หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่องของ "นายกฯคนกลาง"

เรื่องของ "นายกฯคนกลาง"


 

ในระยะนี้ เรื่องของ "นายกฯคนกลาง" ที่นักวิชาการหรือกลุ่มพลังทางการเมืองบางกลุ่มยังฝันและเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ สำหรับผมแล้วเรื่องของนายกฯคนกลางนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาในหลายมิติ

อาทิ เรื่องที่ว่านายกฯคนกลางนั้นควรจะเป็นใคร และสอง (ซึ่งผมว่าสำคัญกว่า) ก็คือ เงื่อนไขอะไรจะทำให้เกิดนายกฯคนกลางได้ และสาม การมีนายกฯคนกลางนั้นจะทำให้เราสูญเสียอะไรหรือได้อะไรบ้างท่ามกลางการดำเนินไปของการเมืองในวันนี้

เรื่องที่ว่านายกฯคนกลางควรจะเป็นใครนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนนิยายสืบสวนสอบสวนอยู่มิใช่น้อย เพราะเท่าที่ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องของนายกฯคนกลางในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ก็จะพบว่านายกฯคนกลางนั้นอาจจะมีที่มาและความยึดโยงกับสถาบันต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่ว่านายกฯคนกลางนั้นจะต้องเป็นคนที่ทุกคน "นึกไม่ถึง" (หุหุ)

ในแง่นี้คนที่มักจะถูกมองว่าเป็นตัวเต็งในการเป็นนายกฯคนกลางนั้นเอาเข้าจริงมักไม่ได้เป็น ส่วนคนที่ได้เป็นนั้นมักจะเป็นคนที่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่โดดเด่นที่สุด หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะมากที่สุดเสมอไป แต่จะต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายในระดับหนึ่งเสียมากกว่


พูดแบบขำๆ ก็คือ จะคิดไปให้ปวดหัวทำไม เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่เรานึกไม่ถึงนั่นแหละครับจะได้เป็นนายกฯคนกลาง

แต่ส่วนสำคัญจริงๆ กลับอยู่ที่ว่ากระบวนการที่จะได้มาซึ่งนายกฯคนกลางต่างหากที่เราเห็น หรือได้ยินมาโดยตลอด จนบางทีเราอาจจะหลงลืมไปว่าเรื่องไหนสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่ากัน นั่นก็คือ ตกลงนายกฯคนกลางนั้นเป็นผลพวงของการทำรัฐประหาร หรือสุดท้ายจริงๆ แล้ว การรัฐประหารเป็นเพียงกระบวนการที่จะได้มาซึ่งนายกฯคนกลางกันแน่

เรื่องนี้เป็นบทเรียนของหลายฝ่ายครับ เพราะถ้าเราสนใจแค่ว่าจะโค่นล้มนายกฯจากการเลือกตั้ง (และไม่มีศรัทธาว่าผู้นำฝ่ายค้านสามารถเป็นนายกฯได้จากการเลือกตั้ง) โดยแสวงหาคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็คงจะคิดว่ารัฐประหาร หรือเดี๋ยวนี้มีคำที่ดูอบอุ่นอ่อนโยนกว่า อาทิ การได้มาซึ่งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ (ว่าตามที่คนแก่กลุ่มหนึ่งเขาไปนั่งคุยกันแล้วถ่ายคลิปมาให้ดูอย่างภาคภูมิใจ) นั้นเป็นเพียงวิถีทางเดียวให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ หรือเอาเข้าจริง เรากำลังพูดว่านายกฯคนกลางนั้นจะเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวบางอย่างให้ เป็นผลสำเร็จเพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างเกิดขึ้นได้ (บางครั้งไม่ได้มีความหมายแค่ทำให้การเลือกตั้งเกิดได้ หรือจัดการนักการเมืองเลว แต่อาจหมายถึงการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น หรือผลักดันในเกิดการสถาปนาอำนาจของชนชั้นหนึ่งเหนืออีกชนชั้นหนึ่ง มากกว่าแค่เข้ามาพยุงฐานะทางอำนาจของกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง)

ดังนั้น การเข้ามาเป็นนายกฯคนกลางนั้นจึงเป็นสถานะที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก แถมบางคนเมื่อเข้ามาเป็นแล้ว กลายเป็นว่าออกไปยังโดนวิจารณ์และขุดคุ้ย รวมทั้งไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างจริงจังอีกต่างหาก มิพักต้องกล่าวถึงว่า เมื่อมีนายกฯคนกลางแล้วนั้นปัญหาบางอย่างในสังคมก็ยังดำรงอยู่ต่อไป อาทิ อาจจะทำให้เรารู้สึกโล่งใจว่านักการเมืองที่เราไม่ชอบไม่สามารถอยู่ในการเมืองได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นายกฯคนกลางโดยเฉพาะที่มีภูมิหลังจากราชการเอง ก็ไม่สามารถที่จะจัดการระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปกว่าเดิมได้ดังที่เราได้เห็นที่ผ่านๆ มา

และในท้ายที่สุด เรื่องราวของนายกฯคนกลางนั้นกลับไม่ได้เดินทางไปในทิศทางที่สังคมก็เรียกร้องเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ "การเจรจา" ซึ่งในคราวนี้กลับน่าสนใจยิ่ง ว่ากระแสเรียกร้องเรื่องการเจรจานั้นไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ใช่ว่าจะไม่มีการเรียกร้องเอาเสียเลย แต่ที่สำคัญตรงที่การกดดันให้มีการเจรจานั้นไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น การเรียกร้องโดยปราศจากการกดดันให้มีการเจรจากันนั้นก็อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า กระแสของพลังทางเลือกที่สาม (ในความหมายที่จะเป็นพลังสนับสนุนนายกฯคนกลาง) นั้นไม่ได้มีขึ้นอย่างจริงจัง หากกระแสที่มีอยู่นั้นเต็มไปด้วยการช่วงชิงความชอบธรรมกันระหว่างขั้วความขัดแย้งเสียมากกว่า

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
(ส่วนหนึ่งจาก "การเมืองเรื่องตัวเลขเลือกตั้ง คนกลาง และข้าวของชาวนา" : http://goo.gl/TMKT8S)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น