หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทวิเคราะห์ : ทางตันตุลาการภิวัตน์

บทวิเคราะห์ : ทางตันตุลาการภิวัตน์


 
โดย ใบต้องแห้ง
 

กปปส.พ่ายแพ้ทางการเมือง ถอยเข้าสวนลุมพินี หวังรอองค์กรอิสระ ตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาล ล้มการเลือกตั้ง รอเก็บเกี่ยวผลจากการกระทำของตัวเอง แต่โยนบาปให้คนอื่น 
 
ม็อบปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง จนมีปัญหาสมัครไม่ได้ เลือกไม่ครบ ก็เอาไปร้องศาลว่าเลือกตั้งไม่พร้อมกันทำให้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องฟ้องล้มการเลือกตั้งให้สมเจตนาไม่สุจริตของผู้ขัดขวาง

ม็อบจ้องล้มประชาธิปไตย มีกองกำลังติดอาวุธ แล้วยังมี “เส้น” ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ได้รับการคุ้มกันจากกองทัพ จนคนอีกขั้วเหลืออด บอกว่า 2 มาตรฐานอย่างนี้แยกประเทศกันดีกว่า (วะ) กองทัพก็ฉวยไปไล่ล่าเอาผิด

มองข้ามช็อต รัฐบาลอาจไปไม่รอด เพราะพลังอำนาจที่จ้องเล่นงานใหญ่โตมโหฬาร เด็กอมมือก็รู้ว่า “มีเบื้องหลัง” จนพูดกันล้อๆ ว่ามีประธาน กปปส.ที่ยังไม่เผยตัว แต่ทุกคนรู้ว่าเป็นใคร

ปัญหามีเพียง “ดาบสุดท้าย” จะใช้ที่ไหน ปปช.ชี้มูลยิ่งลักษณ์? วุฒิสภาถอดถอน? แล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าคณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะ? พร้อมเลือกตั้งเป็นโมฆะ อย่างนั้นหรือ

มันไม่ง่ายปานนั้น แม้ตุลาการภิวัตน์แถได้ทุกอย่าง แต่ก็ยังติดขั้นตอน ถูกจำกัดโดยตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะการเอารัฐบาลรักษาการออกไป ทำให้เกิดนายกฯ คนกลาง พลิกรัฐธรรมนูญอย่างไร ก็ไม่มีช่อง เว้นแต่จะวิบัติกันสุดๆ

ป.ป.ช.พึ่งได้จริงหรือ

การถอยทัพหัวซุกสวนลุมของ กปปส.เท่ากับพ่ายแพ้ทางการเมือง คือม็อบไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ หลังจากชัตดาวน์กรุงเทพฯ เกือบ 2 เดือน ชุมนุมยืดเยื้อ 4 เดือน และยังไม่รู้จะชุมนุมถึงเมื่อไหร่ เผลอๆ กำนันจะต้องเล่นสงกรานต์สวนลุม กลับบ้านไม่ได้

ม็อบไม่ชนะทางการเมือง เพราะจาก “10 ล้าน” มวลมหาประชาชนเหลือแค่กระจุก ก่อนหดจู่เหลือจุดเดียว มีรายงานว่าที่อโศกบางคืนเหลือไม่ถึง 200 ไม่ใช่มวลมหาประชาชนเสื่อมถอย หมดศรัทธาในศีลธรรมอันดีงาม (ซึ่งทำให้เชื่อว่าตัวเองอยู่เหนือคนธรรมดา) แต่มันท้อแท้นะครับ ประกาศชัยชนะไม่รู้กี่รอบ “อีปู” ก็ยังด้านได้อยู่ ไม่เห็นรูไล่ทางไหน

ม็อบได้ชัยชนะในวิถีอันธพาล ขัดขวางเลือกตั้ง ปิดสถานที่ราชการ ซ้อมข้าราชการไม่ยอมหยุดงาน คุกคามบริษัทห้างร้าน การ์ดทำร้ายคนผ่านไปมา แต่เนื่องจากไม่อยู่ในสันติวิธี มีถุงป๊อปคอร์นเป็นที่พึ่ง เมื่อความรุนแรงถึงขีดสุด ตั้งแต่กรณีผ่านฟ้า มาถึงเด็กตาย 4 ศพ กระแสจึงไม่ตีกลับไปที่รัฐบาล แต่โดนด้วยกัน และ กปปส.ยังโดนมากกว่า

