หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เช็กกลิ่นรัฐประหาร วัดใจผู้บัญชาการเหล่าทัพ "ไม่มีผู้นำคนไหนอยากเป็นจำเลยรอบใหม่"

เช็กกลิ่นรัฐประหาร วัดใจผู้บัญชาการเหล่าทัพ "ไม่มีผู้นำคนไหนอยากเป็นจำเลยรอบใหม่"


 
โดย ดร.สุรชาติ บำรุงสุข 

การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตลอด 50 วัน พยายามทำทุกทาง เรียกหากองทัพให้ออกมายืนเคียงข้างมวลมหาประชาชน

"สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาฯ กปปส.บอกว่า ถ้าเป็นสมัยก่อน รัฐบาลทำชั่วทำเลวแบบนี้ทหารปฏิวัติไปแล้ว

แต่ ณ วันนี้ผู้นำเหล่าทัพกลับหลบหลังฉากการเมือง มิได้แสดงบทบาทตามที่ กปปส.เรียกร้อง

"สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการด้านความมั่นคง จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลในชั่วโมงวิกฤตการเมืองขั้นแตกหักผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าการทำรัฐประหารวันนี้ไม่ใช่ของง่ายสำหรับทหารอีกต่อไป

- มองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพตอนนี้อย่างไร

โจทย์สำคัญในการเมืองไทยมาตลอด คือ บทบาททหาร ทุกครั้งที่การเมืองไทยมีปัญหาจะมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา คือ ทหารจะยึดอำนาจไหม แสดงว่าทุกครั้งที่เกิดเรื่องความคิดหรือจินตนาการของคนต่อปัญหาการเมืองไทย หนีไม่พ้นต่อการแทรกแซงของทหารกับการเมือง

แต่ถ้าเปรียบเทียบในหลายวิกฤตที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าบทบาทของทหารในปัจจุบันมีความแตกต่างออกไป เพราะในครั้งก่อน ๆ อาจจะเห็นบทบาททหารออกมาโดยตรง แต่วันนี้สังเกตง่าย ๆ ผู้นำทหารให้สัมภาษณ์น้อยมาก และพูดน้อยมาก ในขณะเดียวกันเราแทบไม่มีโอกาสเห็นบทบาทอื่น ๆ เท่าไหร่นัก กระทั่งมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่ามีการคุยกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับหัวหน้าฝ่าย ต่อต้านรัฐบาล โดยมีทหารเป็นคนกลาง

ถ้าคิดอย่างนี้ถือว่าบทบาททหารเป็นเรื่องใหม่ คือทหารกลายเป็นผู้อำนวยการความสะดวกของการเจรจา ผมคิดว่าในมุมหนึ่งมองในด้านบวก เราได้เห็นพัฒนาการการเมืองไทย

- ในอดีตทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองเพื่อแชร์อำนาจ แต่วันนี้กลายเป็นตัวกลางเจรจา มองมิตินี้อย่างไร

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องบวก สังเกตรอบนี้เห็นอย่างหนึ่งคนพูดถึงการรัฐประหารน้อยลงเมื่อเทียบกับครั้งก่อน ๆ

ปกติพอมีวิกฤตปุ๊บ ทางสื่อ ทางสังคมก็จะพูดถึงการรัฐประหารทันที ถ้าเราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นผลบวกในอนาคตจะเกิดรากฐานของการจัดบทบาทของทหารในสังคม ไทยที่ในวิกฤตทหารไม่ก้าวออกมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง อันนี้ถือเป็นเรื่องบวก ขณะเดียวกันก็จะเห็นโอกาสการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่มาจาก การเลือกตั้งกับผู้นำกองทัพ


- วิกฤตครั้งนี้ทำไมทหารไม่กล้าออกมา

ผู้นำทหารปัจจุบัน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้บัญชาการทหารบก) เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งเป็นตัววิ่งทางโทรทัศน์ พูดชัดว่าถ้าเอาทหารออกมานอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว อาจเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาหนักขึ้น ผมคิดว่าคำสัมภาษณ์นี้น่าสนใจ เพราะเท่ากับยอมรับว่าการเมืองไทยแก้ด้วยทหารไม่ได้ หรือพูดง่าย ๆ การเมืองไทยแก้ด้วยการรัฐประหารไม่ได้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น เราเห็นบทเรียนที่ พล.อ.ประยุทธ์มองเห็นว่าผู้นำรัฐประหารหลังปี 2549 เช่น กรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (อดีต ผบ.ทบ.) เราแทบไม่เห็นบทบาทในสังคมอะไรเลย กลายเป็นผู้นำยึดอำนาจในปี 2549 หายไปกับสังคม แต่อีกคนหนึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เหมือนคนขับรถแล้วตัดสินใจยูเทิร์นกลับ  วันนี้ พล.อ.สนธิกลายเป็นหัวหน้าพรรค และยอมรับกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่รู้ว่าสุดท้ายถ้าอยากได้อำนาจต้องลง เลือกตั้ง

