หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การเกลียด “คนต่าง” ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์

การเกลียด “คนต่าง” ไม่ใช่ธรรมชาติมนุษย์ 

 

 
ในสมัยโรมัน จักรพรรดิจะเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำก็ได้ ไม่มีใครคิดมาก คนไทยเองในอดีตก็ไม่เคยสนใจสีผิวหรือแสวงหาครีมที่ทำให้ผิวขาวขึ้นก่อนที่จะ มีค่านิยมเหยียดสีผิวเกิดขึ้นในระบบทุนนิยม 

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ความคิดกระแสหลักมักเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่มีวัฒนธรรม ศาสนา หรือภาษาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” โดยมีการอธิบายว่ามนุษย์ย่อมระแวงหรือเกลียดชังผู้ที่แตกต่าง พวกกระแสหลักเหล่านี้มองว่าความคิดเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติเป็นเรื่อง “ปกติ” โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างหรือคนจนที่ “ขาดการศึกษา” และถ้าจะแก้ปัญหานี้ต้องใช้การศึกษา เพื่อสอนให้คนใจกว้างเปิดรับความแตกต่าง
   
แต่ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยรองรับหรือสนับสนุนข้อเสนอนี้แต่อย่างใด ประวัติศาสตร์ทั่วโลกเป็นประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ท่ามกลางความหลากหลาย นั้นคือ “ธรรมชาติของมนุษย์” แต่บ่อยครั้ง ในยุคที่มีสังคมชนชั้น ประชาชนจะถูกสอนหรือปลุกระดมให้เกลียดชังดูถูก “คนต่าง” เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจในสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ย่อมต้องการให้เราหลงเชื่อว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน” เช่น “เราเป็นคนไทยด้วยกัน” ไม่ว่าเราจะเป็นคนจน คนรวย ลูกจ้าง นายจ้าง กรรมาชีพ นายทุน หรือนายพล

ในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว เรามองว่าต้องใช้ทัศนะทางชนชั้น เพื่อทำลายความคิดคับแคบของลัทธิชาตินิยม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างกรรมาชีพ หรือคนทำงาน ข้ามพรมแดน และความแตกต่างทางเชื้อชาติและสีผิว
   
แนวคิดเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์คนทำงาน ขัดแย้งกับผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ เพราะเป็นแนวคิดตามสูตร “แบ่งแยกเพื่อปกครอง” ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดตั้งในสหภาพแรงงาน ถ้าคนงานเชื้อชาติต่างกันไม่ยอมร่วมมือกันในสหภาพแรงงาน ผู้ที่ได้ประโยชน์มีฝ่ายเดียวเท่านั้นคือนายทุน และในภูมิภาคที่มีกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติสูง ค่าแรงและสภาพการจ้างงานของคนทำงานทุกคน มักแย่กว่าในที่ที่มีความสามัคคี ตัวอย่างที่ดีคือในรัฐทางใต้ของสหรัฐ ในไอร์แลนด์เหนือ หรือแม้แต่ในไทย


   
การที่มนุษย์คิดว่าตนเป็นพลเมืองชาติอะไร เป็นคนเชื้อชาติใด หรือมีสีผิวแบบไหน เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคมชนชั้น โดยเฉพาะระบบทุนนิยม เพราะก่อนยุคทุนนิยมไม่มีรัฐชาติ จึงไม่มีลัทธิชาตินิยม ในอดีตคนอยุธยาหรือลพบุรีจะไม่มองว่าตนเองเป็น “คนไทย” ในอยุธยาเองก็มีการใช้หลายๆ ภาษาพร้อมกัน เจ้าหน้าที่รัฐอยุธยามีทั้งคนไทย คนอิหร่าน คนมาเลย์ คนจีน และคนญี่ปุ่น ทหารที่ปกป้องอยุธยาก็เป็นคนไทยปนกับคนอื่นๆ เช่นคนปอร์ตุเกสเป็นต้น
   
ในสมัยโรมัน จักรพรรดิจะเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำก็ได้ ไม่มีใครคิดมาก คนไทยเองในอดีตก็ไม่เคยสนใจสีผิวหรือแสวงหาครีมที่ทำให้ผิวขาวขึ้นก่อนที่จะ มีค่านิยมเหยียดสีผิวเกิดขึ้นในระบบทุนนิยม
   
