อ่านต้านรัฐประหาร?
หลายสัปดาห์หลังการปะทะ ศิลปินชาวตุรกี เออร์เด็ม กันดัซ ยืนประจันหน้ากับรูปปั้นมุสตาฟา อาตาเติร์ก ผู้ซึ่งเป็นบิดาของประเทศตุรกีสมัยใหม่อย่างสงบนิ่งเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ณ จัตุรัสตักซิมในกรุงอิสตันบูล คนหนุ่มสาวจำนวนมากเห็นด้วยกับวิธีการแสดงออกอย่างสันติของกันดัซ เขาและเธอเดินออกมาบนท้องถนนและยืนจ้องตากับอนุสาวรีย์ของอดีตผู้นำประเทศ ซึ่งปฏิรูปตุรกีให้กลายเป็นรัฐฆราวาส (Secular State) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นอกจากการยืนประท้วงอย่างสงบ การอ่านหนังสือในที่สาธารณะและหนังสือที่ผู้ประท้วงเลือกมาอ่านก็เป็นอีก หนึ่งหนทางในการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากมีต่อรัฐบาล อนุรักษนิยมมุสลิมในตุรกี
2.
1984 คือนิยายดิสโทเปียของจอร์จ ออร์เวลล์ พูดถึงโลกในอนาคต (นิยายตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949) ซึ่งถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยผู้ปกครองเผด็จการ แม้กระทั่งการคิดไม่เหมือนกับผู้ปกครองยังถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทุกคนถูกจับตาโดยบิ๊กบราเธอร์ในทุกขณะจิต ระบอบเผด็จการที่ว่านี้ควบคุมแม้กระทั่งวิธีที่ผู้คนคิดผ่านการประดิษฐ์ภาษา ใหม่ที่บิดเบือนความหมายดั้งเดิมและจำกัดถ้อยคำเพื่อจำกัดวิธีคิดของประชาชน ให้อยู่ในกรอบของถ้อยคำเท่าที่มี (เช่นคำขวัญของพรรคที่ว่า สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือการเป็นทาส อวิชชาคือพลัง War is Peace, Freedom is Slavery, Ignorance is Strength) และประชาชนส่วนใหญ่ก็ยินยอมอยู่ภายใต้อำนาจที่กักขังเสรีภาพทางความคิดและ การแสดงออก เพราะไม่ตระหนักว่าเสรีภาพของตนถูกลิดรอนไปมากมายเพียงใด
ไม่น่าแปลกใจที่นวนิยาย 1984 จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบอบการปกครองที่พยายามจำกัดเสรีภาพของ ผู้คน แม้ว่าบริบทและรายละเอียดของการต่อต้านอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี
3.
การประท้วงหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือของการ ต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง ในสถานการณ์ที่สิทธิเสรีภาพถูกจำกัดจนกระทั่งการแสดงออกทางการเมืองโดยปกติ ไม่อาจทำได้ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถือเป็นทางเลือกในการต่อต้านอย่างสงบ
การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือล้มระบอบเผด็จการในหลาย ประเทศ ตัวอย่างที่น่าสนใจศึกษาคือขบวนการ Otpor! ในเซอร์เบียซึ่งเป็นองค์กรนำในการโค่นล้มเผด็จการอย่างสโลโบดาน มิโลเซวิช นอกจากงานจัดตั้งผู้สนับสนุนขบวนการและการวิเคราะห์เสาหลักที่ค้ำยันระบอบ เผด็จการอย่างเป็นระบบ ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์และอารมณ์ขันถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Otpor! ประสบความสำเร็จในการทำให้ตำรวจและทหารจำนวนมากเอาใจออกห่างจากระบอบ ตัวอย่างปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ในเซอร์เบียคือการจัดงานวันเกิดให้มิโลเซวิ ชโดยมีของขวัญเป็นกุญแจมือ ตั๋วขาเดียวไปเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ) หรือการเคาะจานชามให้เกิดเสียงหนวกหูเมื่อมิโลเซวิชออกประกาศหรือแถลงการณ์ ในโทรทัศน์เพื่อแสดงการไม่ยอมรับ
นอกจากการโค่นล้มเผด็จการแล้ว การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ร่วมกับการปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ทำให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้นในหลากประเด็น เช่น การไม่ยอมสละที่นั่งให้คนขาวของโรซ่า ปาร์คส์ ในปี 1943 ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นฉับพลัน แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ประกอบกับการต่อสู้ในรูปแบบอื่นจนนำมาซึ่ง การแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสี
4.
งานวิจัย “ทำไมการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงจึงได้ผล (Why Civil Resistance Works)” ของเอริกา เชโนเวท และมาเรีย สเตฟาน แสดงให้เห็นว่า แม้คนทั่วไปจะเข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงในการโค่นล้มเผด็จการหรือสร้างสังคม ที่เป็นธรรมเป็นวิธีการที่ได้ผล แต่สถิติกลับบอกว่าการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะประสบความ สำเร็จมากกว่า โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 53 กับ 26 เปอร์เซ็นต์ [1]
การ ต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรงในเชิงยุทธศาสตร์ไม่ได้เชื่อมโยงกับความดีงาม หรือความสูงส่งทางศีลธรรม การเลือกที่จะ ‘ไม่ใช้’ ความรุนแรงในการต่อต้านส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้ปฏิบัติการได้วิเคราะห์แล้วว่า การไม่ใช้ความรุนแรงเป็น ‘ทางเลือก’ ที่เหมาะสมกว่าสำหรับสถานการณ์นั้นๆ
‘ทางเลือก’ ที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการอ่านหนังสือ ‘ทางเลือก’ ที่ว่าอาจจะเป็นการชูกระดาษเปล่า ถอนเงิน เต้นแอโรบิก พ่นกราฟฟิตี้ นัดหยุดงาน แอบวางใบปลิว และอื่นๆ อีกมากมาย ‘ทางเลือก’ มีหลากหลายและทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง โดยต้องประเมินความเสี่ยงและศักยภาพที่จะจัดการกับความเสี่ยงของตนเองใน ‘สถานการณ์ปกติ’ ที่เรากำลังเผชิญหน้า
หมายเหตุ:
อ่านเพิ่มเติมว่าด้วยการต่อต้านรัฐประหารโดยไม่ใช้ความรุนแรง
http://www.aeinstein.org/wp-content/uploads/2013/11/Against-the-Coup-Thai.pdf
และการต่อต้านเชิงวัฒนธรรม
https://thainetizen.org/2012/07/cultural-resistance-notes/
[1] http://belfercenter.ksg.harvard.edu/files/IS3301_pp007-044_Stephan_Chenoweth.pdf
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2014/06/53706
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น