ทำอะไรเลยหลังจากนั้นถ้าเขามาอ้างเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็จะไม่มีใครฟังอีกแล้วว่าเขาคือผู้พิทักษ์ความเป็นประเทศไทยของเราเอาไว้ ผมคิดว่าเขาก็ต้องเข้ามาแทรกจนได้ แต่แน่นอน ปัจจุบันนี้รัฐเราก็หมดประสิทธิภาพไปหลายต่อหลายอย่าง อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักธุรกิจ ชอบออกมาพูดเรื่องไม่ได้รับความไว้วางใจจากต่างประเทศมาลงทุน ซึ่งก็จริง แต่เราไม่ได้มีชาติไว้เพียงเพื่อมึงอย่างเดียวนี่ นะครับ 
(ที่มา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น