ค่านิยมเหยียดสีผิวเกิดจากการใช้แรงงานทาสผิวดำจากทวีปอัฟริกาในช่วงต้นๆ ของระบบทุนนิยมตะวันตก ความร่ำรวยจำนวนมากในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มาจากระบบทาส ซึ่งเป็นระบบที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความคิดเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นสมัยนั้น นักปรัชญายุค “แสงสว่าง” อาจนั่งดื่มกาแฟและพูดคุยเรื่องเสรีภาพในยุโรป แต่กาแฟ และน้ำตาลที่เขาดื่ม หรือบุหรี่ที่เขาสูบ ล้วนแต่มาจากแรงงานบังคับของทาสผิวดำทั้งสิ้น
   
ในศตวรรษที่ 18 คาดว่ามีการขนทาสจากอัฟริกาไปที่เกาะต่างๆ ในคาริเบี้ยน 1.6 ล้านคน แต่ในยุคปลายศตวรรษมีทาสผิวดำอาศัยอยู่แค่ 6 แสนคน จำนวนที่ลดลงมาจากการล้มตายในสภาพป่าเถื่อนที่สุดในไร่อ้อย และการที่คนค้าทาสมองว่าถ้าทาสหนึ่งในสิบล้มตายขณะที่ขนส่งมาทางเรือ “ก็ไม่ขาดทุน” ในอเมริกาแผ่นดินใหญ่สภาพความเป็นอยู่ของทาสดีกว่าบ้าง แต่ก็ล้มตายจำนวนมากเช่นกัน
   
ก่อนศตวรรษที่ 18 ทาสส่วนใหญ่ในโลกไม่ใช่คนผิวดำ และคำว่า slave (ทาส) ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่าเชื้อชาติ “สลาฟ” ในยุโรปกลาง ในขั้นตอนแรกของการบุกเบิกทวีปอเมริกามีการใช้แรงงานเกษตรพันธสัญญาจากยุโรป ที่ต้องทำงานฟรีหลายปี เพื่อคืนเงินค่าเดินทาง แต่ระบบนี้สร้างแรงงานน้อยเกินไป จึงมีการหันมาใช้แรงงานทาสผิวดำที่ถูกจับในทวีปอัฟริกาโดยหัวหน้าเผ่าพื้น เมือง เพื่อขายต่อไปยังพ่อค้าทาสจากยุโรป
   
ในอดีตมนุษย์ไม่เคยให้ความสำคัญกับสีผิว ในอียิปต์หรือโรมคนสีผิวแตกต่างกันมีทั่วไปในทุกระดับของสังคม และในทวีปอเมริกาช่วงแรกๆ มีการสามัคคีกันระหว่างทาสผิวดำและแรงงานพันธสัญญาผิวขาว เพื่อกบฏหรือต่อรองกับเจ้านาย ดังนั้นเริ่มมีการออกกฏไม่ให้คนผิวขาวคบค้าสมาคมกับคนผิวดำ แต่สำคัญกว่านั้นคือข้อแก้ตัวที่นักคิดและนักธุรกิจใช้ เพื่อสร้างความชอบธรรมกับระบบทาส


ข้อแก้ตัวอันแรกคือการมองว่าทาสเป็นแค่ทรัพย์ สมบัติปัจเจก ดังนั้นคนที่สนับสนุนสิทธิในทรัพย์สมบัติ อย่าง จอห์น ลอค ซึ่งถือหุ้นในบริษัที่ได้ประโยชน์จากการค้าทาส จะมองว่าระบบทาส “ไม่ผิดศีลธรรม”    
   
ข้อแก้ตัวที่สอง คือการเสนอว่าคนผิวดำ “ไม่ใช่มนุษย์” ดังนั้นอุดมการณ์ความเท่าเทียมของมนุษย์ หรือความคิดศาสนาคริสต์ “ไม่ขัดแย้ง” กับระบบทาส นี่คือรากฐานกำเนิดของความคิดที่เหยียดสีผิวหรือเกลียดชังคนผิวคล้ำ และความคิดแบบนี้มีความสำคัญในการสร้างความแตกแยกระหว่างคนธรรมดาผิวขาวกับ คนผิวดำ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อไม่ให้คนชั้นล่างสามัคคีและร่วมต่อสู้กับคน ชั้นบน เพราะมีหลายกรณีที่คนผิวขาวธรรมดาพยายามช่วยทาสที่หนีเจ้านาย
   
