หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

สิทธิ(ที่จะมีชีวิตใน)เมือง ท่ามกลางสงครามการผลิตพื้นที่

สิทธิ(ที่จะมีชีวิตใน)เมือง ท่ามกลางสงครามการผลิตพื้นที่




โดย อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในห้วงเวลาของการนับถอยหลังไปสู่การ "ปิดกรุงเทพฯ" ในวันที่ 13 มกราคม ที่จะมาถึงนี้ ผมก็อยากจะมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์เรื่องราวของการปิดกรุงเทพฯในหลายมิติ สักหน่อยที่แตกต่างไปจาก "คำอธิบายที่เป็นทางการ" ของฝ่ายผู้รณรงค์การปิดกรุงเทพฯเอง

ในมิติแรก การปิดกรุงเทพฯนั้นก็เป็นเรื่องของ "สงครามของความภักดี" ว่าตกลงจะภักดีกับ "รัฐบาล" หรือ ระบอบทักษิณ ในด้านหนึ่ง หรือจะภักดีกับ "ระบอบสุเทพ" หรือคำอื่นๆ เช่น มวลมหาประชาชน และ การปฏิวัตินกหวีด

การรณรงค์ใน เรื่องนี้ในทางหนึ่งอ้างว่าเป็นเรื่องที่กระทำได้ หากเป็นเรื่องของการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และจะต้องเข้าสู่การตีความจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังมีการอ้างว่าได้รับการรับรองคุณภาพของความเป็นสันติวิธีจากบรรดา นักสันติวิธีบางท่าน ไม่ว่าที่ผ่านมาจะตายกันไปกี่ศพ บาดเจ็บไปแล้วกี่ราย หรือจะมีความรุนแรงที่กระทบจิตใจไปแล้วเท่าไหร่ก็ตาม

ที่สำคัญก็คือ เมื่อสังคมไทยอยู่ในตรรกะที่ว่าผู้ชนะคือผู้กำหนดเกมส์ การกระทำใดๆ ที่จะนำไปสู่ชัยชนะก็จะทำให้มีแรงผลักดันในส่วนลึกว่าจงมุ่งมั่นที่จะกระทำ ให้สำเร็จเถิด (วาทกรรมแบบทุบหม้อข้าว หรือ สู้ไม่ถอย ก็น่าจะมาจากเรื่องแบบนี้นี่แหละครับ)

คำถามเรื่องของสงครามความ ภักดีนี้เป็นเรื่องที่ "ยิ่งใหญ่" จริงๆ ตามการกล่าวอ้างหรือไม่? หรือว่าคำถามนี้ถูกทำให้ใหญ่ขึ้นทั้งที่ฐานคิดในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อาจ ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น?

กล่าวคือเรื่องการปิดกรุงเทพฯนั้นเป็นเรื่องของ ความยิ่งใหญ่ของการปิดกั้นหรือเชิญชวนด้วยเสียงนกหวีดและ(เสาธง) ให้เลิกให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งที่เป็นอยู่คือสถานการณ์ของการเลือกตั้งที่รัฐบาลเป็นเพียงผู้ รักษาการณ์? ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากอยู่ว่าการเชิญชวนให้เลิกภักดีต่อรัฐบาล และหันมาภักดีกับการปฏิวัตินกหวีดนั้นจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะในขณะนี้สิ่งที่เผชิญหน้ากับระบอบการปฏิวัตินกหวีดหรือระบอบสุเทพนั้น คือการเลือกตั้งที่อยู่ในมือขององค์กรอิสระและระบอบรัฐธรรมนูญ?(หรือนี่คือ เหตุผลจริงของการพยายามจูงใจให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญตัดสินไปในแนวทางที่พวก เขาต้องการไม่ว่าการตีความและตัดสินนั้นจะละเมิดเขตอำนาจขององค์กรตัวเองมาก ขึ้นทุกวันๆ?)


