หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัฐประหารยาว

รัฐประหารยาว


 
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

 
รัฐประหารเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของกระบวนการรัฐประหารปัจจุบันในไทย มันเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

ต้นเหตุของความชำรุดของระบบประชาธิปไตยไทย เริ่มจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี ๒๕๓๙ เพราะในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายทุนหลายส่วน และข้าราชการชั้นสูง ต่างหาทางโยนภาระในการแบกปัญหาวิกฤตไปสู่คนจน โดยการเลิกจ้าง ตัดเงินเดือน และตัดสวัสดิการ พวกอำมาตย์หัวเก่าเหล่านี้ใช้เงินรัฐที่มาจากภาษีประชาชน เพื่อจ่ายหนี้เสียในระบบการเงินและหนุนเงินออมของคนรวยและชนชั้นกลาง ฝ่ายเอ็นจีโอและนักวิชาการแนวชาตินิยม ก็สนับสนุนแนวคิดล้าหลังแบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง โดยอ้างแบบเพ้อฝันว่าเราสามารถปิดประเทศและหมุนนาฬิกากลับไปสู่สังคมเกษตร ได้ ส่วนนักวิชาการเสรีนิยมกลไกตลาด ก็พยายามแก้ตัวเรื่องการเปิดเสรีที่นำไปสู่วิกฤตครั้งนี้ โดยอ้างว่าเปิดมากเกินไปโดยไม่มีการกำกับดูแลอย่างเพียงพอโดยรัฐ แต่เขาไม่กล้ายอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นมาจากข้อบกพร่องในตัวมันเอง ของกลไกตลาดเสรี และเขาไม่กล้าศึกษาทฤษฏีเศรษฐศาสตร์การเมืองของฝ่ายซ้าย ที่อธิบายวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมมาตั้งแต่สมัย คาร์ล มาร์คซ์
 
สำหรับ ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคพวก วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เน้นความล้าหลังของเศรษฐกิจกับสังคมไทย พรรคไทยรักไทยจึงเสนอนโยบายที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างฐานเสียงในหมู่พลเมือง นอกจากนี้มีการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะปรับปรุงและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัย นี่คือที่มาของชัยชนะของพรรคไทยรักไทย และเป็นสาเหตุให้ทักษิณและไทยรักไทยครองใจประชาชนส่วนใหญ่ถึงทุกวันนี้ 
 
เราต้องเข้าใจว่ารัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลนายทุน เพื่อประโยชน์นายทุน แต่คนอย่างทักษิณเข้าใจว่าต้องนำพลเมืองส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยนโยบายรูปธรรมที่ครองใจประชาชน
 
ก่อนหน้านี้สังคมไทยมีแต่พรรคการเมืองของนายทุนเพื่อประโยชน์นายทุน ซึ่งล้วนแต่ไม่สนใจที่จะดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตัวอย่างที่ดีคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาศัยการสร้างฐานเสียงด้วยระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะในภาคใต้ และยังอาศัยการสนับสนุนจากชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมในกรุงเทพฯด้วย
 
เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” 


ในระยะแรกๆ หลายส่วนของพวกอำมาตย์ ชนชั้นกลาง เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ก็แห่กันไปสนับสนุนไทยรักไทย เพราะคิดว่าจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลใหม่ และไม่คิดว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่พอเวลาผ่านไป นายทุนที่พัฒนาตนเองไม่ทันโลก นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ และทหารกับข้าราชการที่ยังคิดว่าตนควรจะมีอิทธิพลนอกระบบประชาธิปไตย เริ่มเห็นว่าตัวเองจะเสียประโยชน์มหาศาลเมื่อต้องแข่งกับพรรคการเมืองที่ มีนโยบายจริงและครองใจประชาชนได้ ฝ่ายเอ็นจีโอเริ่มกลัวว่าอาจหมดบทบาทในการเป็น “พี่เลี้ยง” คน จน เมื่อรัฐเข้ามาพัฒนาและดูแลสภาพชีวิตของคนทำงานและคนจนมากขึ้น เขาจึงไม่พอใจ ชนชั้นกลางก็ไม่พอใจเช่นกัน เพราะมองว่ารัฐหันไปให้ความสำคัญกับคนธรรมดาแทนที่จะปกป้องอภิสิทธิ์พิเศษ ของเขาแต่อย่างเดียว และนักวิชาการที่ดูถูกวุฒิภาวะของคนธรรมดาและบูชากลไกตลาดเสรี ก็ออกมาเสนอว่าการที่รัฐบาลใช้เงินพัฒนาชีวิตประชาชนเป็นเรื่อง “ผิด” เพราะเป็นแค่การซื้อคนผ่านนโยบาย “ประชานิยม”

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

เราไม่ควรลืมว่ารัฐบาลไทยรักไทยพร้อมจะก่ออาชญากรรมกับประชาชน ทั้งในปาตานี และในสงครามยาเสพติด ซึ่งตรงนี้ไม่แตกต่างจากทหารและชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยม

ทั้งหมดนี้คือต้นกำเนิดของความขัดแย้งหลักในระบบการเมืองไทยที่เราเห็นอยู่ ทุกวันนี้ มันไม่ใช่เรื่องลึกลับเกี่ยวกับมือที่มองไม่เห็น การเปลี่ยนรัชกาล หรือเรื่องข้อหาไร้สาระว่าทักษิณเป็นพวก “ล้มเจ้า” แต่อย่างใด


เบื้องหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

แนว ร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมืองหัวเก่า และพวกนายทุนใหญ่ที่กลัวโลกาภิวัตน์ อย่างเช่น สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ 

ชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมไทย ชื่นชมในระบบการเมืองแบบ “คอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการทำงานของประชาชนชั้น ล่าง เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัด กันกิน และพวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญใน การร่วมกินด้วย 

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน มากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก 

ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องใช้รัฐประหาร และอำนาจตุลาการในการล้มรัฐบาลหลายรอบ
แต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ไม่ใช่สิ่งที่ทหารจะทำได้ง่ายๆ เพราะสังคมไทยพัฒนาไปไกลและมีกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวและมีพลังในสังคมมากมาย การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา จึงต้องอาศัยการทำแนวร่วมกับคนชั้นกลาง นักวิชาการ “เสรีนิยมรถถัง” และพวกเอ็นจีโอ ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” รวมถึงพวก“ฟาสซิสต์” ที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” 

รัฐประหาร ๑๙ กันยา และการเขียนรัฐธรรมนูญทหารปี ๕๐ ไม่สามารถทำลายฐานเสียงของ ไทยรักไทยได้ แต่ศาลอนุรัษ์นิยมสามารถทำรัฐประหารสองรอบเพื่อทำลายชัยชนะของพรรคพลัง ประชาชน ต่อจากนั้นมีการตั้งรัฐบาลเถื่อนของอภิสิทธิ์และสุเทพในค่ายทหาร

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงกับรัฐบาลเถื่อนนี้ ได้เปิดโปงธาตุแท้ของชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมที่เข่นฆ่าประชาชนอย่างเลือด เย็นในปี ๒๕๕๓ และมวลชนคนเสื้อแดง ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ได้พิสูจน์ความอดทนในการต่อสู้ ซึ่งมาจากความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าเขาสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม ที่ไม่เคยมี 

นักวิชาการสายรัฐศาสตร์จำนวนมาก จะชอบสอนว่าวิธีขยายพื้นที่ประชาธิปไตยคือการเคลื่อนไหวของ “ประชาสังคม” หรือ การเคลื่อนไหวของคนชั้นกลาง แต่พฤติกรรมเลวทรามของชนชั้นกลางไทยที่เป็นสลิ่ม หรือเข้ากับม็อบสุเทพ พิสูจน์ว่าพวกนี้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย

รัฐประหารตุลาการ ตามด้วยรัฐประหารประยุทธ์

หลัง ชัยชนะของยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ ทักษิณกับพรรคพวกเริ่มพยายามปรองดองจับมือกับทหาร สิ่งที่เราเห็นชัดคือการเลิกวิจารณ์หรือด่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือด และด่าแต่อภิสิทธิ์กับสุเทพอย่างเดียว ทักษิณเองก็ให้สัมภาษณ์ว่าคู่แข่งเขาคือแค่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น และทหารไม่ได้เป็นศัตรู ยิ่งลักษณ์ก็ไปถ่ายรูปคู่กับประยุทธ์บ่อยๆ

ทหารอาจต้องจำใจอดทนกับการมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะการที่จะล้มรัฐบาลในช่วงแรกจะขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง แต่พวกอนุรักษ์นิยมไม่ได้หยุดฝันถึงโอกาสที่จะล้มประชาธิปไตยแต่อย่างใด
เมื่อทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยประเมินสถานการณ์ผิด มั่นใจในการจับมือกับทหารมากเกินไป แล้วเสนอกฏหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่นิรโทษกรรมแก๊ง ประยุทธ์-อนุพงษ์-อภิสิทธิ์-สุเทพ และนิรโทษกรรมทักษิณ โดยปล่อยให้นักโทษ 112 และนักโทษเสื้อแดงอื่นๆ ติดคุกต่อ ฝ่ายอนุรักษณ์นิยมที่เกลียดทักษิณแบบบ้าคลั่งก็ได้โอกาส

ในขณะที่ม็อบสุเทพก่ออาชญากรรม ยึดสถานที่ราชการ และใช้อาวุธปืนกับความรุนแรงในการทำลายการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญกับ กกต. ซึ่งเป็นพวกเดียวกับทหารเผด็จการ ก็ค่อยๆ ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนทหารก็นั่งอมยิ้มดูการใช้ความรุนแรงของม็อบสุเทพ โดยไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันฝูงอธิการบดีและแกนนำ เอ็นจีโอ ก็ออกมาเสนอว่าต้องมีนายกคนกลางเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง แต่สงครามที่กำลังเกิด เป็นแค่สงครามข้างเดียวที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยทำกับประชาชนส่วนใหญ่

ในที่สุดท่ามกลางความปั่นป่วนที่ถูกสร้างขึ้นโดยแนวร่วมอนุรักษณ์นิยม ประยุทธ์ก็ยึดอำนาจและลงมือทำสงครามกับคนเสื้อแดงและพลเมืองผู้รัก ประชาธิปไตยทุกคน

ขอเน้นว่าความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทย เป็นเรื่องการต่อสู้ให้ขยายหรือหดพื้นที่ประชาธิปไตย โดยที่พลเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย เพราะพลเมืองส่วนใหญ่มีส่วนได้จากประชาธิปไตยความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่ เรื่องลึกลับเกี่ยวกับมือที่มองไม่เห็น หรือการเปลี่ยนรัชกาลแต่อย่างใด

ในระยะยาวพลเมืองไทยจะไม่ยอมจำนนต่อการที่สิทธิเสรีภาพถูกขโมยไปอย่างต่อเนื่องแบบนี้

(อ่านต่อ)
http://redthaisocialist.com/2011-02-22-09-46-04/610-2014-06-10-19-42-02.html  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น