หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กบฏกระฎุมพี (1)

กบฏกระฎุมพี (1)



 
กบฏกระฎุมพี (2)

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากรู้ แต่คงไม่ได้รู้แน่ชัดตลอดชาติ นอกจากจะมีใครสักคนลงไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุมของ กปปส.อย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร แล้วเผยแพร่ข้อมูลที่ได้มา หรือวิเคราะห์ให้ได้คำอธิบายอะไรบางอย่าง

สิ่งที่ผมอยากรู้และเข้าใจก็คือ บทบาทและจินตนาการทางการเมืองของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน

จาก ข้อมูลที่พอหาได้ ทั้งในสื่อและสื่อสังคม ทำให้เข้าใจว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมของ กปปส. เมื่อตัดคนจำนวนมากที่มาจากภาคใต้ ตัดการ์ดซึ่งต้องจ้างเข้ามารักษาความปลอดภัยจำนวนมากแล้ว คนกลุ่มใหญ่ที่เหลืออยู่คือกระฎุมพี หรือที่ผมเคยเรียกว่าคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป

เขาเหล่านี้ เข้าไปร่วมชุมนุมกับขบวนการที่มีเป้าหมายขัดแย้งกับระบบคุณค่าและหลักการของ ประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ทำไม และดังที่กล่าวแล้วว่า ผมคงไม่สามารถตอบปัญหาเช่นนี้ได้เองตลอดชาติ ที่จะพูดต่อไปนี้จึงเป็นเพียงการสังเกตจากหลักกว้างๆ เท่านั้น สักวันหนึ่ง นักวิชาการที่ลงไปศึกษาวิจัยจริง ก็จะพบว่าขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เขาเก็บได้จากการวิจัย

ที่เรียก ว่ากระฎุมพีในที่นี้ ผมหมายถึงคนชั้นกลางในตระกูลที่เติบโตทางเศรษฐกิจมาพร้อมกับนโยบายพัฒนาของ ระบอบสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ การขยายการศึกษาเพื่อรับการลงทุนด้านธุรกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้พวกเขาได้รับการศึกษาสูงขึ้น เขยิบเข้าไปเป็นคนงานคอปกขาว แล้วก็เขยิบต่อไปถึงระดับบริหาร ตั้งแต่ชั้นสูงถึงชั้นกลางๆ ลูกหลานของเขาซึ่งบัดนี้ก็เป็นหนุ่มสาว ได้รับการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไป และกำลังไต่เต้าอยู่ในบรรไดของหน้าที่การงานต่างๆ ซึ่งดูจะมีอนาคต (prospect) ดีกว่าพ่อแม่ของเขาเสียอีก

ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือ เกี่ยวกับการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก และถูกอ้างในสื่อไทยบ่อยๆ กล่าวว่าประชาธิปไตยกำลังถูกคนชั้นกลางในหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธ ผมคิดว่าผู้เขียนสรุปอย่างหยาบเกินไป เพราะเรื่องนี้ต้องดู "คนชั้นกลาง" ในแต่ละสังคมให้ดี เพราะถึงถูกเรียกเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วแตกต่างกันมากทีเดียว


ในที่นี้ขอดูแต่คนชั้นกลางกลุ่มที่ผมเรียกว่ากระฎุมพีไทยเท่านั้น
ใน ยุโรปตะวันตก กระฎุมพีถือกำเนิดนอกระบบศักดินา เมื่อเริ่มขยายตัวก็พบว่าอำนาจของศักดินาที่ยังตกค้างอยู่ เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพูนโภคทรัพย์และอำนาจของตน จึงหันไปร่วมมือกับกษัตริย์ในการลิดรอนอำนาจศักดินาลง แต่ต่อมาก็เลือกจะเป็นปฏิปักษ์กับกษัตริย์อีก เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่ง ขัดขวางความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและการเมืองของกระฎุมพีเช่นเดียวกัน

ประชาธิปไตย แบบเสรีนิยมของยุโรปตะวันตก คือคำตอบที่กระฎุมพีฝรั่งเลือกสนับสนุน เพราะที่จริงก็คือระบอบปกครองที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกระฎุมพีที่สุด จะเรียกว่าเป็นระบอบปกครองของกระฎุมพี, เพื่อกระฎุมพี และโดยกระฎุมพีก็ได้