กรณีอย่างนี้ 1.พล.อ.ประยุทธ์น่าเห็นบทเรียนอยู่พอสมควร 2.บทเรียนจากการที่ทหารเข้ามามีบทบาทโดยตรงในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือการใช้กำลังล้อมปราบคนเสื้อแดง ซึ่งวันนี้กลายเป็นชนักทางการเมือง เพราะมันกลายเป็นคดีอาญา เป็นปัญหาใหญ่กับทหาร ทั้งกับ

ตัวสถาบันทหารและกับตัวบุคลากรทางกองทัพที่เข้าไปเกี่ยวข้อง 3.เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจดูข่าวการเมืองในโลกอาหรับ กรณีของอียิปต์ครั้งแรกที่เกิดอาหรับสปริงในกรุงไคโร ทหารอยู่เฉย ๆ แต่สุดท้ายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคภราดรภาพมุสลิม ทหารซึ่งไม่ค่อยพอใจ บวกกับความไม่พอใจของคนชั้นกลางหวนกลับเข้ามายึดอำนาจ แต่ทหารก็คุมไม่ได้ทั้งหมด แล้วกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อสถาบันกองทัพในอียิปต์

ถ้าคิดอย่างนี้ทหารไทยไม่ใช่คนไม่มีบทเรียน และต้องยอมรับว่าทหารไทยนั่งดูการเมืองแล้วตระหนักถึงข้อจำกัดของการที่ทหาร จะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง เว้นแต่สิ่งที่น่ากังวลคือถ้าเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ มันก็จะเป็นเหมือนการส่งเทียบเชิญให้กับทหารหวนกลับเข้ามาอีก ดังนั้นคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพยายามทำอย่างเดียวด้วยการเปิดประตู เชื้อเชิญให้กองทัพกลับเข้ามาสู่การเมือง เอาเข้าจริง ๆ มันก็ยังไม่เกิด แต่สิ่งที่ต้องตามต่อคือ แล้วจะเกิดเหตุรุนแรงเหมือนเทียบเชิญให้ทหารกลับมาหรือไม่ ต้องดูต่อในอนาคต

- สถานการณ์ต้องรุนแรงแค่ไหนถึงเป็นการเทียบเชิญทหาร

คือเกิดเหตุรุนแรงใหญ่ มีการปะทะหรือจลาจลขนาดใหญ่ บนพื้นฐานหรือเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น หรือตัวรัฐบาลยังไม่หมดสถานะของการเป็นรัฐบาล ถ้าสถานะของการเป็นรัฐบาลหมดลงจริง ๆ เช่น รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลลง นั่นอาจเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการส่งเทียบเชิญให้ทหาร

แต่คิดว่าปัจจุบันการเกิดเหตุรุนแรงใหญ่หรือเกิดเหตุจลาจลขนาดใหญ่ยังไม่ เห็น แต่อีกมุมหนึ่งเห็นว่าสถานะของรัฐบาลยังคงอยู่ ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว มันจึงไม่ทำให้เกิดสุญญากาศโดยตรง แม้ปีกต่อต้านรัฐบาลจะกดดันให้เกิดสภาวะสุญญากาศ

- ถ้าเกิดวิกฤตขึ้นจริง ๆ ทหารจะออกมารูปแบบไหน

เดาว่ารูปแบบการยึดอำนาจคงไม่ง่าย เพราะถ้ายึดอำนาจสุดท้ายทหารต้องเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่เชื่อว่าผู้นำทหารคิดมากอยู่พอสมควร ถ้ายึดแล้วเกิดกลุ่มที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเขาไม่ยอม ไม่เอาทหาร ไม่เอารัฐบาลทหาร ทหารก็จะกลายเป็นองค์กรที่เผชิญกับฝ่ายต่อต้าน 2 ส่วน กลุ่มม็อบบนถนนก็ไม่เอา กลุ่มม็อบเสื้อแดงที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่เอา ผมคิดว่าสถานการณ์อย่างนั้นผู้นำทหารไม่ต้องการ รัฐประหารรอบนี้มีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก

เพราะฉะนั้นบทบาทของทหารเราถึงเห็นการปรับบทบาท วันนี้ทหารจากกลายเป็นคนที่กลัวว่าจะยึดอำนาจ ผู้นำทหารกลับเล่นบทบาทเป็นเหมือนผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุยระหว่าง สองฝ่าย

