หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

โศกนาฏกรรมของสังคมที่ไร้ซึ่งการอ่าน

โศกนาฏกรรมของสังคมที่ไร้ซึ่งการอ่าน




ถ้ามีคนถามฉันว่าด้วยเหตุใดสังคมไทยจึงเน่าฟอนเฟะจนยากจะเยียวยาถึงเพียงนี้ ฉันจะตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่าเพราะสังคมไทยนั้นไร้ซึ่งวัฒนธรรมของการอ่าน...
 
“นายไม่อ่านหนังสือ แล้วนายจะรู้อะไร”

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี 

โดย รัฐพล เพชรบดี


‘การอ่าน’ ที่ดีและจริงจังนั้นสำคัญยิ่งนัก แต่น่าเศร้าใจที่คนไทยส่วนมากหาได้รู้และเข้าใจลึกซึ้งในพลังของสิ่งที่ว่า เอาล่ะ ถึงแม้ว่ารัฐบาลบางรัฐบาลจะมีแคมเปญรณรงค์เรื่องการอ่านอยู่บ้าง แต่นั่นเป็นเพราะเขาทำไปด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความเขลา ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บอกให้คนอ่านหนังสือ จะให้เขาอ่านอะไร ใครจะอ่าน แค่เรื่องเรียนเรื่องทำงานก็ปวดหัวจะตายอยู่แล้ว คำถามอะไรต่อมิอะไรในองคาพยพตามมาเต็มไปหมด ไม่อ่านมันเลยก็แล้วกัน


มีนัยยะอะไรหลายต่อหลายอย่างที่บอกว่าคนในประเทศเรายังมองเรื่องของการ อ่านเป็นเพียงสภาวะเงื่อนไข (กล่าวคือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อ่าน) สภาวะดังกล่าวอันตรายยิ่งนัก เนื่องจากสภาวะโดยตัวมันเองนั้นมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของการครุ่นคิดหรือ การพิจารณาดำริตริตรองโดยตรง พูดอย่างพื้นฐานก็คือ เมื่อไม่อ่านแล้วก็ไม่ได้คิด เมื่อไม่ได้คิดแล้วก็จะไม่มีการพินิจพิจารณา ซึ่งก็คือการไตร่ตรองหรือใคร่ครวญต่อเรื่องหนึ่งๆ (อย่างลึกซึ้ง) นั่นเอง ที่สามารถนำพาเราหลุดจากอวิชชาหรือวาทกรรมจอมปลอมที่สังคมล้วน (ตั้งใจ) สร้างขึ้นมาเองได้ สังคมไทยไม่มีการปลูกฝังที่ดีตรงจุดนี้ เราถูกทำให้มองว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องสารัตถะและความหมายของชีวิต หากทว่าเป็นเพียงเรื่องของการเรียน เรื่องของนักวิชาการ ในขณะเดียวกันมันก็ช่างดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวจากการใช้ชีวิตแบบเฮฮาปาร์ตี้ ลุ่มๆ ดอนๆ ไร้สาระของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเสียเหลือเกิน สรุปสั้นๆ เรามองว่าการอ่านไม่มีความจำเป็นอะไรเลย ทั้งต่อการมองโลก และต่อความหมายของชีวิต

เมื่อไม่อ่าน ก็แน่นอนว่าปัญหาที่ดูไม่เข้าท่าเข้าทางต่างๆ ในสังคมก็จะเทประดังเข้ามาราวกับพายุ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องที่ว่า ฉันขออธิบายเสียก่อนว่าการอ่านนั้นมีสภาวะพิกลพิการอย่างไรในสังคมไทย เนื่องจากบางท่านอาจจะฉงนฉงายว่าหลายๆ คนก็อ่านหนังสือ ท่านก็อ่านหนังสือ แล้วจะบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไร้ซึ่งการอ่านได้อย่างไร

