หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

จังหวะ การเมือง เครือข่าย รัฐประหาร แสดงตัว แจ่มชัด

จังหวะ การเมือง เครือข่าย รัฐประหาร แสดงตัว แจ่มชัด




การขับเคลื่อนของ "กปปส." โดยการนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาธิปัตย์ ทรงความหมายเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว

ตรงที่มีเป้าหมายที่ "ม.7"
ตรงที่อาศัยรัฐธรรมนูญเป็น "เครื่องมือ" เพื่อทำลายรัฐบาล ทำลาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อนำไปสู่นายกรัฐมนตรี "คนกลาง"

อันเท่ากับทำลาย "รัฐธรรมนูญ" ทำลาย "ประชาธิปไตย"
จึงไม่แปลกที่ทุกการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการ "ปิดถนน" ไม่ว่าจะเป็นการยึด "สถานที่ราชการ" ไม่ว่าจะเป็นการรับบริการของ "กองทัพ" เพื่อนำไปสู่มวลมหา "ประชาการ์ด"
และน่าสนใจที่ได้รับการ "คุ้มครอง" ให้พ้นจากกรงเล็บของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กระนั้น กระบวนการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งให้ตกไป

ก็ "สำคัญ"
สำคัญตรงที่ทำให้กระบวนการความขัดแย้งในทางสังคมมิได้จำกัดอยู่เพียงในพรมแดนทาง "การเมือง" หากแต่ยังก้าวไปยังพรมแดนทาง "เศรษฐกิจ"
สะท้อน "จุดต่าง" ในกระบวนการของ "การพัฒนา" ประเทศ

ถามว่าโครงการ "ขนาดใหญ่" ของพรรคเพื่อไทย ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอะไรบ้างที่เสนอตัวเข้ามาอย่างโดดเด่น

1 คือ โครงการบริหารทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

1 คือ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง อันมีจุดเด่นอยู่ที่ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง


อย่างแรกเสนอเข้ามาเพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาพอย่างเมื่อเดือนตุลาคม 2554

เป็นการสร้างความมั่นใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนมิให้ย้ายฐาน เพราะว่าแม้จะมี "มหาอุทกภัย" เกิดขึ้นอีก แต่จะต้องไม่ทุลักทุเลอย่างนั้น

ส่วนนี้ย่อมไป "เสริม" ให้กับ 2 ล้านล้านบาท

ต้องยอมรับว่ากระบวนการพัฒนารถไฟรางคู่ซึ่งริเริ่มในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ตั้งแต่เมื่อปี 2536 ผ่านช่องทาง "งบประมาณ" สามารถทำได้ไม่กี่พันกิโลเมตรในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงใช้ช่องทางอย่างที่เรียกว่า "เงินกู้"


เป็นกระบวนการบริหารจัดการในแบบ "ฟาสต์แทร็ก"
และ กระบวนการเช่นนี้มิใช่ว่าจะไม่เคยทำมาก่อน อย่างน้อยก็มีมาแล้ว 36 กว่าฉบับ แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำผ่าน พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งมาแล้วด้วยซ้ำไป

แต่ที่สุด "ศาลรัฐธรรมนูญ" ก็ไม่ให้ "ผ่าน"
ต้อง ยอมรับว่า อาการสะดุดหยุดลงไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท

มิได้เป็นเรื่องในทาง "กฎหมาย" อย่างด้านเดียว

ตรงกันข้าม ทั้ง 2 เรื่องนี้สะท้อน "ความต่าง" ในเรื่องของความคิดในทาง "เศรษฐกิจ" ความคิดในเรื่องของ "การพัฒนา" อย่างลึกซึ้ง

เมื่อโยงไปยัง ความต่างในทาง "การเมือง" อันปรากฏผ่าน กปปส.พรรคประชาธิปัตย์

ลักษณะอนุรักษ์ในเชิง "จารีตนิยม" จึงมิได้ดำรงอยู่เพียงในความคิดทางด้านการเมืองเท่านั้น หากแม้กระทั่งในด้านการพัฒนาและในด้านเศรษฐกิจก็เด่นชัด

เด่นชัดอย่างถึง "มูลฐาน" ของแต่ละฝ่าย

ยิ่งหากสัมผัสกับองค์กรที่เคลื่อนไหวในลักษณะแวดล้อมอยู่กับแต่ละก้าวย่างของ กปปส. แต่ละก้าวย่างของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแต่ละก้าวย่างของพรรคประชาธิปัตย์ อันยึดโยงอยู่กับความพยายามที่จะก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง

เพื่อเปิดช่องให้กับ "ม.7" และ "นายกฯคนกลาง"
ยิ่งเท่ากับเป็นการระดมทุกทรัพยากร ทุกองค์กร ทุกช่องทาง เพื่อโค่นล้มและทำลายรัฐบาลอันรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อบรรลุเป้าหมาย

หากจำเป็นก็อาจต้องใช้กระบวนการ "รัฐประหาร"

ท่าทีและเจตจำนงของฝ่ายโค่นล้มรัฐบาล ขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แจ่มชัดไม่ปิดบังอำพราง

แจ่มชัดตรงที่มิได้มีแต่เพียง กปปส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังระดมทุกเครือข่ายอันเป็นคุณของตนออกมาแสดงตัวอย่างเต็มที่

ยืนยัน "เครือข่าย" รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ตรงไปตรงมา


(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395132854&grpid=&catid=12&subcatid=1200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น