ตรง กันข้าม ในเมืองไทย กระฎุมพีถือกำเนิดภายใต้ระบบศักดินา ร่วมมือกับคนชั้นปกครองของศักดินาในการก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นผู้ครอง สมบัติมากรองลงมาจากผู้นำในระบบศักดินา สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างพระมหา กษัตริย์กับ "เจ้าศักดินา" (ในเมืองไทยก็คือขุนนางและเจ้าประเทศราช) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระฎุมพีที่เป็นพ่อค้าวาณิชและเจ้าภาษีนายอากร ตรงกันข้ามกลับทำลายประโยชน์ของกระฎุมพีกลุ่มนี้เสียด้วย

แม้ว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามระวังมิให้กระฎุมพีมีอำนาจมากเกินไปตลอด แต่กระฎุมพีก็กระเสือกกระสนอยู่รอดมาได้ โดยการสวามิภักดิ์ต่อนายใหม่คือพระมหากษัตริย์ และอาศัยบารมีของมหาอำนาจตะวันตกในการประกอบการ บางส่วนขาดทุนย่อยยับลงในช่วงทศวรรษ 2430 จึงส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาแผนใหม่ และรีบกลืนตัวเองเข้าไปในระบบราชการแบบใหม่ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม จนกลายเป็นขุนนางผู้มีการศึกษาแบบตะวันตกรุ่นแรกๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระฎุมพีใหม่ (ผู้ดีใหม่ในรุ่นนั้น) ซึ่งมีฐานความชอบธรรมจากการศึกษาแผนใหม่ที่รัฐจัดขึ้น มีอำนาจเพราะสังกัดระบบราชการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

คลุกเคล้าเป็นเครือข่ายที่แยกออกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้

ระบอบ ประชาธิปไตยถูกนำเข้ามาสู่สยามด้วยกระฎุมพีข้าราชการกลุ่มเล็กๆ แม้ได้รับความเห็นชอบอย่างกว้างขวางจากกระฎุมพีอื่น แต่เป็นเพราะกระฎุมพีข้าราชการถูกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขัดขวางความก้าวหน้าใน ระบบราชการต่างหาก ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์เสรีนิยม หรือความห่วงหาอาทรต่อประชาชนระดับล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ทั้งสิ้น จึงยินดีที่ได้เห็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสิ้นสลายไปเสียที


ส่วน ใหญ่ของการปกครองในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยไทย ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของกองทัพ โดยเปิดเผยบ้าง โดยนัยยะในทางปฏิบัติบ้าง ตลอดมา ในช่วงเวลานี้ กระฎุมพีไทยได้มีส่วนในการผลักดันนโยบายสาธารณะหรือไม่ ก็มีเช่นกัน แต่เป็นการต่อรองอย่างไม่เท่าเทียมกันกับกองทัพ และระบบราชการ (ไม่เกี่ยวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม) อำนาจตัดสินเด็ดขาดไม่ได้อยู่ที่กระฎุมพี แต่อยู่ที่กองทัพและอำนาจนอกระบบทั้งหลาย

ดังนั้นกระฎุมพีไทยจึง เติบโตและอยู่รอดได้ดีภายใต้เผด็จการทหาร ซ้ำมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้เผด็จการทหารที่ทำลายร่องรอยของสถาบัน ประชาธิปไตยจนหมดสิ้นอย่างเปิดเผย คือภายใต้ระบอบสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ กระฎุมพีขยายตัวอย่างมโหฬารทั้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกำลังคนที่แปรผันตัวเองไปสู่ความเป็นชนชั้นกระฎุมพี สร้างวัฒนธรรมที่มีตลาดภายในรองรับ (บนจอทีวี, โรงหนัง, แผ่นเสียง และสิ่งพิมพ์ และนี่คือตระกูล "ผู้ดีใหม่" ของปัจจุบัน)

