หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

อนาคต การเมือง ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ ลีลา "เปรม"

อนาคต การเมือง ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ ลีลา "เปรม"




อาการชี้ชวนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่างเดินทางไปเปิดอนุสาวรีย์ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ณ ค่าย กฤษณ์สีวะรา จังหวัดทหารบกสกลนคร

ชี้ชวน ให้ "อ่าน" ข้อความ

"ทหารเรายืนอยู่บนเกียรติอันสูงส่งที่ประชาชนคนไทยหวังเป็นที่พึ่งขั้นสุดท้ายของเขา"
"หวาดเสียว"
อย่างยิ่ง

เมื่อประสานเข้ากับการขยับขับเคลื่อนของสิ่งที่เรียกว่า "7 องค์กรอิสระ" ตามรัฐธรรมนูญอันประกอบด้วย

1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 1 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 1 สำนักงานอัยการสูงสุด 1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 1 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ยิ่งชวน ให้ "สยด" ยิ่งชวนให้ "สยอง"
เพราะท่าทีของ "ศาลแพ่ง" ต่อการชุมนุมมีความแจ่มชัด เพราะท่าทีของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ต่อเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทมีความแจ่มชัด เพราะท่าทีของ "ศาลปกครอง" ต่อการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี มีความแจ่มชัด

แล้ว "ยิ่งลักษณ์" จะเอาอะไรไป "ต่อกร"



พลันที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกโรงผ่าน "ปริศนาธรรม" จากคำคมอันมาจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา
ประสานเข้ากับการย่างเยื้องของ "7 องค์กรอิสระ"
เท่ากับยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมในการ "ชัตดาวน์" บทบาทของ กปปส. บทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

ที่เห็น ณ สวนลุมพินี เสมอเป็นเพียง "ร่องรอย"
ร่องรอยเหมือนการดำรงอยู่ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ร่องรอยเหมือนการดำรงอยู่ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์

นั่นก็คือ หลบไปแอบอยู่ใน "แนวหลัง"
จากนี้ไปย่อมเป็นบทบาทของกองทัพ เป็นบทบาทของทหาร เป็นบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหมือนกับเป็น "ทัพ" ขบวนสุดท้าย

แม้การออกโรงของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการอันเกี่ยวกับ "จ๊อกกี้" เมื่อเดือนมิถุนายน กว่าจะส่งผลในทางเป็นจริงก็เดือนกันยายน 2549 แต่คาดกันว่าการออกโรงหนใหม่ไม่น่าจะทอดยาวเพียงนั้น

เพราะว่าคราวนี้เป็น "เมื่อเอย" ก็ต้อง "เมื่อนั้น"
ความน่าสนใจของสถานการณ์อันเกี่ยวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จะสำนองรับเช่นใด

และกำหนด วัน ว.อย่างไร

แม้ความสัมพันธ์จะเกี่ยวเนื่องอย่างเป็นจริงอยู่กับสถานะและท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี"
แต่แสงแห่งสปอตไลต์กลับฉายจับไปยัง "คนเสื้อแดง"
ท่าทีในห้วงหลังของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะมาจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะมาจาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แจ่มชัด

แจ่มชัดว่ามอง "ข้าม" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เห็นบทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เหมือนกับบทบาทใน "อดีต" ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เหมือนกับบทบาทใน "อดีต" ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นั่นก็คือ ถดถอย โรยราและแทบไม่มีผลสะเทือน

เพราะเสมอเป็นเพียง "ร่างทรง" หรือ "หุ่นเชิด"
คนเสื้อแดงมองไปยังสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ภายใต้การประเมินว่า นี่คือผู้กุมกลไกอำนาจรัฐ นี่คือเป้าหมายอย่างแท้จริงของการต่อสู้

หากไม่ล้ม "อำมาตยาธิปไตย" ก็ยากที่ "ประชาธิปไตย" จะบังเกิด
จากนี้เป็นต้นไป การเคลื่อน "ขบวน" ทางการเมืองจะดำเนินไปอย่างไร

1 เป็นการปรับทัพเพื่อรุกและเผด็จศึกของ "เครือข่ายรัฐประหารเดือนกันยายน 2549" เพื่อยืนยันสถานะที่กุมกลไกแห่งอำนาจรัฐ

1 เป็นการประกาศสู้ของ "เสื้อแดง"
ดับเครื่องชน "อำมาตยาธิปไตย"
ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงอยู่ระหว่าง "เขาควาย" แห่งการปะทะและขัดแย้งนี้


(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1395055580&grpid=&catid=12&subcatid=1200

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น