พูดง่ายๆก็คือเรากำลังเผชิญหน้ากันระหว่าง "มวลมหาประชาชน" ที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางที่ตนต้องการที่ถูกต้องหนึ่ง เดียว กับ "ประชาชน" ที่เข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อกำหนดชีวิตของพวกเขาท่ามกลางความหลากหลายทาง ความคิดที่สามารถสะท้อนออกมาในระดับหนึ่งจากสัดส่วนและกระบวนการเข้าสู่ อำนาจตามรัฐธรรมนูญ?
จริงหรือที่การปิดกรุงเทพฯ นั้นจะสามารถส่งสารว่าจะเกิดปรากฏการณ์"รัฐล้มเหลว" ในความหมายของ "รัฐบาลล้มเหลว" ทั้งที่สิ่งที่อาจจะเปิดขึ้นก็คือกระบวนการ "รัฐธรรมนูญและระบอบรัฐธรรมนูญล้มเหลว" หรือเปล่า? และถ้าใช่ก็หมายถึง "ระบอบองค์กรอิสระล้มเหลว" มิใช่หรือ?

ประการต่อมา การปิดกรุงเทพฯแล้วถามว่าประชาจะภักดีต่อระบอบสุเทพ หรือรัฐบาล นั้นอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากนึกถึงพื้นที่เล็กๆ สักแห่งในระดับตำบล ทั้งในแง่ตำบลชนบท หรือ ตำบลในเมือง ที่มีผู้มีอิทธิพลส่งลูกสมุนลงไปถามหาค่าคุ้มครองจากประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ใช้ชีวิตตามปกติ ที่ฝ่ายผู้มีอิทธิพลมองว่าเป็นการภักดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ภักดีต่อฝ่ายของตน ดังนั้น การแสดงออกถึงความภักดีที่มีต่อฝ่ายของตนนั้นย่อมจะต้องถูกกระทำขึ้นง่ายๆ เช่นไปทำให้ชีวิตปกตินั้นเกิดขึ้นไม่ได้


ในมิติที่สอง การยึดกรุงเทพฯนั้นถูกนำเสนอในเชิงพื้นที่อย่างน่าสนใจ ว่าพื้นที่ที่ต้องการปิด (แต่ปิดแบบไม่ปิดระบบขนส่งมวลชน และเปิดไว้หนึ่งเลนเพื่อการขนส่งและรองรับเหตุฉุกเฉิน นั้นเป็นพื้นที่ที่ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในกรุงเทพฯใน ปัจจุบัน และเป็นการทำให้พื้นที่เศรษฐกิจเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ซ้อนทับกับพื้นที่ทาง การเมือง)

เรื่องนี้เป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจว่าการเคลื่อนไหวทางการ เมืองจากในอดีตนั้นมุ่งเน้นที่ชุมนุมหน้าหน่วยงานหรือในพื้นที่อย่างถนนราช ดำเนินเป็นหลักมาสู่การตั้งประจันหน้าทางยุทธศาสตร์ใกล้สถานที่ราชการอย่าง เป็นระบบที่ยืดเยื้อยาวนาน เช่นแยกมัฆวานฯ และต่อมามุ่งสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจ

ในทางหนึ่งอาจมีการ สร้างแรงบันดาลใจจากการยึดครองถนนเศรษฐกิจอย่างเช่นพื้นที่ถนนวอลล์ใน นิวยอร์กเป็นต้นเพื่อเป็นการต่อสู้ทางสัญลักษณ์ต่อระบอบทุนนิยมโลกที่เลว ร้าย

นำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่าในกรณีของการปิดกรุงเทพฯ 20 จุด นั่นคือ แยกอุรุพงศ์ แยกเจริญผล หัวลำโพง ถนนบางรัก ถนนสีลม สามย่าน แยกพญาไท ราชเทวี อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สยามสแควร์ ห้าแยกลาดพร้าว ดินแดง ประตูน้ำ ราชประสงค์ สวนลุม คลองเตย สี่แยกอโศก ราชดำเนิน แยกเพชรบุรี และเยาวราช นั้นการปิดพื้นที่เหล่านี้ผู้ชุมนุมต้องการ "แสดงสัญลักษณ์" อะไรในทางการยึดครองพื้นที่?

