มติชนวิเคราะห์ ...ไฟ"การเมือง"ลามข้ามปี รัฐบาล"ตั้งรับ"-ป.ป.ช."รุก" "แดง"เริ่มทนไม่ได้
ปี 2556 เป็นปีที่ประเทศไทยฟันฝ่าอุปสรรคมานานัปการ โดยเฉพาะประเด็นเสียวไส้อย่างความขัดแย้งในข้อพิพาทพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กรณีเขาพระวิหาร ที่ศาลโลกมีกำหนดตัดสินนั้น...หลายฝ่ายเกรงว่าจะก่อเกิดความวิบัติให้ไทยและกัมพูช
หากแต่ด้วยทีมงานฝ่ายไทยที่มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการต่อสู้คดีสามารถคลี่คลายความอึมครึมลงไป ด้วยการแจกแจงข้อต่อสู้ในชั้นศาล กระทั่งผู้พิพากษาศาลโลกยอมรับ
ผลการพิจารณาของศาลโลกจึงออกมาในลักษณะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ
ชายแดนกลับคืนสู่ความสงบ การค้าการขายเป็นไปตามปกติ ความบาดหมางระหว่างชาติลดน้อยถอยลงไป
แต่ขณะเดียวกัน การเมืองภายในประเทศไทยกลับปะทุขึ้นถึงระดับจุดเดือด !
เมื่อ พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากนิรโทษกรรมเฉพาะชาวบ้านให้กลายเป็นฉบับสุดซอย ...นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ทำให้ฟืนที่เคยเปียกกลับชุ่มโชกไปด้วยน้ำมัน และปะทุกลายเป็นม็อบจำนวนมากออกมาไล่ต้อนรัฐบาล จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายก็ไม่ยุติ เพราะม็อบในนาม กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขับเคลื่อน "เป่านกหวีด" ไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี กดดัน บีบคั้นจน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกับร้องไห้ และเปลี่ยนท่าทีจาก "ถอย" มาเป็นการ "ตั้งรับ"
"ตั้งรับ" ด้วยความเป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศว่าต้องทำเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตร
ความ ตั้งใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศเอาไว้นั้น อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้สะดวกนัก เพราะแม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลก็พยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีอัน เป็นไป...เลื่อนออกไปก่อน
ดังนั้น ความวุ่นวายจึงเริ่มต้นตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมยกขบวนเข้าปิดล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงไว้ กระทั่งต้องเปิดทางให้ผู้สมัครเข้าแจ้งความต่อ สน.ดินแดง เป็นหลักฐานว่ามาสมัครและหาทางจับสลากเลขหมายผู้สมัคร
ความ รุนแรงเพิ่มดีกรีขึ้นเมื่อ กลุ่ม คปท.เข้าล้อมสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง แทนกลุ่มม็อบราชดำเนิน และเปิดฉากบุกและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีต
ำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บกว่า 20 นาย ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บมากเป็นร้อย
มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนการนัดหมายจับสลากที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง รัฐบาลได้ทำหนังสือถึง กกต. ขอให้เปลี่ยนแปลงสถานที่จับสลากโดยประสานงานกับฝ่ายทหารเพื่อขอใช้สถานที่ ของกองทัพ แต่ กกต.ปฏิเสธ
สุดท้าย กกต. ประชุมกันและมีมติขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ออกไป
หากแต่รัฐบาลโดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงสวนกลับ
รัฐบาลไม่ยินยอม ... กกต.จึงมีมติอีกครั้ง เดินหน้าเลือกตั้งต่อไป
ขณะเดียวกัน ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวขององค์กรอิสระที่นัดหมายกำหนดการต้นเดือนมกราคม 2557 ...ลับดาบเตรียมลงทัณฑ์
นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงแจ้งข้อหา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา โดยเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอว่ามีผู้กระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 กรณีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จึงเรียกนายสมศักดิ์และนายนิคมมารับทราบข้อหาในวันที่ 10 มกราคม 2557
ส่วน ของ ส.ส.และ ส.ว. 381 คน ที่ถูกร้องในข้อหาเดียวกัน เพราะไปโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.จะสรุปสำนวนและมีมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 381 คน ในวันที่ 7 มกราคม 2557 ได้หรือไม่?
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ขยับเกี่ยวกับคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในช่วงเวลาเดียวกัน
น่าสังเกตว่า การขยับขององค์กรอิสระดังกล่าวล้วนมีผลสะเทือนต่อนักการเมือง พรรคการเมืองซีกรัฐบาล และกระทบต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ก่อเกิดเป็นกระแสข่าวตุลาการภิวัฒน์ขึ้นมาอีกครั้ง
จับตาแวดวงฝ่ายทหารต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง พบว่า ฝ่ายทหารพยายามวางตัวเป็นกลาง
การพบปะระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าผู้บัญชาการกองทัพไทย และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้รับการถ่ายทอดจากปากคำของนายสุเทพว่า "ทหารจะยืนข้างประเทศไทย"
การประกาศจุดยืน "เป็นกลาง" แม้จะทำให้รัฐบาลเบาใจลงไปบ้าง แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มผู้ชุมนุมก็นำไปอ้างว่า "ทหารไม่เข้าข้างรัฐบาล"
หน่วยงานที่ถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างหนักจึงเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับกองทัพ แม้ว่าภายหลังฝ่ายทหารนำโดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. จะจัดเวทีที่กองทัพไทยและเสนอให้ กปปส.แจกแจงวิธีที่ทำให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดขึ้นโดยสุจริต แต่นายสุเทพก็ยืนยันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากการรักษาการ
ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศ แล้วอ้างมาตรา 7 รัฐธรรมนูญปี 2550 มาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หากแต่วิธีการดังกล่าวรัฐบาลรับไม่ได้ และยังเดินหน้าให้ทุกฝ่ายไปเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
ขณะ เดียวกัน ได้บังเกิดกลุ่มชนชั้นนำบางส่วน ต้องการเห็นทุกอย่างยุติลง และสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาล จึงพยายามจะหาคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปประเทศ เพื่อถ่วงดุลข้อครหาว่า สภาปฏิรูปประเทศที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีคำสั่งแต่งตั้งนั้น "เอียงไปทางรัฐบาล"
กลุ่มคนดังกล่าวได้เสนอชื่อ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับการยอมรับให้เข้ามาทำหน้าที่อันหนักอึ้งนี้
ขณะที่ทุกอย่างกำลังเคว้งคว้าง กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมองว่า รัฐบาล "ตั้งรับ" มากเกินไป ปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ดำเนินการรุกครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุด นายสุเทพได้ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่หลังปีใหม่ที่จะถึง
ณ วันนี้ แม้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะบอกให้กลุ่มคนเสื้อแดงอดทน แต่เริ่มมีความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ออกอาการกระสับกระส่าย ร่ำๆ ว่าอยากจะระดมพล
การเมืองปี 2556 จึงลุกลามข้ามไปสู่ปี 2557 ทุกอย่างแลดูเลวร้ายลง เพราะคู่ขัดแย้งยังคุยกันไม่รู้เรื่อง
(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1388302521&grpid=01&catid=&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น