หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ทางออกจากวิกฤต

ทางออกจากวิกฤต


 
 
โดย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์


เรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่สุด และเราจะออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนก็คือ วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันทางการเมือง เพราะความขัดแย้งนี้ดำเนินมาในสังคมไทยกว่า 7 ปีแล้ว แม้ทำให้การเมืองไทยลุ่มๆ ดอนๆ แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ รวมแม้แต่การริเริ่มนโยบายใหม่เช่นปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ อันอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

วิกฤตครั้งนี้เกิดจากการล้มล้างระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งมวล ที่ช่วยกำกับความขัดแย้งไม่ให้เหลือแต่ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน จะดีจะชั่ว สังคมไทยก็มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ที่ทำให้เราต่างจากซ่องโจรที่คนกำปั้นใหญ่รวบอำนาจทั้งหมดไว้ในมือ หนักข้อกว่าการรัฐประหารของกองทัพเสียอีก

เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร กฎหมายที่คณะรัฐประหารทุกคณะล้มล้างทันทีคือรัฐธรรมนูญ แต่ยังรักษากฎหมายอื่นๆ ไว้ทั้งหมด ในครั้งนี้ นอกจากม็อบสุเทพจะล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว ยังละเมิดกฎหมายอื่นๆ อีกหลายมาตรา ขัดขวางการทำงานโดยปกติของรัฐ เช่นยึดที่ทำการของรัฐ ปิดล้อมมิให้โรงพักรับแจ้งความ ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ขัดขวาง กกต.มิให้จัดการเลือกตั้งโดยสงบ ก่อวินาศกรรมกับรถตำรวจ ทำโจรกรรมในสถานที่ราชการที่ปิดล้อมไว้ ฯลฯ

ความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งดำเนินมาหลายปี ได้แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งระหว่างอาชญากรกับรัฐ

ผมคิดว่าผิดถนัดที่หลายองค์กรมองวิกฤตครั้งนี้ เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา การเสนอตัวเป็น "คนกลาง" เพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่างอาชญากรและรัฐ เป็นการเสนอตัวที่หลงประเด็น เพราะรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐแทนปวงชนชาวไทย ไม่มีอำนาจที่จะรอมชอมกับอาชญากรให้ละเมิดกฎหมายได้ตามใจชอบเช่นนี้ ทั้งกฎหมายและรัฐไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ที่จะเอาไปยื่นให้แก่ใครเพื่อยุติความขัดแย้งได้ เช่นหาก ครม.ทั้งคณะยอมลาออก นอกจากละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้ต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่แล้ว ยังเท่ากับยกประเทศไทยให้แก่อันธพาลการเมือง หักหลังประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจนั้นแก่นายกรัฐมนตรี

ผิดถนัดอีกเช่นกัน ที่ไปคิดว่าสภาพจลาจลซึ่งกลุ่มอันธพาลการเมืองก่อขึ้นในการบุกรุกเข้าไปใน สถานที่รับเลือกตั้ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา เป็นความน่าอับอายและทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสื่อมเสียในสายตาของต่างชาติ ตรงกันข้ามหากปล่อยให้อันธพาลเข้าไปยึดสถานที่ จนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ต่างหาก ที่น่าอับอายและทำลายภาพพจน์ของสมรรถภาพของรัฐในการอำนวยความมั่นคงและ ปลอดภัยแก่สังคม ใครอยากมาเที่ยวในประเทศนี้ ใครอยากทำสัญญากับคนไทยซึ่งไม่มีรัฐให้หลักประกันใดๆ

เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักอีกมาก ที่รายงานข่าวฝ่ายอันธพาลทางการเมืองประหนึ่งวีรบุรุษ มองรัฐและกลุ่มอันธพาลว่ามีความชอบธรรมเท่ากัน หรือแม้แต่เห็นอันธพาลมีความชอบธรรมมากกว่า ทำให้สังคมหลงประเด็นว่า เรากำลังเผชิญทางเลือก 2 ทางที่มีความชอบธรรมเท่ากัน ทั้งๆ ที่ทางเลือกที่ฝ่ายอันธพาลการเมืองเสนอ ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นคำสั่งที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างปราศจากเงื่อนไข โดยอาศัยฝูงชนเป็นเครื่องมือ ไม่ต่างจากในซ่องโจร ที่ผู้นำซึ่งรวบรวมกำลังโจรได้มากกว่า ย่อมสามารถประกาศิตความเป็นไปของซ่องโจรได้ตามใจตนเองแต่ผู้เดียวหรือฝ่าย เดียว

กลุ่มอันธพาลการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ท้าทายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ท้าทายกฎหมายและระเบียบแบบแผนทางการเมืองของสังคมไทยทั้งหมด

ที่น่าเศร้าก็คือ ประชาชนจำนวนมากในกรุงเทพฯ (และที่ขนกันมาจากภาคใต้) คิดว่า นี่คือการแสดงความรักชาติ

(อ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น