ข่มขืนต้องประหาร: ข้อสังเกตบางประการ
โดย อิสร์กุล อุณหเกตุ
กระแสรณรงค์เพิ่มโทษในคดีข่มขืนให้เป็นโทษประหารชีวิตกลับมายังสังคมออ
นไลน์อีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนเด็กหญิงวัย 13 ปีบนขบวนรถไฟ
โลกโซเชียลมีเดียชักชวนกันติดแท็ก #ข่มขืนต้องประหาร
รวมถึงมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย
ข้อสังเกตประการแรก: ข่มขืน ≠ ข่มขืนฆ่า
ตามกฎหมายของไทยนั้น การ ‘ข่มขืน’ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ในกรณีที่มีการใช้อาวุธหรือการรุมโทรม และในกรณีที่กระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี [1] กฎหมายบัญญัติโทษไว้เช่นนี้ตามระดับความรุนแรงของการกระทำผิด ในขณะที่การรณรงค์ให้ใช้โทษประหารชีวิตนั้นเกิดขึ้นจากกรณี ‘ข่มขืนฆ่า’ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิตอยู่แล้ว [2] จึงสะท้อนว่าสังคมมีความสับสนบางประการระหว่างการลงโทษกรณี ‘ข่มขืน’ กับ ‘ข่มขืนฆ่า’ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าต้องการเรียกร้องให้มีการลงโทษประหารชีวิตสำหรับการ ‘ข่มขืน’ ทุกกรณีหรือไม่ อย่างไร
การลดโทษเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการรณรงค์ดังกล่าว ผู้ร่วมรณรงค์บางส่วนมีความเห็นว่า กฎหมายของไทยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลดโทษที่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดสารภาพ ได้รับโทษน้อยไม่สาสมแก่ความผิด อย่างไรก็ตาม การลดโทษนั้นเป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งศาลไม่จำเป็นต้องลดโทษเสมอไป ตัวอย่างเช่น คําพิพากษาฎีกาที่ 8688/2543 ในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งศาลเห็นว่าจำเลยมี “สภาพจิตใจที่โหดเหี้ยมทารุณผิดวิสัยมนุษย์” และไม่ลดโทษแก่จำเลย เป็นต้น
ข้อสังเกตประการที่สอง: การลงโทษ ≠ การแก้แค้น
การลงโทษผู้กระทำความผิดมีวัตถุประสงค์สำคัญหลายประการ ได้แก่ การแก้แค้นทดแทน (retribution) การป้องปรามการกระทำความผิด (deterrence) การกันผู้กระทำความผิดออกจากสังคม (incapacitation) และการแก้ไขฟื้นฟู (rehabilitation) แม้ว่าการแก้แค้นทดแทนจะเป็นเหตุผลหนึ่งในการลงโทษ แต่การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นไปเพื่อการแก้แค้นเสมอไป
การล้างแค้นอาจได้ความสะใจ แต่อาจไม่ได้ให้ผลเชิงบวกต่อการป้องปรามการกระทำความผิดเท่าที่คาดไว้ ที่ผ่านมานั้น ไทยยังมีการศึกษาวิจัยน้อยมากว่า การลงโทษแต่ละวิธีให้ผลเชิงป้องปรามการกระทำความผิดต่างกันอย่างไร เมื่อไม่มีผลการศึกษา ข้อเสนอต่อกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นผลจากอารมณ์ร่วมของผู้คนในสังคม และนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดเพื่อแก้แค้นทดแทนมากกว่าเหตุผลอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมา โดยเฉพาะผลจากขนาดของโทษที่สูงขึ้นอันมีผลบิดเบือนแรงจูงใจของผู้กระทำความ ผิด ตัวอย่างเช่น หากการ ‘ข่มขืน’ กับ ‘ฆ่าข่มขืน’ มีโทษประหารชีวิตเหมือนกัน แทนที่จะสามารถยับยั้งการก่อเหตุข่มขืน ผู้กระทำความผิดอาจเลือกฆ่าปิดปากเหยื่อด้วย เพื่อลดโอกาสที่จะถูกจับกุม เป็นต้น
ข้อสังเกตประการที่สาม: สถิติคดีข่มขืนกับการบังคับใช้กฎหมาย
ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับบทลงโทษที่รุนแรง หากแต่ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้ที่มีประสิทธิผล ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการกับคดีที่เกิดขึ้น คำถามคือมีคดีข่มขืนเกิดขึ้นจำนวนมากเท่าใด?