การใช้พลังมวลชนสุดขั้วสุดโต่ง เป่านกหวีดตามข้าพเจ้ามา โดยไม่ใส่ใจว่าใครจะเดือดร้อน พิสูจน์แล้วว่า ใช้ได้ถึงจุดหนึ่งก็ล้า แม้แต่มวลชนของตนก็ท้อ

ยิ่ง กปปส.ไม่มีการจัดตั้งเหนียวแน่นอย่างพันธมิตร สันติอโศก สหภาพรัฐวิสาหกิจ คปท.กปท.นปป. หรือแม้แต่ นปช.ซึ่งไม่เหนียวแน่นอะไรนัก แต่ธรรมชาติคนจนคนชนบท อดทนสูงกว่าสลิ่มเซเลบส์ไปถ่ายภาพลงอินสตาแกรม

เมื่อถอยทัพหัวซุกสวนลุม กปปส.ทำอะไรได้บ้าง ก็เห็นแต่เล่นเกมโจมตีตามสถานการณ์ เช่น เล่นลิเกเรื่อง สปป.ล้านนา “แบ่งแยกประเทศ” ประสานเสียงกองทัพบก เล่นเรื่องศาลปกครองสั่งคืนตำแหน่งถวิล เปลี่ยนศรี 1 ใน 58 แกนนำที่ต้องข้อหา “กบฏ” ล่าสุดมี M79 ลูกด้านลงบ้านเทือก คงเอามาโจมตีได้หลายวัน

ที่จริงประเด็น “แยกประเทศ” น่าสนใจว่ากองทัพจับมาเล่นเพื่ออะไร ถ้าอยากรัฐประหาร ก็คงทำไปแล้ว หรือเป็นแค่เกมต่อรองโผทหาร แต่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะผลทางการเมืองคือ กองทัพ “สองมาตรฐาน” ยิงหัวม็อบเสื้อแดง คุ้มครองกบฏนกหวีด แล้วยังไปไล่จับเสื้อแดงอีก

ตอนนี้ถ้าจะรัฐประหาร อันที่จริงพูดได้ว่ามีเงื่อนไข เพราะสังคมเหนื่อยหน่าย มองไม่เห็นทางออก อยากให้ความขัดแย้งจบเร็ว ๆ ตามนิสัยคนไทยมักง่าย แต่กองทัพที่เป็นหนังหน้าไฟ มองออกว่าไม่ง่ายปานนั้น

ความหวังของฝ่ายจ้องล้มประชาธิปไตย พูดให้เป็นรูปธรรมเหลือแค่ 2 ทางคือ หนึ่ง รอ ปปช.ชี้มูลนายกฯ สอง หวังศาลรัฐธรรมนูญล้มเลือกตั้ง และล้มรัฐบาลรักษาการ

รอ ป.ป.ช.ชี้มูลนายกฯ พูดในเงื่อนเวลา กว่าจะชี้มูล อย่างเร็วก็ปลายเดือน เพราะต้องรอนายกฯ ยื่นชี้แจงข้อกล่าวหาใน 15 วันคือวันที่ 14 มี.ค.โดยอาจขอเลื่อนได้อีก 15 วัน

ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูล ก็มี 2 ทาง คือส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับส่งให้วุฒิสภาถอดถอน

ถ้าส่งศาลก็นาน กว่าจะรู้ผล ถ้าส่งถอดถอน ก็มีคำถามว่า จะรอวุฒิเลือกตั้งชุดใหม่ หรือใช้ชุดเก่า



บางคนเข้าใจผิดว่า วุฒิเลือกตั้งชุดปัจจุบันหมดวาระ เหลือแต่วุฒิลากตั้ง ความจริงไม่ใช่ เพราะมาตรา 117 วรรคสาม บัญญัติว่า “ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งสิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระ อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่”