- หรือที่กองทัพอยู่เฉย เพราะตัวผู้นำกองทัพไม่อยากมีแผลทางการเมือง

อย่างที่อธิบายว่า ส่วนสำคัญหลังปราบเสื้อแดง บทเรียนหลังรัฐประหารปี 2549 ทหารยังตัดตัวเองออกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์หรือออกจากความเป็นจำเลยไม่ได้ และเชื่อว่าวันนี้ไม่มีผู้นำคนไหนอยากตกที่นั่งเป็นจำเลยรอบใหม่

- ในอดีตแม้ทหารไม่ออกมาปฏิวัติ แต่ก็อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล วันนี้การทำเช่นนั้นยังทำได้อยู่หรือไม่

ผมคิดว่ามันเปลี่ยน จุดเปลี่ยนจุดหนึ่งในวิกฤตขนาดใหญ่รอบนี้ที่เห็น คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันไม่ล้มลงทันที ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรอบนี้ล้มลงทันที แน่นอนมันจะเกิดอาการที่ทหารอาจเข้ามา ไม่ใช่เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา แต่อาจกลายเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลหลังฉาก แต่รอบนี้ไม่ใช่...

- การวางตัวทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.อนุพงษ์แตกต่างกันไหม

บุคลิกอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญคือสถานการณ์การเมือง 2 ช่วงไม่เหมือนกัน และ พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่กันยายน 2549 มันผ่านเหตุการณ์ใหญ่หลายอย่าง และเชื่อว่ามีการปรับตัวของผู้นำทหารที่จะเรียนรู้ว่าสุดท้ายกองทัพมีข้อ จำกัดทางการเมือง

- แปลว่าในห้วงความขัดแย้งตลอด 7 ปี ทหารปรับตัวได้พอสมควร

เราอย่ามองทหารหยุดนิ่ง ผู้นำทหารไม่คิดหรืออยู่ในโลกเดิม ๆ ก็ไม่ใช่ วันนี้ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าโลกของทหารกับโลกของพลเรือนไม่ห่างไกลกัน มันถูกครอบด้วยกระแสใหญ่กระแสเดียวกัน คือ กระแสโลกาภิวัตน์ เพราะฉะนั้นตัวแบบของการเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกร้องให้เกิดกระบวนการการเลือกตั้ง หรือเป็นการเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยทั้งสิ้น แทบไม่มีประเทศไหนเลยในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เรียกร้องไปสู่ระบอบอำนาจนิยม

- วันนี้เห็นธงเลือกตั้งอยู่ข้างหน้า ถ้าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกฯ สถานการณ์อาจวุ่นอีก ถึงเวลานั้นกองทัพจะอยู่อย่างไร

ต้องดูว่าจากนี้ไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ.จะเกิดอะไรขึ้นมากกว่านี้หรือไม่ ไม่มีใครเดาได้ แต่ถ้า กปปส.เชื่อว่าวันนี้ตัวเองมีฐานมวลชนขนาดใหญ่สนับสนุนทำไมไม่ตั้งพรรค กปปส. แล้วอาศัยฐานมวลชนขนาดใหญ่ให้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งสู้กับพรรคเพื่อไทย ถ้าตัวเชื่อว่ามีฐานมวลชนที่ใหญ่กว่า ถ้าไม่เช่นนั้นการเมืองไม่มีทางจบ

- ณ วันนี้เราก็ยังไม่สามารถมั่นใจกองทัพได้ว่าจะออกหรือไม่ออกมาปฏิวัติ

ผมคิดว่าอย่างน้อยเรามั่นใจในสถานะที่เห็นว่าทหารยังไม่เข้ามา และหวังว่าจะไม่เกิดความรุนแรงจนเกิดเทียบเชิญให้ทหารเข้ามา

- มีโอกาสอีกไหมที่ทหารออกมานั่งเรียงหน้าจอทีวีแล้วบอกว่า "ถ้าเป็นรัฐบาลลาออกไปนานแล้ว" เหมือนที่ พล.อ.อนุพงษ์เคยทำ

ยังหวังว่าจะไม่ไปสู่จุดนั้น เนื่องจากสถานะรัฐบาลยังอยู่ อย่าลืมว่าถ้าทหารตัดสินใจทำอย่างนั้น ทหารก็ต้องคิดถึงว่าผลสืบเนื่องในอนาคตคืออะไร ถ้าทหารเอารัฐบาลออก กลุ่ม กปปส.จะยอมให้ทหารตั้งรัฐบาลไหม หรือท้ายที่สุด กปปส.เองยืนยันว่าเขาต้องการตั้งรัฐบาลในแนวทางของเขา ทหารต้องเจอ 2 แนวรบ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่แน่ ๆ


(ที่มา)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1387425848 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น