ทั่วโลกองค์กร “อิสระ” คือเครื่องมือเผด็จการ
โดย อ.ใจ อึ๊งภากรณ์
ขณะนี้องค์กรที่อ้างกันว่า “อิสระ”
ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือวุฒิสภาในส่วนที่มาจากการแต่งตั้ง
ล้วนแต่หมดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิงในสายตาประชาชนไทยส่วนใหญ่ สาเหตุก็อย่างที่เราเห็นกันอยู่คือ
องค์กรเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันงอกออกมาจากเผด็จการและรัฐประหาร
ล้วนแต่ตั้งหน้าตั้งตาสร้างอุปสรรค์กับกระบวนการประชาธิปไตย
และพร้อมที่จะทำลายสิทธิเสรีภาพในแง่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
องค์กร
เหล่านี้ไม่เคยจับผิดผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐไทยที่เข่นฆ่าประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ
หรือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในปาตานี
และพวกนี้ก็เพิกเฉยกับการฆ่าวิสามัญใน “สงครามยาเสพติด”
ในยุคทักษิณอีกด้วย พวกนี้เพิกเฉยต่อการโกงกินทั้งบ้านทั้งเมือง
ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารที่รวยกว่าเงินเดือนปกติและกอบโกยทรัพย์สินจาก
การทำรัฐประหารหรือการคุมสื่อและรัฐวิสาหกิจ
หรือนายทุนที่โกงลูกจ้าง และถ้ามีการจับผิดนักการเมือง ก็แค่เป็นเพราะเป็น
“ฝ่ายตรงข้าม”
ไม่เคยมีการจับผิดพวกที่แต่งตั้งกันเองและชงเรื่องกันเองเพื่อประโยชน์ฝ่าย
ตน
ไม่เคยมีการออกมาประณามกฏหมายเผด็จการ 112 ที่ปิดปากและทำลายสิทธิเสรีภาพ
ไม่เคยมีการวิจารณ์สองมาตรฐานของการที่คนอย่างคุณสมยศติดคุกเป็นสิบๆปี
ในขณะที่นักการเมืองและทหารฆาตกรอย่างสุเทพ อภิสิทธิ์ ประยุทธ์
หรือทักษิณลอยนวล
และไม่มีองค์กรอิสระใดที่วิจารณ์การที่ศาลลำเอียงปกป้องตนเองจากการถูก
วิจารณ์ด้วยกฏหมาย
“หมิ่นศาล”
พวกนักวิชาการที่เชิดชูแนวคิดเกี่ยวกับ “องค์กรอิสระ”
โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญปี ๔๐ และหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่เคยสุจริตพอที่จะเปิดเผยว่าแนวคิด
“เสรีนิยม” (liberalism) อันนี้ เป็นเพียงหนึ่งแนวคิดในหลายความคิดที่ตรงข้ามกันและนำไปสู่การถกเถียงเสมอในระดับสากล
เขาพยายามพูดว่า “ทุกคนที่รักประชาธิปไตย” ย่อมเห็นด้วยกับการมีองค์กรอิสระ
และพูดเหมือนกับว่ามันเป็นแค่ “เทคนิค” ในการบริหารประเทศที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง
ส่วนแกนนำ เอ็นจีโอ ที่คล้อยตามความคิดนี้ ก็กระทำด้วยความโง่เขลา
เพราะพวกเขามีจุดยืนที่ปฏิเสธการให้ความสำคัญกับทฤษฏี เลยรับแนวคิดของชนชั้นนายทุนมาเต็มตัว
โดยไม่สนใจที่จะรู้ตัว เนื่องจากภูมิใจในการเป็น “นักปฏิบัติ
แนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองที่เรียกว่า “เสรีนิยม” เป็นแนวของชนชั้นนายทุน
ในอดีตมันอาจ “เสรี” ในแง่ที่พยายามต้านการผูกขาดเศรษฐกิจและการเมืองโดยพวกขุนนาง
แต่นั้นมันเกิดในศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบันความ “เสรี” ของแนวเสรีนิยม คือเสรีภาพแบบ
“มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เสรีภาพในการกอบโกยเอาเปรียบประชาชนส่วนใหญ่
เพื่อปกป้องและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ
ในทางการเมือง การเสนอว่าควร “แบ่งแยกอำนาจ” ระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ
และตุลาการ เป็นมาตรการเพื่อให้ฝ่ายนายทุนและอภิสิทธิ์ชนแบ่งอำนาจกันเอง
อย่าลืมว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเสนอมาในช่วงก่อตั้งสหรัฐอเมริกา
ซึ่งตอนนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และไม่ต้องพูดถึงสิทธิของสตรีหรือคนผิวดำเลย
พอสหรัฐพัฒนาประชาธิปไตยและพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง
ก็มีการสร้างอุปสรรค์เพื่อไม่ให้คนธรรมดาเข้ามาดำรงตำแหน่งในสามองค์กรดังกล่าว
ประเด็นสำคัญสำหรับไทยในยุคนี้คือ ทำไมเราไม่ควรมีสิทธิ์เลือกทั้งรัฐบาล
สภา และศาล? เพราะถ้าเราไม่มีสิทธิ์เลือก ใครจะแต่งตั้งเขา?