ถ้าเราเข้าใจที่มาของลัทธิเกลียดชัง “ผิวคล้ำ” เราจะเข้าใจว่าคนไทยที่ไม่ชอบผิวคล้ำๆ ของตนเอง หรือเหยียดคนอัฟริกาเพราะเหตุว่าผิวดำ เป็นคนที่ตกเป็นทาสทางความคิดของกระแสล้าหลังจากตะวันตก
   
ในยุคสมัยนี้ การปลุกระดมให้คนรักชาติและเกลียดชังคนต่างชาติหรือคนต่างสีผิว เป็นวิธีที่จะกล่อมเกลาให้ประชาชนจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง และการสอนให้คนไทยเกลียดคนพม่า สอนให้คนพม่าที่เป็นพุทธเกลียดคนมุสลิม หรือการสอนให้คนผิวขาวเกลียดคนผิวดำ เป็นวิธีแบ่งแยกชนชั้นกรรมาชีพไม่ให้สามัคคีกันเพื่อต่อสู้กับนายทุนอย่างมี ประสิทธิภาพ การสร้างกระแสเกลียดชังศาสนาอิสลามในตะวันตกก็เป็นเครื่องมือของชนชั้น ปกครองเช่นกัน เพื่อแสวงหาความชอบธรรมกับสงครามช่วงชิงน้ำมัน การสร้างกระแสเกลียดชังคนเขมรก็มีประโยชน์กับพวกเสื้อเหลืองไทย เพราะเบี่ยงเบนการทำลายประชาธิปไตยของอำมาตย์ หรืออาจกลายเป็นนิยายที่เสนอว่าทหารไทย “ไม่มีวัน” ฆ่าประชาชนไทยที่เป็นเสื้อแดง ดังนั้นคงต้องมีการจ้างทหารเขมรมาแทนเป็นต้น
   
ชาตินิยมไทยเป็นลัทธิการเมืองของพวกเจ้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะกษัตริย์ช่วงนั้นแปรตัวเป็นผู้นำรัฐชาติทุนนิยมไทยเพื่อแข่งกับ จักรวรรดินิยมตะวันตก ในความจริง “คนไทย” ส่วนใหญ่ถูกล่ามาขึ้นกับอาณานิคมโดยผู้ปกครองกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นชาวอิสาน ชาวใต้หรือชาวล้านนา ดังนั้นลัทธิชาตินิยมไทย เป็นความคิดปฏิกิริยาล้วนๆ   มันไม่มีองค์ประกอบของการต่อสู้เพื่อ “อิสรภาพ” ของประชาชนเหมือนในกรณีอินโดนีเซียหรือเวียดนามเลย ข้อยกเว้นในเรื่องนี้ คือชาตินิยมของคณะราษฏร์ หลัง ๒๔๗๕ ในช่วงสั้นๆ ก่อนการขึ้นมาของจอมพล ป. ซึ่งพยายามเน้นผลประโยชน์ของคนชั้นล่างด้วย เพราะก่อน ๒๔๗๕ ในยุคกษัตริย์ รัฐบาลยินยอมยกสิทธิพิเศษในไทยให้กับมหาอำนาจตะวันตก
   
ที่ร้ายกว่านั้น ฝ่ายซ้ายไทย โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเอ็นจีโอและแม้แต่ขบวนการเสื้อแดง มักประนีประนอมหรือพยายามใช้ชาตินิยมด้วย ทั้งนี้เพราะหลงเชื่อว่าคนไทยทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในกรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การใช้แนวชาตินิยมไทย มาจากการวิเคราะห์สังคมไทยในทางที่ผิดพลาด ตามแนวลัทธิเหมาซึ่งเสนอว่าประเทศไทยเป็น “กึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐ” และ “กึ่งศักดินา” ทั้งๆ ที่ชนชั้นปกครองไทยคุมอำนาจในบ้านเมืองและศักดินาไทยถูกปฏิวัติยกเลิกไป เมื่อรัชกาลที่ ๕ สร้างรัฐใหม่ในระบบทุนนิยม
   