- ในช่วงปี 2552-2556 ตำรวจได้รับแจ้งคดีข่มขืนเฉลี่ยประมาณปีละ 4 พันคดี หรือเกิดขึ้น 1 คดีทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ประมาณปีละ 2.4 พันคดี หรือประมาณ 6 ใน 10 คดี [3]
- ในปี 2556 มีคดีข่มขืนขึ้นสู่การพิจารณาในศาลชั้นต้นประมาณ 4 พันคดี ในจำนวนนี้เป็นการข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปีประมาณ 2.5 พันคดี [4]
- ณ วันที่ 1 เมษายน 2557 มีนักโทษคดีความผิดเกี่ยวกับเพศประมาณ 4.6 พันคน
ขณะที่การสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชนของไทยในปี 2555 [7] พบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณ 0.05% ตกเป็นเหยื่อในคดีข่มขืนภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนทำการสำรวจ ซึ่งหากคำนวณเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศจะพบว่าเกิดคดีข่มขืนขึ้นจริง กว่า 3 หมื่นคดีในแต่ละปี หรือเกิดขึ้น 1 คดีทุกๆ 15 นาที เท่ากับว่าอาจมีคดีข่มขืนที่ไม่มีการแจ้งความกับตำรวจถึง 87%
ข้อสังเกตประการที่สี่: คนร้ายเป็นคนใกล้ตัว
คำถามสำคัญที่ตามมาจากข้อสังเกตข้างต้นคือ เราทราบได้อย่างไรว่าบทลงโทษเบาเกินไป ในเมื่อการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิผล? จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า คนร้ายในคดีข่มขืนเพียงประมาณ 8% เท่านั้นที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี ปัญหาที่อาจสำคัญกว่าการเพิ่มขนาดของการลงโทษคือ ทำอย่างไรให้การกระทำความผิดอีก 92% ที่เหลือเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม? คำตอบหนึ่งคือต้องเริ่มจากการมองภาพคนร้ายให้ถูกต้องเสียก่อน
จากการเก็บสถิติในหลายประเทศพบว่า การข่มขืนเกิดขึ้นโดยคนร้ายซึ่งเป็นคนใกล้ตัวมากกว่าที่จะเป็นคนแปลกหน้า การสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าการข่มขืนผู้หญิงเกิดขึ้นโดยสมาชิกในครอบครัว คู่รัก หรือเพื่อนรวมกันประมาณ 87% ซึ่งใกล้เคียงกันกับการสำรวจในอังกฤษและเวลส์ซึ่งพบว่า ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ถูกข่มขืนโดยคนแปลกหน้าที่ตนไม่รู้จัก
การสำรวจลักษณะเดียวกันในไทยพบว่า การก่ออาชญากรรมทางเพศ (ทั้งการล่วงเกินทางเพศและการข่มขืน) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยคนรู้จักของเหยื่อ (60.1%) ในเวลากลางวัน (57.9%) ในที่พักอาศัยของตัวเอง (70.9%) ดังนั้น การฉายภาพการข่มขืนเป็นกรรมกรเมาเหล้ากลิ่นเหม็นหึ่ง ดักฉุดหญิงสาวในซอยเปลี่ยวจึงผิดเพี้ยนจากความจริง และทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงของคดีข่มขืน
ข้อสังเกตส่งท้าย
บ่อยครั้งที่ ‘ความตื่นตัว’ ในกระแสโซเชียลมีเดียกลายเป็น ‘ความตื่นตูม’ ในชั่วข้ามคืน การเสนอให้ใช้โทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบมักง่ายที่ ปลายเหตุ และทำให้สังคมมองข้ามปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าซึ่งสังคมจำเป็นต้องพูดคุยถกเถียงกัน ทั้งค่านิยมเกี่ยวกับเพศ การนำเสนอข่าวสารของสื่อ รวมไปถึงความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
การเพิ่มหรือการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องง่ายดายเมื่อเทียบกับการสร้างความ ยุติธรรม มีข้อเสนอน้อยมากที่บอกว่าเราควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รับความเท่าเทียมใน กระบวนการยุติธรรม ในเมื่อมีแต่คำถามว่า ต้องประหารชีวิต ‘คนชั่ว’ กี่คนถึงจะทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย
(ที่มา)
http://www.prachatai.com/journal/2014/07/54504
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น