ซึ่งแปลว่านิคม ไวยรัชพานิช ยังเป็นประธานอยู่ จะให้คนอื่นตั้งนายกฯ คนกลางไม่ได้

วุฒิสภาชุดใหม่เปิดประชุมได้อย่างเร็วก็ปลายเดือนเมษายน มีข้อสังเกตว่า กกต.พยายามเลือกตั้ง ส.ว.ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ท่านต้องการวุฒิสภาชุดใหม่มารวมการเฉพาะกิจหรือเปล่า ต้องถามสมชัยออนไลน์ เพราะวุฒิสภาชุดใหม่อย่างน้อยก็จะมีประธานลากตั้ง

อย่างไรก็ดี การถอดถอนตามมาตรา 274 ต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 หรือ 90 จาก 150 วุฒิสภาไม่เคยถอดถอนใครได้ ไม่ว่าชุดนี้ชุดไหน เลือกตั้งใหม่ “สภาผัวสภาเมีย” ก็คึกคักอยู่ดี

ก่อนหน้านี้หลายคนเกรงว่า ปปช.จะชี้มูลถอดถอน 312 ส.ส.ส.ว.ฐานลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 พร้อมกับชี้มูลนายกฯ แล้ววุฒิสภาจะเหลือแต่ ส.ว.ลากตั้ง ยกมือปุบปับฉับพลัน นายกฯ ตกเก้าอี้

แต่จนป่านนี้ ปปช.ก็ยังไม่มีวี่แววชี้มูล 312 อดีต ส.ส. ส.ว. เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนชี้แจงข้อกล่าวหา โดยนอกจากอ้างอำนาจสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 312 ส.ส. ส.ว.ยังย้อนแย้งศาลรัฐธรรมนูญว่า ทีคดีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกออกจากราชการทหาร มีคนร้องศาล ศาลก็จำหน่ายคดี อ้างว่ายุบสภาไปแล้ว พ้นสมาชิกภาพแล้ว ตัดสินอย่างนี้จะมาถอดถอน 312 อดีต ส.ส. ส.ว.ได้ไง

ปปช.ก็มึนตึ้บอยู่ครับ ไม่ใช่จะชี้มูลได้ง่ายๆ เมื่อยืดเวลาไป ส.ว.เลือกตั้งใหม่กำลังจะมา ฉะนั้น ถ้าเล่นมักง่าย แบบชี้มูลนายกฯ พร้อมชี้มูลถอดถอน 312 ส.ส.ส.ว. ดันเรื่องเข้าวุฒิสภา ส.ว.เกือบครึ่งต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เหลือแต่ ส.ว.ลากตั้ง....

ยังไม่อยากตีความกฎหมายว่าทำได้ไหม แต่ในทางการเมือง มันไม่น่าเกลียดไปหรือครับ

วิชา มหาคุณ ก็วิชา มหาคุณเหอะ เท่าที่ผมสังเกต ปปช.ไม่กล้าเร่งกระบวนการชี้มูลนายกฯ ตั้งแต่แรก ปปช.ไม่อยากเป็น “หนังหน้าไฟ” ซักเท่าไหร่หรอก

ฉะนั้นแนวโน้ม ปปช.อาจชี้มูลนายกฯ แต่วุฒิสภาจะถอดถอนได้หรือ จะถอดถอนเมื่อไหร่ อย่างเร็วก็ปลายเมษา ต่อให้ถอดถอนได้ คณะรัฐมนตรียังไม่พ้นรักษาการ ต้องทำหน้าที่ต่อตามมาตรา 181 แล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สั่งเลือกตั้งโมฆะ ต่อให้ กกต.ยื้อเพียงไร (สมชัยออนไลน์บอกว่าน่าจะเลือกตั้งเสร็จภายในเมษายน) อีกเดือนกว่าๆ ก็จะมีรัฐบาลใหม่ ไม่เหลือช่องให้นายกฯ คนกลางนะครับ

พวกเขาอาจใช้จังหวะนายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อ้าง “สุญญากาศทางการเมือง” แต่ก็แค่นั้น ทุกวันนี้ไม่ใช่สุญญากาศหรือ อีกอย่าง ต้องถามว่าหยุดปฏิบัติหน้าที่อะไร ถ้า ปปช.ชี้มูลยิ่งลักษณ์ ก็ชี้ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ หรือหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเทียบคดีอภิสิทธิ์ ตอนนี้ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นแค่รักษาการนายกฯ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว จะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อะไร