แน่นอนในระบบรัฐของโลกสมัยใหม่ มีรัฐใหญ่ มหาอำนาจ ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและทหารมากกว่ารัฐเล็กๆ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐเล็กๆ ตกเป็นกึ่งเมืองขึ้น มันเป็นลักษณะของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างหาก ถ้าในไทยสมัย ๖ ตุลา มีการเน้นว่าสหรัฐเป็นศัตรูหลัก แทนที่จะมองว่านายทุนไทยเป็นศัตรูหลัก มันเปิดทางให้พรรคคอมมิวนิสต์ทำแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตรลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ที่ลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้นลง ความคิดแบบนี้วิวัฒนาการมาสู่ขบวนการเสื้อแดง นปช. ที่ทำแนวร่วมกับทักษิณและนายทุนในพรรคเพื่อไทย โดยพยายามอ้างว่าเผด็จการทหารเป็นเผด็จการ “กึ่งศักดินา” อย่าลืมว่า อ. ธิดา และหมอเหวง มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต
   
ดังนั้นในไทย เมื่อทั้งชนชั้นปกครองและฝ่ายภาคประชาชนที่คัดค้านชนชั้นปกครองต่างใช้ลัทธิ ชาตินิยม เกือบจะไม่มีการท้าทายลัทธิชาตินิยมเลย ซึ่งช่วยการผูกขาดของลัทธิชาตินิยมชนชั้นปกครองเท่านั้นเอง ไม่เหมือนในประเทศเกาหลีใต้ ประเทศในยุโรปหรือ ญี่ปุ่น ซึ่งมีการมองว่าธงชาติ เพลงชาติ หรือลัทธิชาตินิยม เป็นความคิดของฝ่ายขวาและผู้ที่กดขี่ประชาชน ซึ่งฝ่ายซ้ายจะต้องปฏิเสธต่อต้าน
   
ชาตินิยมทำให้ “ความเป็นไทย” คับแคบและปฏิกิริยา ทำให้มีการมองว่าคนมุสลิม ไม่ใช่ไทย ดังนั้นคนที่ไม่ใช่ไทยไม่ใช่คน ซึ่งปูทางไปสู่อาชญากรรมของรัฐในภาคใต้ เช่นที่ตากใบ หรือนำไปสู่กรณี ๖ ตุลา ที่มีการอ้างว่าคอมมิวนิสต์ไม่ใช่คนไทย และนอกจากนี้มันนำไปสู่การกดขี่ดูถูกคน พม่า  ลาว  เขมร  เวียดนาม หรือคนชาติพันธ์บนดอย
   
บางครั้งหน้ากากชาตินิยมที่สร้างภาพลวงตาว่า “เราเป็นคนไทยด้วยกัน” เริ่มหลุด ตัวอย่างที่ดีคือตอนที่พวกสลิ่มด่าเสื้อแดงว่าเป็น “คนอีสานโง่ที่ชอบกินปลาร้า” ซึ่งทำให้เราเห็นว่าการต่อสู้ที่ท้าทายอำนาจเบื้องบน มักท้าทายลัทธิชาตินิยมได้บ้าง แต่ถ้าองค์กรนำไม่ใช้ประเด็นนี้เพื่อลดอิทธิพลของความคิดล้าหลัง มันก็จะไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาว

การต่อสู้เพื่อสังคมใหม่หรือเพื่อสังคมนิยม ต้องอาศัยการรณรงค์ต่อต้านความคิดชาตินิยมหรือความคิดเหยียดสีผิวหรือเชื้อ ชาติเสมอ เราจะไม่มองว่าคนผิวดำน่าเกลียดกว่าคนผิวขาวแต่อย่างใด และเราจะไม่นิยมใช้คำที่ดูถูกเชื้อชาติของคนอื่น เช่น “เจ๊ก” “แขก” “แม้ว” “ญวน” “ไอ้มืด” หรือแม้แต่ “ฝรั่ง” คำว่า “ฝรั่ง” มาจากคำว่า “แฟรงค์” ที่ชาวมุสลิมเคยใช้เรียกคนคริสต์จากยุโรปที่เป็นศัตรูของเขาในสงครามครูเซท และมันไม่ต่างจากการเรียกคนไทย คนญี่ปุ่น หรือคนจีนว่า “ไอ้ตาตี๋” โดยพวกเหยียดเชื้อชาติในตะวันตก
   
(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2013/09/blog-post_843.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น