หน้าเว็บ

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รากฐานต้นกำเนิดความขัดแย้งปัจจุบันในไทย[1]

ใจ อึ๊งภากรณ์


บทสรุป


วิกฤต การเมืองไทยมีส่วนคล้ายการลุกฮือที่ตะวันออกกลางแค่ไหน? ทั้งๆ ที่วิกฤตไทยเกิดก่อนการลุกฮือที่ตูนิเซียหรืออียิปต์ แต่การศึกษาเปรียบเทียบสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง ทำให้เราเห็นเงื่อนไขร่วมที่สำคัญบางประการ โดยเฉพาะ โครงสร้างส่วนบนทางการเมือง ซึ่งสร้างขึ้นมาเมื่อ 30 ปี ก่อน และเกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับสภาพสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การขยายตัวของเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขนโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรี และภายใต้ระบบการเมืองเผด็จการ มีผลในการสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งปัจจุบัน ถ้า เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้และความเป็นธรรมทางสังคมในไทย ซึ่งหมายถึงการล้มอำมาตย์ ปฏิรูปกองทัพ และสร้างมาตรฐานความยุติธรรม ขบวนการประชาธิปไตยและนักสังคมนิยมจะต้องขยันในการดึงแรงงานเข้ามามีส่วน ร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง 

วิกฤตการเมืองไทยมีส่วนคล้ายการลุกฮือที่ตะวันออกกลางแค่ไหน?


ทั้งๆ ที่วิกฤตไทยเกิดก่อนการลุกฮือที่ตูนิเซียหรืออียิปต์ แต่การศึกษาเปรียบเทียบสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง ทำให้เราเห็นเงื่อนไขร่วมที่สำคัญบางประการ

ในประเทศอย่างอียิปต์ หรือตูนิเซีย โครงสร้างส่วนบนทางการเมือง ซึ่งสร้างขึ้นมาเมื่อ 30 ปีก่อน เกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับสภาพสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นคนในเมือง และมีการเพิ่มความมั่นใจทางการเมืองผ่านการศึกษาและการนัดหยุดงานและประท้วง เป็นระยะๆ เขาไม่พร้อมจะอยู่ต่อไปเหมือนเดิมโดยที่อำมาตย์ผูกขาดอำนาจทางการเมือง ยิ่งกว่านั้นการใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วของรัฐบาลมาหลายปี ตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยเพิ่มขึ้นมหาศาล ในบริบทของวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 สังคมตะวัน ออกกลางไม่สามารถสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับคนส่วนใหญ่ แต่การระเบิดขึ้นของมวลชนในการปฏิวัติล้มอำมาตย์ที่อียิปต์ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในวันเดียว ในสิบปีก่อนหน้านี้มีการลุกฮือและนัดหยุดงานของกรรมาชีพอย่างต่อเนื่องพร้อม กับการพัฒนาองค์กรทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย[2]

สิ่ง ที่นักข่าวเรียกว่า “ฤดูใบไม้พลิอาหรับ” มาจากความขัดแย้งลึกๆ ในสังคม แต่เกิดขึ้นได้เพราะการลุกฮือต่อสู้ของมนุษย์ที่ได้สะสมประสบการมานานพอ สมควร


นักวิชาการสวีเดนชื่อ Eva Hansson ใน หนังสือของเขาเกี่ยวกับการเมืองเวียดนามที่ชื่อ “การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยไร้ประชาธิปไตย” ได้ตั้งสองคำถามสำคัญเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ (๑) การเมืองที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านการใช้กลไกตลาดเสรี เพิ่มความเป็นประชาธิปไตยหรือส่งเสริมเผด็จการ? และ (๒) การที่ขบวนการแรงงานถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอหรือไม่?[3]


ใน การสำรวจเบื้องต้น ถ้าเราเปรียบเทียบการลุกฮือที่จตุรัส “ทาห์เรีย” ในเมืองไคโรประเทศอียิปต์ กับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ เราจะพบว่าชัยชนะของชาวอียิปต์มาจากการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน[4] แต่ในกรณีไทยที่ไม่มีการนัดหยุดงาน คนเสื้อแดงพ่ายแพ้และถูกปราบ ซึ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของขบวนการแรงงานในการสร้างประชาธิปไตย ตามคำถามที่สองของ Hansson 