ยี่สิบจุดนี้คือพื้นที่ของ "ทุนนิยมสามานย์" ที่ควรจะต้องถูกต่อต้านหรือปฏิรูปด้วยหรือไม่? หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการ "ระเบิดตัวเอง" หรือทำร้ายตัวเองของบรรดาผู้ทรงมูลค่าทั้งหลาย ต่อความเลวร้ายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้

คำถามที่น่าถามต่อก็ คือ หากเราสนใจว่าพื้นที่ 20 จุดนี้คือจุดที่มูลค่าสูงสุดของกรุงเทพฯ และจะทำให้กรุงเทพฯนั้นเป็นอัมพาต และเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เราก็คงจะต้องเจาะลึกกันต่อไปล่ะครับว่าพื้นที่ 20 จุดนี้มีมูลค่ามาในวันนี้ได้อย่างไร? ใครเป็นเจ้าของ? ใครร่วมผลิตมูลค่าเหล่านั้น? หรือว่าความเลวร้ายทางการเมืองที่สมควรจะถูกปฏิรูปในวันนี้มันเพาะสร้าง พื้นที่แห่งความรุ่งเรืองทั้ง 20 จุดนี้ขึ้นมาได้อย่างไร?

ใน แง่นี้ หนึ่งในแนวคิดที่กำลังเป็นที่ฮือฮา ในระดับโลกก็คือเรื่องของสิทธิ (ที่จะมีชีวิตใน) เมือง (Right to the City) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความหมายที่กว้างขวางมาก และถือเป็นกระแสของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนครที่สำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับเรื่องของพื้นที่ เรื่องเมือง และเรื่อง "ชีวิตประจำวัน" (ต้นธารของความคิดมาจากนักปรัชญาและสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Henri Lefebvre (1901-1991)

แนวคิดสำคัญของเลอเฟฟที่เป็น ที่สนใจในวันนี้ (ต่างจากยุคแรกที่ถูกนำเข้ามาในโลกวิชาการภาษาอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70) ก็คือการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์พื้นที่ โดยมองถึงพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตหรือพื้นที่ที่ "มีชีวิต" (lived space) ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างซับซ้อน โดยเขาสนใจปฏิบัติการทางอำนาจที่ปรากฏและเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ทางกายภาพ กับพื้นที่ทางจินตนาการ โดยพื้นที่ที่เราใช้และมีชีวิตนั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกสร้างอย่างสำเร็จ แล้วโดยรัฐ หรือเป็นเพียงพื้นที่ในจินตนาการของเรา แต่เป็นปฏิบัติการของการต่อสู้ต่อรองในชีวิตประจำวันของการสร้างสรรค์ชีวิต บนพื้นที่จริงของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายที่ใช้ชีวิตจริงในพื้นที่นั้นโดย เฉพาะที่เห็นอย่างเด่นชัดก็คือพื้นที่เมืองซึ่งความเป็นเมืองนั้นกำลังจะ กลายเป็นตัวแทนหลักของอารยธรรมใหม่ของโลกในยุคนี้ (ยุคแห่งเมือง)

เลอ เฟฟมองว่า สิทธิที่จะอยู่ในเมืองนั้นเป็นของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเป็นพลเมืองในพื้นที่นั้น หรือในระดับชาติ แต่หมายถึงคนที่มีชีวิตในเมืองนั้น (citadins) ที่จะต้องมีโอกาสใช้ชีวิตหรือ "ผลิตพื้นที่" ในเมืองขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของสิทธิตามกฎหมายในการออกนโยบาย แต่เป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และ "ยึดครอง" พื้นที่ตามความต้องการของคนที่มีชีวิตในเมืองนั้นโดยไม่ปล่อยให้พื้นที่นั้น ถูกครอบครองโดยมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว(อาทิการต้องมีพื้นที่ทางศิลปะ พื้นที่ทำมาหากิน หรือพื้นที่พักอาศัยของคนรายได้น้อย เป็นต้น)