คำตอบคือพวกอภิสิทธิ์ชนนั้นเอง
นี่คือสาเหตุที่คนจนกับคนรวยได้รับการเลือกปฏิบัติจากกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก
ในปัจจุบัน การผลักดันเรื่อง “องค์กรอิสระ” ซึ่งหมายถึง “องค์กรที่อิสระจากการเมือง”
เป็นวิธีที่จะลดอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น
เพราะในระบบประชาธิปไตย นักการเมืองได้ตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง
ดังนั้นการมีองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเมืองเลือกตั้ง
ก็เพียงแต่เป็นองค์กรที่อภิสิทธิ์ชนหรืออำมาตย์แต่งตั้งเอง และแต่งตั้งเพื่อลดทอน “ตรวจสอบ”
คนที่มาจากการเลือกตั้ง เช่นการใช้ ส.ว. แต่งตั้ง หรือ พวก “องค์กรอิสระ”
ทั้งปวงในไทยที่คิดว่าตนเองควรมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
การเสนอว่าธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เป็นองค์กร “อิสระ” โดยเฉพาะในยุโรป
เป็นการโยกย้ายอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ให้กับคนที่พวกนายทุนแต่งตั้ง
แทนที่จะมาจากกระบวนการประชาธิปไตย เพราะธนาคารกลางมีหน้าที่ควบคุมธนาคารพาณิชย์
กำหนดอัตราดอกเบี้ย และ ควบคุมระบบการเงิน และคนที่ดำรงตำแหน่งบริหารธนาคารกลางมีแต่พวกนายธนาคารหรือนายทุน
ไม่เคยมีใครที่เป็นกรรมาชีพหรือคนธรรมดาเลย
สรุป
แล้วแนวคิดเสรีนิยมที่เน้นความสำคัญขององค์กรอิสระ
เป็นแนวคิดที่ไม่ไว้ใจวุฒิภาวะของประชาชนส่วนใหญ่ และไม่ไว้ใจประชาธิปไตย
มันเข้ากับความคิดของม็อบชนชั้นกลางที่พยายามทำลายประชาธิปไตยไทย
ประชาธิปไตยในระบบทุนนิยมที่เราเห็นทั่วโลก เป็นเพียงประชาธิปไตยครึ่งใบ
เพราะอำนาจในการลงทุนและจ้างงาน ซึ่งมีผลกระทบหลักต่อชีวิตคนส่วนใหญ่
และเป็นการควบคุมเศรษฐกิจ มักอยู่ในมือนายทุนที่ไม่เคยมาจากการเลือกตั้งเลย
แต่แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบแบบนี้ ก็ “มากไป” สำหรับฝ่ายเสรีนิยม
เราต้องยกเลิกองค์กรที่อ้างตัวว่า “อิสระ” ในไทย
การแก้ไขหรือปฏิรูปจะไม่เปลี่ยนสถานการณ์แต่อย่างใด
บางคนอาจถามว่าถ้าไม่มีองค์กรอิสระเราจะกำจัดการคอร์รับชั่นและการใช้อำนาจแบบผิดๆ
โดยนักการเมืองอย่างไร คำตอบคือต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตย
ต้องมีหลายพรรคการเมืองที่เสนอทางเลือก
และพลเมืองทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง
พร้อมกันนั้นต้องมีการเลือกตั้งศาล และผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะทุกคนที่มีอำนาจในการกำหนดอนาคตของพลเมือง
(ที่มา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น