แต่ประเด็นของเรื่องอยู่ที่ว่าเราเข้าใจปรัชญาหรือแก่นสารของการอ่านผิด มาตลอด (กล่าวคือวัฒนธรรมกับความหมายที่แท้ของการอ่าน) ต่างหาก เศษตะกอนทางประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกส่งผลให้เราเห็นว่าการอ่านหาได้เคย เกี่ยวพันอะไรเลยกับวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนในสังคมไทย (แม้แต่คนกรุง) ความหมายของการอ่านส่วนใหญ่เป็นไปในแนวยกตนข่มท่าน เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งประโยชน์เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทางใดทางหนึ่ง เป็นเรื่องของชนชั้นศักดินา เป็นเรื่องวาทกรรมอำนาจของนักเรียนนักศึกษาที่สอบได้คะแนนสูงกว่า เป็นเรื่องของลำดับศักดิ์มหาวิทยาลัยและคณะที่โด่งดัง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่างเป็นเรื่องที่ตื้นเขินและโง่ เง่าเสียเหลือเกิน การเรียนเป็นเพียงเศษเสี้ยว (ธุลี) หนึ่งในจักรวาลของการอ่าน และการอ่านที่แท้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลยกับมาตรฐานการวัดความรู้ในทาง โลกและวิถีชีวิต  เท่าที่สังเกต เมื่อจบการศึกษา ผู้คนก็แทบจะไม่ได้แตะหนังสือหนังหากันแล้ว หรือถ้าจะได้หยิบจับบ้าง ก็คงจะเป็นหนังสือที่ทำให้คนโง่ลง (กล่าวคือไร้สาระ) หนังสือดาดๆ ตามกระแส หรือหนังสือที่เน้นเชิงผลลัพธ์ (เช่น ทำอย่างไรให้รวย) หรือสนองความศรัทธาบางอย่าง (เช่น ตระกูลไสยทั้งหลาย) เสียส่วนใหญ่ ขอโทษ ฉันไม่ขอนับกรณีที่ว่าเป็นเรื่องของการอ่านก็แล้วกัน

เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทุกอย่างที่กำลังดำเนินไปก็จะมีค่าเท่ากับศูนย์ การอ่านกับวิถีไทยๆ จึงเปรียบได้ดั่งเส้นคู่ขนานที่ไม่มีวันจะมาบรรจบพบกัน อย่างที่กล่าว แม้รัฐบาลบางชุดจะมีการรณรงค์เรื่องการอ่านอยู่บ้าง (เพราะไม่รณรงค์ก็คงไม่ได้ เราก็พอจะทราบกันดีอยู่ว่าคนไทยอ่านหนังสือกี่บรรทัดต่อปี) แต่คำถามคือเพียงแค่นั้นจะพอหรอกหรือ คำตอบคือไม่พอ ในเมื่อการอ่าน (เอาแค่ไม่ต้องมาก) นั้นก็ไม่เคยแม้แต่จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ในอณูวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดคือ รัฐบาลต้องผลักดันเรื่องดังกล่าวให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ต้องทำให้เป็นเรื่องอึกทึกครึกโครม ใหญ่โตมโหฬารแบบที่คนทั่วประเทศจะต้องมาสนใจฟัง ฉันแน่ใจว่ามันจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ (ไปในทางที่ดีขึ้นมาก) ทีเดียว ถ้าฉันเริ่มเห็นผู้คนเดินออกจากบ้าน หรือแม้แต่จะไปไหนก็ตามโดยมีวรรณกรรมหรือหนังสือดีๆ สักเล่มสองเล่มติดตัวไปไหนด้วยตลอดเวลา และที่สำคัญสามารถห่างจากไอโมบายได้สักสิบถึงสิบห้านาที

กลับมาตรงปัญหาที่ค้างไว้ เมื่อไม่อ่านแล้วจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น? คงไม่จำเป็นที่จะต้องตอบคำถามนี้กระมัง เนื่องจากสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน (ในระดับโครงสร้าง) ก็สามารถตอบได้โดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ขยายความเพิ่มออกไปอีกสักหน่อย ก็คงจะต้องบอกว่าความฉิบหาย (กล่าวคือความไม่เจริญ) และความอนารยะ (กล่าวคือความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน) ก็จะยังคงอยู่เป็นเพื่อนกอดคอสังคมไทยไปเรื่อยๆ ตราบนานเท่านาน นานเท่ากับความไม่รู้ของคนหยิ่งผยองอวดฉลาด คนที่มีมิติในการมองโลกและมนุษย์แบบตื้นเขิน ไม่ขาด ซึ่งมีเพียงการศึกษาและดีกรีปริญญา แต่ไม่อ่านหนังสือ...

อ่านหนังสือกันอย่างจริงจังเถิดครับ...

(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2014/01/51500   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น