ในทุกวันนี้ หากให้กระฎุมพีไทยหวนรำลึกถึงยุคทองของตน หลายคนคงฝันถึงเผด็จการที่ตอบสนองผลประโยชน์ของตน (แม้ต้องแบ่ง "ค่าเช่า" ให้บ้าง) ในยุคเผด็จการทหารของระบอบสฤษฎิ์ เพราะหลังจากระบอบนี้ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ 14 ตุลาแล้ว บ้านเมืองก็ไม่เคยราบเรียบแก่การทำกำไรอย่างนั้นอีก นอกจากภายใต้การกำกับของกองทัพเบื้องหลัง เช่นสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ

ผม คิดว่า น่าประหลาดมากกว่า หากจะหวังให้กระฎุมพีกลุ่มนี้เป็นหัวหอกในการผลักดันประชาธิปไตยที่ให้สิทธิ เท่าเทียมกันแก่พลเมืองทุกคน ภาระอันนั้นกลับไปตกอยู่กับคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ (ซึ่งผมหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่ากระฎุมพี เพื่อแยกจากกันให้ชัด) เพราะคนกลุ่มใหม่เหล่านี้ เติบโตมาในการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยกว่า ได้รับอานิสงส์จากการกระจายทรัพยากรกลางไปสู่การพัฒนาชนบท (ซึ่งก็เปิดทางให้แก่การแย่งชิงทรัพยากรของกระฎุมพีจากในเมืองด้วย) อันเป็นฐานเสียงของนักการเมืองที่ต้องลงเลือกตั้ง

การเติบ โตทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่เหล่านี้ มิได้ราบเรียบนัก เพราะต้องเผชิญกับการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายลักษณะ เผชิญกับโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม และเผชิญกับการกระจายโอกาส (ทางการศึกษา, สาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน) ที่ไม่เป็นธรรม (เกิน 50% - บางครั้งอาจถึง 70% ของงบประมาณแผ่นดินของทุกรัฐบาลใช้ในกรุงเทพฯ)

ประชาธิปไตย โดยเฉพาะมิติกำกับนโยบายสาธารณะผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง จึงเป็นคำตอบแก่พวกเขา

นี่ เป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยหลักกว้างๆ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่ก็อาจช่วยอธิบายถึงสงครามชนชั้น (หากนี่คือสงครามชนชั้นจริง)ที่เราเผชิญอยู่ได้บ้าง แต่ผมสงสัยว่า สงครามชนชั้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความกระตือรือร้นของก ระฎุมพีจำนวนมาก ที่เข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส.ได้ ผมจึงอยากพูดถึงความแปลกแยกทางสังคมที่กระฎุมพีไทยรับและดำรงสืบมาจนถึงทุก วันนี้ด้วย

ในทางวัฒนธรรม กระฎุมพีในสังคมใดๆ ก็มักจะลอกเลียนวัฒนธรรมของคนชั้นสูงในสังคมนั้น แต่กระฎุมพีไม่ใช่ชนชั้นเวลาว่างเหมือนคนชั้นสูง การลอกเลียนวัฒนธรรมจึงทำได้จำกัด ไม่ช้าก็เร็ว วัฒนธรรมที่เหมาะกับกระฎุมพีย่อมเกิดขึ้นจนได้ กลายเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่มักจะฟูมฟาย (baroque) เพื่อแสดงกำลังทางเศรษฐกิจที่มีมากของตน ยิ่งในยุคสมัยที่ตลาดคือผู้อุปถัมภ์ศิลปะวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด กระฎุมพีซึ่งมีกำลังซื้อครอบตลาดอยู่แล้ว จึงเป็นผู้กำหนดศิลปะวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ

คนชั้นสูงเองเสียอีกที่ต้องหันมายึดถือศิลปะวัฒนธรรมและค่านิยมทางศีลธรรมของกระฎุมพี (เช่นเลิกมีเมียมากอย่างออกหน้า)

และ นี่คือแฟชั่นบาโรกนานาชนิดที่เราได้เห็นตามสื่อ และสื่อสังคม (เมื่อผมเป็นเด็ก กระฎุมพีกรุงเทพฯ มักหัวเราะเยาะชาวบ้านนอกที่นิยมเอาสีธงชาติไปทาบนหลังคาเรือนสังกะสีของตน)

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392034210&grpid=01&catid&subcatid 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น