สุดท้าย ในประเด็นกฎหมาย ปปช.จะชี้มูลนายกฯ ด้วยพยานหลักฐานอะไร สำนักข่าวอิศราตรวจพบว่ามีชื่อโยงใยกับบริษัทที่ซื้อข้าวรัฐบาลหรือ เปล่าเลย เท่าที่ดูข่าวอิศรา ปปช.อ้างว่านายกฯ ไม่ทำตามรายงาน สตง. เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แหม่ สตง.กลายเป็นคุณพ่อคุณแม่ของรัฐบาลไปตั้งแต่เมื่อไหร่ รายงานนั้นเป็นคำสั่ง หรือข้อเสนอแนะ นายกฯ ต้องทำตามคำสั่ง สตง.หรือ สั่งแล้วไม่ทำ มีความผิดติดคุกหรือ ถ้างั้นก็จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป ใครเป็นนายกฯ ต้องทำตามใบสั่ง สตง.

เท่าที่ทราบ นายกฯ ก็มีหลักฐานสู้คดีนะครับ เพราะไม่ใช่ว่าไม่ทำตามคำแนะนำเลย ได้สั่งการไปแล้วหลายอย่าง

ข้อสำคัญ ปปช.จะชี้มูลนายกฯ ได้ ก็ต้องชี้มูลบุญทรง เตรยาภิรมย์ กับภูมิ สาระผล อดีต รมว.และรมช.ก่อน เพื่อยืนยันว่ามีการทุจริตจริง แล้วจึงโยงว่านายกฯ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดูแลบังคับบัญชา ไม่อย่างนั้น อ้าว เฮ้ย ยังไม่รู้เลยว่ามีทุจริตจริงไหม รมว. รมช.ทุจริตไหม ข้ามไปชี้นายกฯ ได้ไง

ล้มเลือกตั้งมาตราไหน

ความหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญล้มเลือกตั้ง น่าสังเกตว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องของอาจารย์นิติ มธ. “นิวบรรเจิด” ทั้งที่หลังเลือกตั้งใหม่ๆ ไม่กล้ารับคำร้องของวิรัตน์ กัลยาศิริ “ลูกช่างฟ้อง” ของพรรคแมลงสาบ โดยชี้แจงชัดเจนว่า เพราะไม่อยู่ในอำนาจผู้ตรวจฯ ตามมาตรา 245 (1)

“มาตรา ๒๔๕ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

(๒) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา ๒๔๔ (๑) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย โดยไม่ชักช้า….”

บุคคลใดตามมาตรา 244(1)(ก) ก็คือข้าราชการ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาจตีความรวมถึง กกต.ได้ แต่นั่นให้ยื่นศาลปกครองไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2550 ปิดช่องทางหมดแล้ว ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ยังมีช่องให้บรรเจิดร้อง
แต่ทั่นผู้ตรวจทั้ง 3 ก็มีมติเอกฉันท์ดันทุรังรับ มีคนสงสัย ทั่นได้ sign อะไรหรือเปล่าครับ หรือหมดหนทางจำต้องมั่ว

ถ้าศาลรับคำร้อง ก็คือศาลตาใสตะแบงมาตรา 245 ศาลต้องดั้นมาตรานี้ก่อน แล้วค่อยไปดั้นให้เลือกตั้งโมฆะ จะไหวหรือ

คำร้องของ “นิวบรรเจิด” ไม่เหมือนวิรัตน์ เพราะกล่าวโทษ กกต.ด้วย บูชายัญเลือกตั้งโมฆะ ร้องว่าการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.ของกกต.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีการเลือกตั้ง 28 เขต  หากจัดเลือกตั้ง 28 เขตก็จะทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วันขัดรัฐธรรมนูญ การเปิดรับสมัครส.ส.ไม่เที่ยงธรรม มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งล่วงหน้า การนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ทำให้ผู้ที่จะลงคะแนนเลือกตั้งในภายหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.ยังปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐก่อเกิดความได้เปรียบของพรรครัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด ฯลฯ

แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเด็นเก่าที่โต้แย้งกันมาแล้ว ศาลเคยไม่รับแล้ว การเลือกตั้ง 28 เขตขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องไปดู กกต.ยื่นศาลตีความ