คน ที่ชี้ไปที่ตัวบุคคลของ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อ “อธิบาย” ว่าวิกฤตไทยมาจากการกระทำของเขาคนเดียว เป็นคนที่ไม่อยากเข้าใจอะไรเลย แต่ถ้าเราจะวิเคราะห์ลึกกว่านั้น เราจะเห็นว่ารัฐบาลไทยรักไทยที่เข้ามาในปี 2001 (๒๕๔๔) หลังวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรัฐบาล “คิดใหม่ทำใหม่” ที่มีพลวัตรจริงๆ เพราะนโยบายใหม่ๆ ของไทยรักไทยในที่สุดไปกระทบโครงสร้างเก่าของพวกอภิสิทธิ์ชนไทย ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้มีเจตนาหรือแผนที่จะทำอย่างนี้เลย และความขัดแย้งนี้นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาท่ามกลางการโวยวายอย่างรุนแรงของพวกชนชั้นกลางฝ่ายขวาเสื้อเหลือง


คน ที่วิเคราะห์สถานการณ์ไทยอย่างผิวเผินท่ามกลางอคติกับคนจน จะมองว่าเสื้อแดงเป็นเพียง “เครื่องมือของทักษิณ” ทั้งๆ ที่เราเห็นได้ชัดว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์ไทย ซึ่งหลังจากที่ถูกตั้งขึ้นโดยนักการเมืองสามเกลอของรายการ “ความจริงวันนี้” ได้วิวัฒนาการพัฒนาไปเป็นขบวนการที่นำตนเองจากรากหญ้า เชื่อมกับแกนนำระดับชาติ สิ่งที่พวกวิเคราะห์ผิวเผินไม่เข้าใจคือ การที่เสื้อแดงรักทักษิณ หรือการที่เสื้อแดงเชียร์พรรคเพื่อไทยและนายกยิ่งลักษณ์ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น “ลูกน้อง” ที่รับคำสั่งจากทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ ทั้งๆ ที่นักการเมืองสองคนนี้และพรรคเพื่อไทยจะมีอิทธิพลต่อความคิดเสื้อแดงก็ตาม เพราะในขณะเดียวกันคนเสื้อแดงก็มีประสบการณ์และความคิดของตนเอง และการที่เขาออกมาสู้ ไม่ใช่ว่าออกมาเพื่อผลประโยชน์คนอื่น เพราะผลประโยชน์ของคนเสื้อแดงก็มีอย่างชัดเจน ในช่วงที่ทักษิณไม่ออกมานำการต่อสู้ของคนเสื้อแดง มัวแต่พูดเรื่องการปรองดองหรือปัญหาของตนเองคนเดียว หรือในช่วงที่ทักษิณชักชวนให้คนเสื้อแดงจงรักภักดี มีเสื้อแดงไม่น้อยที่เริ่มรำคาญ สรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและพรรคพวก กับเสื้อแดง มันมีหลายมิติหลายทิศทางพร้อมกัน และเปลี่ยนแปลงเสมอ คือมันเป็นความสัมพันธ์เชิงวิภาษวิธี ไม่ใช่แบบระบบอุปถัมภ์ระหว่าง “นาย” กับ “ลูกน้อง” แต่อย่างใด


การให้ความสำคัญกับทักษิณคนเดียว ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ความขัดแย้งลึกๆ ในสังคมไทยในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้เลย


บาง คนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์การเมืองเพียงพอ จะพูดง่ายๆ ว่าความขัดแย้งในสังคมไทยที่นำไปสู่วิกฤต คือความขัดแย้งระหว่างนโยบาย “โลกาภิวัตน์กลไกตลาดเสรี” ของทักษิณและไทยรักไทย ในฐานะที่เป็น “กลุ่มนายทุนสมัยใหม่” กับนโยบาย “ปิดประเทศต้านโลกาภิวัตน์ต้านเสรีนิยม” ของอำมาตย์หัวเก่า[5]ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริงเลย


ใน ความเป็นจริง นโยบายของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา และนโยบายของรัฐบาลทหารของอภิสิทธิ์ ล้วนแต่ใช้แนวเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว ที่คัดค้านการใช้รัฐและงบประมาณรัฐในการพัฒนาสภาพคนจน และนอกจากนี้มีการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่คัดค้านการกระจายรายได้ แช่แข็งความเหลื่อมล้ำ และเรียกร้องให้คนจนเจียมตัวปรับตัวกับความยากจน ซึ่งเป็นลัทธิที่เข้ากับเสรีนิยมกลไกตลาดได้ดี เห็นได้จากการที่นักวิชาการเสรีนิยมอย่าง Chris Baker กับ Peter Warr[6] เห็นด้วยกับลัทธิพอเพียงอันนี้ 


ส่วนนโยบายของไทยรักไทยเป็นนโยบาย “คู่ขนาน” ที่ใช้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าตามแนวเคนส์ (Keynes)ใน ระดับหมู่บ้านและชุมชนภายในประเทศ ร่วมกับแนวกลไกตลาดเสรีในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นโยบายของไทยรักไทยนี้ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และประสบความสำเร็จผ่านการ “นำคนจนมาเป็นผู้ร่วมพัฒนา” เพื่อประโยชน์ของนายทุน รวมถึงกลุ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย ในระยะแรกมันมีผลในการสร้างความสามัคคีในทุกระดับของสังคม


เราต้องเน้นและเข้าใจว่าการนำนโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรีเข้ามาใช้ในไทย กระทำไปในหลายขั้นตอนมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทำตามคำแนะนำของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ต่อมาในช่วงรัฐบาลทหารของ รสช. ที่มีนาย อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องไฟแนนส์และการลงทุน มรดกของนโยบายปล่อยวาง ที่เน้น “มือที่มองไม่เห็น” ของกลไกตลาดเสรี เห็นชัดในกรณีสภาพจราจรในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีการวางแผนในระบบขนส่งมวลชนเลย[7] และพึ่งมาเริ่มวางแผนสร้างรถไฟหลายสายภายใต้รัฐบาลไทยรักไทยไม่กี่เดือนก่อนรัฐประหาร


สรุปแล้ว ถ้าจะตอบคำถามแรกของ Hanson การ ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดในไทยเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เกิดขึ้นภายใต้เผด็จการทหารของอำมาตย์ และไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบางช่วงเพราะมวลชนออกมาต่อสู้ และในยามที่มีประชาธิปไตย พรรคการเมืองอย่างไทยรักไทยจำเป็นต้องฟังข้อเรียกร้องของประชาชนที่อยากเห็น คนจนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมช่วยเหลือของรัฐ ยิ่งกว่านั้นการใช้นโยบายกลไกตลาดเสรีของรัฐอำมาตย์ไทยมานาน ในสภาพที่ไร้ประชาธิปไตย มีผลในการสร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งในสังคมหลายครั้ง ไม่ว่าจะช่วงการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลัง ๑๔ ตุลา หรือช่วงวิกฤตการเมืองปัจจุบัน


การ ที่รัฐบาลไทยรักไทยต้องฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะคนจน ทั้งๆ ที่พรรคนี้ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม และเป็น “พรรคของนายทุนเพื่อนายทุน” ทำให้นักวิชาการฝ่ายขวาที่มีอคติกับคนจนเรียกรัฐบาลนี้ว่าเป็นรัฐบาล “ประชานิยม” เหมือนกับว่าคำนี้เป็นคำด่าหรือคำสกปรก แต่เราต้องถามพวกนี้ว่าในประชาธิปไตยทุกรัฐบาลควรทำตามสิ่งที่ประชาชนต้อง การไม่ใช่หรือ? ในใจลึกๆ แล้วพวกนักวิชาการที่ด่าไทยรักไทยว่าใช้ “ประชานิยม” เป็นพวกที่ดูถูกวุฒิภาวะของประชาชนส่วนใหญ่ที่จะตัดสินใจทางการเมือง[8] เขามองว่าข้อเรียกร้องของคนจน “ไม่เป็นประโยชน์ต่อชาติ” เพราะเขามองว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนในชาติของคนชั้นสูง พวกนี้เลยสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา และเสื้อเหลือง[9]


