ผลในทางกฎหมายถ้าการเลือกตั้ง ๒ ก.พ. เป็นโมฆะ?
ผลในทางกฎหมายถ้าการเลือกตั้ง ๒ ก.พ. เป็นโมฆะ?
สืบเนื่องมาจากการรับคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้ง ๒ ก.พ. เป็นโมฆะหรือไม่ และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ ๒๑ มี.ค. เราจะไม่คาดการณ์เหตุผลในทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราจะพิจารณาถึง “ผลสืบเนื่อง” จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ ๒ ก.พ. เป็นโมฆะ จะส่งผลที่น่าพิจารณาอย่างน้อย ๒ ประการ ดังนี้
ประการที่ ๑. กรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่า หากผู้ที่ต่อต้านการเลือกตั้งรวมถึงผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง (ปฎิรูป หรือ ปฏิวัติก่อนเลือกตั้ง)อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยปรารถนาจะทำลายการเลือกตั้งให้กลายเป็นโมฆะ ก็กระทำได้อย่างง่ายดายโดยวิธีการได้ปิดกั้น "ขัดขวาง"มิให้ “ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง” เข้าไปสมัครรับเลือกตั้งกับทาง กกต. ในบางเขตได้ เพื่อเป็นเหตุให้ “เขตเลือกตั้ง” นั้นไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดเหตุบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และหาก กกต.จะจัดการเลือกตั้งโดยเปิดรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้งที่บกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นข้ออ้างให้มีคนไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินหรือ ศาล รัฐธรรมนูญอีกว่า มีการจัดการเลือกตั้งมากกว่า ๑ วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะ ขัด รธน มาตรา ๑๐๘ เช่นนี้ สังคมนิติรัฐรัฐย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยสงบ เพราะเมื่อใดที่ ผู้ต่อต้านประชาธิปไตยไปปิดล้อมสถานที่รับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ กกต.ไม่อาจเปิดรับสมัครผู้สมัครฯได้ในบางเขตเลือกตั้ง ก็จะส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศกลายเป็นโมฆะได้อย่างง่ายดาย เป็นการทำลายเจตจำนงของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย (และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ยอมรับโดยสากลโลก) ในบางเขตพื้นที่เท่านั้น (ตามข้อเท็จจริงปัจจุบันคือมีเพียง ๒๘ เขตเลือกตั้งที่มีปัญหา)
ประการที่ ๒. ตามแนวคิด ของ อาจารย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล(อาจารย์พิเศษ) ชี้ว่า หากการเลือกตั้ง ๒ ก.พ. เป็นโมฆะโดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ควรจับตาว่า กรณีจะซ้ำรอยคดี รศ ดร ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งฉีกบัตรเลือกตั้ง ๒ เม.ย. ๔๙ อีกหรือไม่ คดีดังกล่าวเป็นขึ้นศาลจังหวัดพระโขนง ศาลพิพากษาว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ๒ เม.ย.เป็นโมฆะ ฉะนั้น จำเลย (ไชยันต์ฯ) ไม่มีความผิดฐานฉีกบัตรเลือกตั้งไปด้วย (ถือไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น) แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิด
นอกจากนี้เคยปรากฏข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันเหตุเกิดที่ภาคใต้ เป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา (คำพิพากษาฎีกาที่๑๑๘๕๐/๒๕๕๔) วางบรรทัดฐานว่า การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ตาม บรรดาการกระทำผิดอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายนั้นหาถูกลบล้างไปด้วยไม่
จะเห็นได้ว่าสำหรับคดีไชยันต์แม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดก็ตาม และแม้ว่าจะเคยมีคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจับตาดูพฤติกรรมต่อเนื่องของ “ศาลยุติธรรม” ภายหลังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๒๑ มี.ค. พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วศาลยุติธรรมจะนิรโทษกรรมให้ กปปส. (ที่ไปปิดคูหา ขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ) โดยอ้างอิงผ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เหมือนที่ศาลจังหวัดพระโขนงเคยทำ อีกหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีใครมีความผิดใดๆในการล้มการเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นอำนาจของประชาชนทุกคนที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตยแบบไทยๆก็อาจไม่ต้องมีการเลือกตั้งก้ได้!
อ.เอกชัย ไชยนุวัติ
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น