อีโบลา เป็นวิกฤตที่ไม่ควรจะเกิดแต่แรก
ในปี 1977 ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยม ค้นพบไวรัสอีโบลาในประเทศไซเอียร์ ประเทศหนึ่งในอัฟริกาตะวันตก ในปีนั้น พีเทอร์ พิออท และทีมวิจัยนี้แนะนำให้องค์กรต่างประเทศต่างๆ ทำการตรวจประชาชนและควบคุมการระบาดของโรคนี้แต่แรก เพื่อไม่ให้มันลามต่อไปได้ แต่ไม่มีใครฟัง เพราะประเทศต่างๆ ในอัฟริกาตะวันตกเป็นประเทศยากจนที่ “ไม่มีความสำคัญ” ในเวทีโลก เกือบ 40 ปีหลังจากนั้นก็เกิดการระบาดครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งตอนนี้คาดว่าจำนวนคนไข้ที่ตายจากอีโบลารอบนี้สูงกว่า 4000 คนแล้ว
อีโบลาเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิด “ไข้เลือดออก” ชนิดหนึ่ง ประเมินกันว่ามาจากค้างคาวและธรรมดาไม่ได้เป็นโรคของมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่มนุษย์ไม่มีภูมิต้านทาน อาการของอีโบลาในระยะแรกๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่คือไข้สูง อาเจียนและเจ็บคอ แต่ในไม่ช้าจะมีอาการเลือดออกทางหูหรือจมูกและในอวัยวะภายในอีกด้วย ซึ่งจบลงด้วยการที่ไตและตับเลิกทำงาน เกือบครึ่งหนึ่งของคนไขจะเสียชีวิต
ศาสตราจารย์ พีเทอร์ พิออท ซึ่งขณะนี้เป็นคณบดี “วิทยาลัยอนามัยและโรคเมืองร้อนของลอนดอน” อธิบายว่าอีโบลาไม่ใช่โรคที่ติดง่ายๆ ผ่านหยดน้ำในอากาศเหมือนไข้หวัดใหญ่ เขาพูดว่า “ถ้ามีคนไข้ติดเชื้ออีโบลานั่งข้างๆ ผมบนรถไฟใต้ดิน ผมจะไม่กังวลถ้าคนไข้คนนั้นไม่อาเจียนใส่ผม” อีโบลาติดได้จากของเหลว เช่นเลือด อาเจียน หรือน้ำลาย และอาจติดจากเหงื่อคนไข้ได้ แต่ของเหลวเหล่านี้ต้องเข้าปากหรือจมูกเรา อย่างไรก็ตามไวรัสนี้แปรตัวได้ถ้ามีการแพร่ระบาดไปในหมู่คนจำนวนมาก
ระยะเวลาเพาะเชื้อใช้เวลาประมาณ 21 วัน และในช่วงนี้คนไข้จะไม่มีอาการและเราติดเชื้อจากเขาไม่ได้
ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีวิกฤตอีโบลา
ในประการแรก ประเทศพัฒนาและบริษัทยาข้ามชาติ ไม่สนใจที่จะแก้ปัญหามาเกือบ 40 ปี และในกรณีบริษัทยาข้ามชาติ การผลิตวัคซีนสำหรับอีโบลาไม่ก่อให้เกิดกำไร เพราะคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นคนจนผิวดำ ข้อมูลนี้ทำให้เราเข้าใจได้ดีว่ากลไกตลาดเสรีและบริษัทยาเอกชน ไม่เคยบริการความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในโลก เพราะเรื่องกำไรเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่ง
ในประการที่สอง ไลบีเรีย เซียราลีโอน และกินนี ตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองโหดร้ายในอดีต เพราะมีการแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุโดยขุนศึกที่มีบริษัทตะวันตกหนุนหลังหรือ เป็นลูกค้า ระบบสาธารณะสุขจึงเกือบจะไม่มีหรือด้อยพัฒนามาก เผด็จการในหลายประเทศก็ไม่สนใจผลประโยชน์คนจน เพราะไม่จำเป็นต้องขึ้นมามีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง
ในประการที่สาม องค์กรไอเอ็มเอฟ และองค์กรที่เชิดชูนโยบายกลไกตลาดเสรี (ในไทย TDRI เป็นองค์กรแบบนี้) มักจะกดดันให้รัฐบาลในประเทศยากจน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐ ซึ่งมีผลในการทำลายระบบสาธารณะสุขและสาธารณูปโภค เช่นระบบแจกจ่ายน้ำสะอาดหรือไฟฟ้า ในเมืองหลวงของไลบีเรียไม่มีโรงพยาบาลของรัฐแม้แต่แห่งเดียว และในหลายประเทศต้องมีการพึ่งพาหมออาสาสมัครของ “แพทย์ไร้พรมแดน” หรือจากประเทศคิวบา
สภาพย่ำแย่ของระบบสาธารณะสุขในหลายประเทศของอัฟริกาตะวันตก รวมถึงการที่หมอและพยาบาลขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัว ทำให้อีโบลากลายเป็นวิกฤต เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วการรักษาและการป้องกันการแพร่ระบาดจะทำได้อย่าง จริงจัง ส่วนในไลบีเรียหรือที่อื่นในอัฟริกาตะวันตก หมอและพยาบาลล้มตายไปจำนวนมากหลังจากที่ดูแลคนไข้
ในระยะสั้นคงต้องมีการเร่งผลิตยารักษาและวัคซีน ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและยังไม่พร้อมที่จะถูกใช้อย่างปลอดภัย เพื่อให้คนไข้ได้รับทันที เพราะขณะนี้หมอกับพยาบาลได้แต่ให้น้ำเกลือ และต้องมีการเร่งส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์จากประเทศที่ร่ำรวย แต่รัฐบาลของมหาอำนาจไม่สนใจจะแก้ปัญหาอีโบลาเท่าไร พร้อมจะลงทุนมหาศาลในการก่อสงคราม แต่ไม่พร้อมจะป้องกันไม่ให้คนทั่วไปตายจากโรคร้าย
อีโบลาและโรคระบาดร้ายแรงอื่นๆ พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเรื่องการแพทย์กับเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจแยกกันไม่ ออก และภายใต้ระบบทุนนิยมกลไกตลาดเสรี คนจน คนผิวดำ และผู้ถูกกดขี่อื่นๆ มักจะไม่ได้รับการบริการแต่อย่างใด ทุนนิยมมองไม่เห็นหัวมนุษย์ เราจึงต้องรวมตัวกันต่อสู้เพื่อสังคมนิยมและประชาธิปไตยแทน
(ที่มา)
http://turnleftthai.wordpress.com/2014/84/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น