นอก เหนือจากแนวคิดของเลอเฟฟแล้ว กระบวนการยึดครองพื้นที่เมืองผ่านการสร้างถนนคนเดินในอดีตนั้นก็มีความมุ่ง หวังที่จะนำกลับมาซึ่งพื้นที่ในทางจินตนาการให้เป็นจริงชั่วคราวถึงการ มี"พื้นที่สาธารณะ"ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้ได้มาซึ่ง "เหตุผลจากการติดต่อสื่อสาร" (communicative rationality) และสร้างความเชื่อมโยงกันของอัตวิสัย (intersubjectivity) มากกว่าการยอมรับอำนาจในแบบที่เชื่อว่าเหตุผลของฝ่ายตนนั้นถูกอยู่ฝ่ายเดียว หรือเหตุผลของฝ่ายตนนั้นเป็นเครื่องมือที่จะต้องบรรลุเป้าหมายที่ตนมุ่งหวัง ให้ได้ ซึ่งแนวคิดแบบที่เน้นความถูกต้องหนึ่งเดียวโดยไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นๆ ด้วยนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่จัดว่าเป็นการสร้างอาณานิคมทางความคิดแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบของการปิดถนนให้คนเดินนั้นเดิมมุ่งหวังที่จะก้าวพ้นจากสิ่งนี้มิ ใช่หรือ?


หรือกล่าวง่ายๆการปลดปล่อยผู้คนไปสู่เสรีภาพและ ความจริงที่ร่วมกันสร้างให้จริงตามความหมายของเหตุผลจากการติดต่อสื่อสาร นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าการครอบงำนั้นเกิดจากการพูดฝ่าย เดียวและการ"ปิดถนนเพื่อเปิดพื้นที่" นั้น ก็เพื่อทำให้คนได้พูดและฟังกันด้วย ซึ่งต่างจากการ "ปิดถนนเพื่อปิดกั้นพื้นที่" ซึ่งเปิดให้พูดอยู่ฝ่ายเดียวนั่นแหละครับ

ในมิติที่สาม ผม คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เรียกว่า "ใบอนุญาตปิดเมือง" หรืออาจเรียกมันว่า "คำอธิบายที่ปลอบประโลมใจอันเป็นที่สุดในการเคลื่อนไหว" ก็คือ ความเชื่อที่ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นอาจจะทำให้เดือดร้อนไปบ้าง แต่ถ้าไม่เสียหายเท่ากับ (หรือถ้าจะเสียหายเหมือนกับหรือมากกว่า) อะไรๆ ที่ตนเชื่อว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อนนั้นโดย "คนเสื้อแดง" สิ่งนั้นก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

หรือถ้าสิ่ง ที่จะเกิดขึ้นไม่มีความรุนแรงเท่าที่คนเสื้อแดงเป็นผู้ทำมาก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ถือเป็นเรื่องของความสงบ สันติ และอหิงสา เสียเช่นนั้น ทั้งที่ในเรื่องของการกล่าวหาเสื้อแดงนั้นยังไม่มีผลถึงที่สุดในการสืบหา ความจริง และในหลายเรื่องสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการกระทำของเสื้อแดงก็ยังอยู่ใน ระหว่างการดำเนินคดี

หากการเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเรื่องของการมี อคติในใจที่มีต่อคนเสื้อแดงมากกว่าการพยายามค้นหาความจริงของความสูญเสียจาก ครั้งที่ผ่านมาหรือข้ามพ้นตรรกะของความรุนแรงจากการเคลื่อนไหวในหลายๆครั้ง ในอดีต ก็เชื่อได้ว่าการปิดกรุงเทพฯครั้งนี้ย่อมเป็นการยืนยันอคติทางการเมืองที่ ยังมีต่อเนื่องมาโดยตลอดของคนกลุ่มที่อ้างถึงความถูกต้องหนึ่งเดียวของความ จริงที่ไม่ต้องผ่านการพิสูจน์ใดๆนอกจากหมุนวนหล่อเลี้ยงกันเองอยู่เช่นนั้น ท่ามกลางการก่อร่างสร้างพื้นที่ในจินตนาการที่ต้องการยืนยันให้เป็นจริงด้วย การจ่ายราคามหาศาลที่ไม่มีหลักประกันในขั้นสุดท้ายแต่อย่างใดว่าความเสียหาย นั้นจะย้อนกลับมาถึงพวกเขาในคุณภาพและปริมาณขนาดไหน


ท่ามกลาง"สงครามการผลิตพื้นที่" ที่ยังไม่จบลงง่ายๆ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 นี้ครับผม


(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389108321&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น