ด้าน “ดิโอลด์บรรเจิด” บรรเจิด สิงคะเนติ เจ้าเก่า รวมกลุ่มสยามประชาภิวัตน์ อ้างว่าการเลือกตั้งไม่อาจบรรลุผล จนครบ 30 วันแล้วยังเปิดสภาไม่ได้ ตามมาตรา 127 รัฐสภาจึงอยู่ต่อไปไม่ได้

ประเด็นนี้ยังไม่รู้จะร้องศาลรัฐธรรมนูญผ่านใคร ไทกร พลสุวรรณ ไปร้องเองโดยอ้างอำนาจฟ้องตามมาตรา 212

“บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญได้”

มันคนละเรื่องกันเลยครับ กปปส.ก็ประกาศว่าจะไปร้อง แต่จะใช้ช่องทางไหน กปปส.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ กปปส.เป็นองค์กรกบฏ จะร้องศาลได้ไง

ในแง่การตีความกฎหมาย ตีอย่างไร มาตรา 127 ก็ล้มรัฐบาลรักษาการไม่ได้

“ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก”

บทบัญญัตินี้มีเจตนาอะไร ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้ง และนายกฯ รักษาการมีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม มาตรา 127 มีไว้เร่งรัดรัฐบาลรักษาการให้เรียกประชุมโดยเร็ว อย่ายืดยาด กอดอำนาจไว้

แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 บทบัญญัตินี้มีไว้เพื่อเร่งรัด กกต.ผู้จัดการเลือกตั้ง ให้ออกใบเหลืองใบแดง เลือกตั้งใหม่ ให้ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 95% ภายใน 30 วัน ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จ กกต.ก็ปล่อยไปก่อนแล้วค่อย “สอย” ทีหลัง

ฉะนั้นถ้าไม่สามารถเปิดสภาได้ใน 30 วัน ก็เป็นความผิดของ กกต.ไม่ใช่ความผิดรัฐบาล ในกรณีนี้เป็นเหตุสุดวิสัย กกต.อ้างได้ว่าถูกขัดขวางการเลือกตั้ง

มาตรา 127 เป็นมาตราที่มีไว้เพื่อ “เร่งรัด” ไม่ได้บังคับ เพราะไม่บอกว่าถ้าไม่ทัน 30 วันแล้วให้ลงโทษใครอย่างไร

เจตนารมณ์ของกฎหมายมีไว้เพื่อให้เปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่รัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็ว จะมาพลิกเจตนารมณ์ล้มการเลือกตั้ง ถอดรัฐบาลรักษาการได้อย่างไร

สุดท้าย บรรเจิดเองก็ไปให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ ยอมรับว่าใช้ 127 ไม่ได้

“หลายคนพยายามจะเอามาตรา 127 มาอธิบายเรื่องข้อจำกัดนี้ ในความเห็นผมเองมองว่าเจตนารมณ์ของมาตรานี้ไม่ต้องการให้รัฐบาลรักษาการนาน ถึงบังคับกรอบ 30 วันเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ แต่นั่นก็ในภาวะปกติ แต่กรณีนี้ไม่ใช่ปกติ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สามารถส่งผลดังกล่าวได้ นี่คือประเด็นที่หนึ่ง

เมื่อมีปัญหาเช่นนี้แสดงว่า มาตรา 127 ไม่ฟังก์ชั่นแล้ว แล้วถามว่าจะคิดอย่างไรที่จะบอกว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรม ก็ต้องไปหาทางอื่น”

กกต.มั่วล้มเลือกตั้ง

กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ 3 ประเด็น หนึ่ง การเลือกตั้ง 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร กกต.มีอำนาจออกประกาศสมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้หรือไม่ สอง ถ้า กกต.ไม่มีอำนาจ ต้องให้นายกรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาใหม่หรือไม่ สาม ถ้าออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ จะออกเฉพาะ 28 เขตหรือทั้งประเทศ

ล้วนเป็นประเด็นเลอะเทอะ เหลวไหล พยายามนำไปสู่ประเด็นที่ 3 ที่ปรึกษากฎหมาย สมคิด เลิศไพฑูรย์ ชงให้ศาลมีช่องตีความล้มเลือกตั้งทางอ้อม

