หน้าเว็บ

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

รู้ทันการปฏิรูปของพวกปฏิกูลการเมือง

รู้ทันการปฏิรูปของพวกปฏิกูลการเมือง
 

 
โดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลด้วยมาตรการปิดกรุงเทพ กดดันให้รัฐบาลรักษาการณ์ลาออก ล้มการเลือกตั้ง แล้วแต่งตั้งสภาประชาชนทำการปฏิรูปประเทศไทย ที่เชื่อกันเป็นวรรคเป็นเวรว่าประเทศไทยมันจะสะอาดสะอ้าน ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นโดยสิ้นเชิง ภายในเวลาไม่กี่เดือน การปฏิรูปกลายเป็นกระแสขยายวงอย่างกว้างขวาง แม้แต่พวกโจรปล้นชาติใส่สูท และพวกดอกเตอร์วิปริตยังออกมาชูคอโก่งเรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง โดยที่สังคมส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่าจะมีใครบ้างเป็นผู้ทำการปฏิรูป จะปฏิรูปเรื่องอะไรกันแน่ และจะปฏิรูปกันอย่างไร

การปฏิรูป (Reformation) หมายถึงการปรับปรุงให้เหมาะสม ให้ดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป การปฏิรูปเป็นได้ทั้งในแง่...หนึ่ง การนำภูมิปัญญา หรือความรู้ในอดีตมาฟื้นฟูปรับใช้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน ดังเช่น กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน นำความรู้เรื่องเกษตรผสมผสาน เกษตรทางเลือก เป็นแนวทางการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมระหว่างปี 2525 – 2535 เป็นต้น สอง...เป็นการนำวิทยาการความรู้สมัยใหม่จากโลกภายนอก มาปรับใช้ในสังคมไทย ทั้งในด้านเทคโนโลยี วิถีชีวิต สิทธิเสรีภาพ ดังเช่น การผลักดันให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรจุในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น

การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบทีละส่วน ทีละจุด อาจเริ่มจากการปฏิรูป เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิวัติ (Revolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมทั้งหมด แล้วสถาปนาสังคมใหม่ หรือระบอบการปกครองแบบใหม่ เช่น เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) หรือ เป็นแบบสังคมนิยมเข้ามาแทนที่ระบอบการปกครองแบบเก่า ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ส่วนการปฏิรูปเป็นความยินดีและเป็นการเห็นพ้องต้องกันของ
ทุกฝ่าย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ อาจใช้เวลายาวนาน หรือสั้นก็ได้ ขณะที่การปฏิวัติมักต้องใช้กำลังบีบบังคับ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมทั้งหมด หลายประเทศมักเกิดสงครามสู่รบกันยืดเยื้อยาวนาน

ข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย (กปปส.) เป็นเพียงวาระซ่อนเร้น ไม่ได้ปรารถนาการปฏิรูปที่แท้จริงแต่อย่างใด เพราะแกนนำ กปปส. มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล้มเหลวในการปฏิรูปตนเองตามข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร ตลอดระยะเวลา 60 ปีของพรรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่เคยปรากฏการปฏิรูปอย่างจริงจังมาก่อน และยังปรากฏอีกว่า เป็นพรรคการเมืองที่ขัดขวางการปฏิรูป ตัวอย่าง เช่น สมัยรัฐบาลนายชวน  หลีกภัย ประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองโดยเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร อดข้าวประท้วง ทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย มีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ทำข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างการเมืองไปยังรัฐบาลชน หลีกภัย ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ระหว่างนั้นพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการกระจายอำนาจ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนต้องถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต่อมารัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมือง จนรัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านความเห็นชอบในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตัวอย่างการปฏิรูปด้านแรงงานซึ่งนายนิคม จันทรวิทูร อดีตอธิบดีกรมแรงงานเสนอให้รัฐบาลนายชวนหลีกภัย จัดตั้งกองทุนประกันสังคมอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ มาประสบความสำเร็จในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เมื่อปี พ.ศ. 2533

แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมาจากการปฏิรูปการเมืองก็ถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำลายลงไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เช่นเดียวกันกับในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากฆ่าประชาชนตายไป 100 ศพอย่างโหดเหี้ยมในปี 2553 ได้จัดตั้งสมัชชาปฏิรูปประเทศ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน กำหนดเวลาการทำงาน 3 ปี ระหว่างนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จะนำมาซึ่งการปฏิรูป หรือเมื่อเป็นฝ่ายค้านแล้วก็ไม่ได้นำข้อเสนอของสมัชชาปฏิรูปประเทศมาผลักดันให้เป็นจริง

พอมาถึงตอนนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. ซึ่งกำลังเรียกร้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอย่างเอาเป็น เอาตาย แต่กลับไม่ได้นำข้อเสนอสมัชชาปฏิรูปของ นพ.ประเวศ วะสี ที่เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สังคม และการจัดสรรทรัพยากรมาผลักดันให้เป็นจริง

การปฏิรูปของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเป็นรูปธรรมใด ๆ เป็นเพียงข้อเสนออย่างกว้างแบบกำปั้นทุบดิน เช่น เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ขจัดทุจริตคอรัปชั่น ปฏิรูปตำรวจ การศึกษา ดังนั้นการปฏิรูปของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเป็นเพียงวาทะกรรมซ่อนเร้นที่มีเป้าหมายจริงอยู่ที่การแย่งชิงอำนาจการเมือง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อ้างว่าการชุมนุมครั้งนี้คือ การปฏิวัติประชาชน แต่กลับไม่ได้นำเสนออุดมการณ์ใหม่ หรือระบอบการปกครองแบบใหม่แต่อย่างใด กปปส. ยังยืนยันด้วยว่า เป็นการต่อสู้ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังคงยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้แตกต่างไปจากระบอบทักษิณ ที่นายสุเทพกำลังขับไล่อยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานแม้แต่น้อย ดังนั้น การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของ กปปส จึงไม่ใช่การปฏิวัติสังคม ไม่มีอะไรก้าวหน้าไปกว่าเดิมในทางกลับกันการต่อต้านการเลือกตั้งก็คือการไม่ยอมรับวิธีการประชาธิปไตย อันปรากฏชัดเจนจากคำพูดของแกนนำ กปปส. เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ พูดว่า “หลักการ 1 คน 1 เสียง ตามระบอบการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ในประเทศไทย หรือ คำพูดของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่ว่า “เสียงข้างน้อยที่มีคุณภาพย่อมดีกว่าเสียงข้างมากที่ไร้คุณภาพ” และ นางสาวจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า “คนไทยจำนวนมากขาดความเข้าใจที่แท้จริงในเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท” ทัศนคติดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการดูถูกเหยียดหยามคนชนบทเท่านั้น แต่ไม่อาจยอมรับให้เป็นผู้นำการปฏิรูปให้สังคมก้าวหน้า และเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะการปฏิรูปต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น

ในความเป็นจริงมีข้อเรียกร้องที่เป็นการปฏิรูปจากภาคประชาชน อาทิเช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน การปฏิรูปภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อรัฐสวัสดิการ การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชนและที่ทำงาน การปฏิรูปการศึกษาและสาธารณสุข การกระจายอำนาจให้ชุมชนและท้องถิ่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีระบบลูกขุนพิจารณาอรรถคดี การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การตั้งนครรัฐเพื่อการปกครองตนเองในสามจังหวัดภาคใต้ ฯลฯ

การปฏิรูปเหล่านี้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมาจากประชาชน แต่นายสุเทพเทือกสุบรรณ และ กปปส. ไม่ได้นำมาผลักดันเป็นข้อเรียกร้องแต่อย่างใด การปฏิรูปของนายสุเทพ จึงเป็นเพียงข้ออ้างปลุกระดมประชาชน และก่อความวุ่นวายเพื่อแย่งชิงอำนาจและปล้นบ้านกินเมือง

งาช้างไม่งอกจากปากสุนัขฉันท์ใด การปฏิรูปไม่อาจงอกมาจากพวกปฏิกูลการเมืองที่กำลังปิดกรุงเทพ นำความหายนะมาสู่สังคมไทยในขณะนี้

(ที่มา)
การ ปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบทีละส่วน ทีละจุด อาจเริ่มจากการปฏิรูป เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิวัติ (Revolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมทั้งหมด แล้วสถาปนาสังคมใหม่ หรือระบอบการปกครองแบบใหม่ เช่น เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) หรือ เป็นแบบสังคมนิยมเข้ามาแทนที่ระบอบการปกครองแบบเก่า ดังเช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 - See more at: http://blogazine.in.th/blogs/somyot-redpower/post/4567#sthash.NsFVLHVy.dp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น