ไม่ด่าว่าเหลวไหลก็ไม่รู้จะพูดยังไง จากที่อ้างว่าไม่แน่ใจ เป็นอำนาจ กกต.ประกาศรับสมัครใหม่ กำหนดวันลงคะแนนใหม่ หรือเป็นอำนาจรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกา กกต.บังคับให้รัฐบาลทำหนังสือโต้แย้ง เพื่อจะอ้างความขัดแย้งระหว่างองค์กร เอาไปยื่นตีความ แล้วก็ขอตีขลุมด้วยว่า ถ้าต้องออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ ให้เลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศได้ไหม

มีปัญหา 28 เขต แล้วจะล้มทั้งประเทศเนี่ยนะ

การประกาศรับสมัครใหม่ กำหนดวันลงคะแนนใหม่ เป็นอำนาจ กกต.อยู่แล้ว ตีความง่ายๆ ว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คุณจะตะแบงให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ได้อย่างไร ในเมื่อมาตรา 108 เขียนชัดๆ ว่าพระราชกฤษฎีกานี้ทั้งยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ในฉบับเดียวกัน การยุบสภาทำได้ครั้งเดียว ไม่มีหรอก พระราชกฤษฎีกา 2 ครั้ง ไม่มีหรอก พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความตาม กกต.ก็เหลวไหลจนวิบัติไปด้วยกัน

แต่ต่อให้ทำอย่างนั้น ถามว่าเลือกตั้งใหม่ทั่วประเทศแล้วไง ก็ไม่ได้ล้มรัฐบาลรักษาการ ก็ดีเหมือนกัน ปชป.ต้องตัดสินใจ จะบอยคอตต์เลือกตั้งอีกไหม กปปส.จะขัดขวางอีกไหม ยังมีแรง ยังไหวอยู่หรือ

ในมุมกลับกัน ถ้าศาลไม่กล้าตีมึนตาม กกต.ก็ต้องชี้ให้ กกต.ประกาศรับสมัครและกำหนดวันลงคะแนน 28 เขต ซึ่งแปลว่าการเลือกตั้งยังไงต้องเดินหน้า (แม้ต้องด่า กกต.ว่าแกล้งมึนขอตีความให้ล่าช้า) สมชัยออนไลน์ก็ยอมรับแล้วว่าถ้าจบเรื่องที่ศาล การเลือกตั้งก็จบในเดือนเมษายน ตั้งรัฐบาลได้ปลายพฤษภาคม

ดูเงื่อนไขทุกคดี ไม่มีช่องให้ล้มรัฐบาล ภายในเดือนมีนา เมษา ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญล้มโครงการ 2 ล้านล้าน ต่อให้ศาลปกครองคืนเก้าอี้ถวิล เปลี่ยนศรี

ส่วนที่ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.ลากตั้ง ไปยื่นประธานวุฒิให้ศาลวินิจฉัยว่านายกฯ ผิดมาตรา 268 ต้องถอดถอนตามมาตรา 182(7) จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีถวิล เปลี่ยนศรี
มาตรา 268 เกี่ยวเนื่องมาตรา 266 คือ

“นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๖ มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลง ต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ”

“มาตรา ๒๖๖  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อ ประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(๒) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้า ราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(๓) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง”

ส่วนมาตรา 182(7) บัญญัติว่า

“ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(๗) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๘ หรือมาตรา ๒๖๙”

การยื่นให้ศาลวินิจฉัยเรื่องนี้มีข้อโต้แย้งว่า ถ้านายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ แล้วศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่ง จะเป็นบรรทัดฐานให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่งเสมอไป เช่นนั้นหรือ

คำตัดสินศาลปกครองที่ชี้ว่าข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่ง ตั้งโยกย้าย ไม่ได้มีผลย้อนกลับเท่ากับตัดสินว่า ผู้บังคับบัญชากระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ในทันทีทันใด โดยอัตโนมัตินะครับ

เพราะไม่เช่นนั้น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือแม้แต่ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าฯ ที่ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายแล้วศาลปกครองชี้ว่าไม่เป็นธรรม ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 157 กันหมด

การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดความผิดพลาดบกพร่อง ข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ฟ้องเป็นคดีปกครอง เพื่อเพิกถอนคำสั่ง หากจะเล่นงานนายกฯ ตามมาตรา 268 จะต้องมีองค์ประกอบของคดีมากกว่านี้ ที่ชี้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง แทรกแซง เพื่อผลประโยชน์

มาตรา 266, 268 มีไว้ในกรณีใด ก็มีไว้ในกรณีเช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไปสั่งหัวหน้าส่วนราชการ ให้แต่งตั้งโยกย้าย หรือเลื่อนขั้น ข้าราชการที่เป็นคนของตัว ทั้งที่อยู่นอกอำนาจ เช่น ขอตำแหน่งผู้กำกับ ผู้บังคับการ ทั้งที่เป็นอำนาจ ผบ.ตร. หรือ ก.ตร.แต่ถ้าย้ายปลัดกระทรวง อธิบดี นั่นเป็นอำนาจโดยตรง

ถ้าศาลรับคดีนี้ และชี้ขาดสมใจไพบูลย์ นิติตะวัน ก็จะมีมาตรฐานใหม่ ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องตกเก้าอี้ เอาไหม

งั้นที่อภิสิทธิ์เคยเด้งปลัดมหาดไทยไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ แล้วศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง จะทำไง อภิสิทธิ์ลอยนวลไปเพราะพ้นตำแหน่งแล้ว อภิสิทธิ์ลอยนวลไปเพราะศาลปกครองพิจารณา 3 ปี มาตัดสินตอนอภิสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ตอนนี้ก็มีคนโต้ว่า ยิ่งลักษณ์พ้นตำแหน่งแล้วเหมือนกัน เป็นแค่รักษาการ ความเป็นรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดไปแล้ว

หรือมองอีกอย่าง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณา 3 เดือน ตอนนั้นมีนายกฯ ใหม่แล้ว ศาลจะชี้ให้พ้นตำแหน่งทำไม ก็ต้องจำหน่ายคดีเสีย แต่ถ้าศาลใช้เวลา 7 วันฟันฉับ ก็จะมีคำถามถึงการรวบ เร่ง รัด จนมีผลเปลี่ยนการเมือง ความเร็วความช้าของศาลมีผลต่อการเมือง ก็จะมีคำถามถึงความยุติธรรม

คือถ้าจะดันทุรัง เอาให้ได้ ก็เชิญใช้ช่องทางนี้ แต่วิกฤตที่จะตามมา ไม่มีใครรับประกัน

ช่องทางตุลาการภิวัตน์ล้มรัฐบาลที่กล่าวมา ไม่ใช่ทางตันเสียทีเดียว เช่น ถ้า ปปช.จะชี้มูลนายกฯ ไม่ยอมให้เลื่อนชี้แจง ถ้าไม่ชี้แจงข้อกล่าวหา 14 มี.ค.นี้ชี้มูลทันที ก็ย่อมได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเลือกใช้ช่องทางไหน ล้มเลือกตั้ง ถอดถอนนายกฯ ก็ย่อมได้ อำนาจศาลเสียอย่าง

แต่มันจะเป็นการวินิจฉัยที่เหลวไหลไร้เหตุผลที่สุด ยิ่งกว่าที่เคยมีมา เช่น ถ้าศาลโมเมให้ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ ตามข้อ 3 ของ กกต. หรือทำตาใสรับคำร้องผู้ตรวจ

ท่านอาจใช้อำนาจได้ โดยมีพุทธอิสระเป็นการ์ดศาล (Court Marshal ตามไอเดียประธานศาลปกครองสูงสุด) ปกป้องไม่ให้ม็อบเสื้อแดงบุก แต่อะไรจะตามมา นายกฯ คนกลาง ตามความฝันที่สวยสดงดงามอย่างนั้นหรือ ใครล่ะจะเป็นนายกฯ คนกลาง ถ้าเป็นแล้วแก้ปัญหาได้ก็ดีไป แต่คิดหรือว่าแก้ได้ กับความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคมไทย

ไปถามๆ กันก่อนนะครับว่าใครจะเป็นนายกฯ คนกลาง คุ้มค่าความเสี่ยงไหม

(ที่มา)


http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3975

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น