อย่าง ไรก็ตามเราไม่ควรคิดว่าเสื้อแดงทุกคนที่ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นคนที่มีจิตสำนึกคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดอย่างชัดเจน เพราะหลายคนที่เป็นเสื้อแดงระดับปัญญาชนหรือนักศึกษาเข้าใจผิดว่าอำมาตย์ เป็นพวกปิดประเทศคัดค้านโลกาภิวัตน์แบบล้าหลัง และหลงคิดว่ากลไกตลาดเสรีเป็นสิ่งเดียวกับประชาธิปไตย ซึ่งมันไม่ใช่ การที่คนจำนวนมากในประเทศไทยไม่เข้าใจเรื่องเสรีนิยมกลไกตลาด มีส่วนมาจากการที่องค์กรสำคัญๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่ เอ็นจีโอ ที่มาภายหลัง ไม่สนใจเรื่องนี้เท่าไร พรรคคอมมิวนิสต์สนใจแต่การต่อสู้กับ “จักรวรรษนิยมและศักดินา” โดยหวังทำแนวร่วมกับนายทุนก้าวหน้า ส่วน เอ็นจีโอ หลายกลุ่ม ยกเว้นพวกที่รณรงค์เรื่องยารักษาเอดส์[10] มักจะมองกลไกตลาดเสรีในแง่บวก ถ้าผู้ใช้กลไกตลาดคือ “คนไทย”[11]


อย่าง ไรก็ตาม ไม่ว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะคิดอย่างไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง สาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้เขาออกมาสู้คือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่มา จากนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่รัฐอำมาตย์ไทยใช้มานาน และอาการหนึ่งของการตื่นตัวทางเศรษฐกิจการเมือง คือการใช้คำว่า “ไพร่” ด้วยความภูมิใจ

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ 

โดย รวมแล้วการขยายตัวของเศรษฐกิจมีผลในการพัฒนาชีวิตประชาชน แต่ผลนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่จะเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยการท้าทายและละเมิดกฏของตลาดเสรี


ในปี 1954 (๒๔๙๗) 88% ของประชากรในวัยทำงานทำงานในภาคเกษตร[12] แต่พอถึงปี 2002 (๒๕๔๕) ในช่วงตอนต้นของรัฐบาลไทยรักไทย สัดส่วนคนที่ทำงานในภาคเกษตรนี้ลดลงเหลือแค่ 37% โดยที่ 63% ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ[13] แม้แต่คนที่ถูกนิยามว่าทำงานในภาคเกษตร มีหลากหลายอาชีพในความเป็นจริง ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรปนกัน เพราะอาชีพเดียวเลี้ยงครอบครัวและตัวเองไม่ได้[14] ตลอดเวลาหลายสิบปีหลัง 1954 (๒๔๙๗) สัดส่วนของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มาจากภาคเกษตรได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลว่าประสิทธิภาพในการสร้างมูลค่าของภาคเกษตรลดลงเมื่อเทียบกับภาคอื่น เป็นผลทำให้คนชนบทต้องไปหางานในเมือง Andrew Walker นัก มนุษวิทยาประเมินว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ในยุคนี้ ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยแล้ว แต่เป็น “เกษตรกรระดับกลาง” ที่พอเอาตัวรอดได้ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือ คนเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของมวลชนเสื้อแดง[15]

การ แบ่งแยกประเทศระหว่าง “ชนบท” กับ “เมือง” ในยุคนี้ไม่ชัดเจนเหมือนที่มีการพูดกันบ่อยๆ เพราะชนบทมีสภาพ “ความเป็นเมือง” มากขึ้น มีอาชีพนอกเกษตรมากขึ้น และทั้งคนเมืองและคนชนบทพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะผ่านสายสัมพันธ์ของครอบครัว หรือในเรื่องเศรษฐกิจ[16] และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีทั้งในชุมชนเมืองและในชนบท ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเข้าใจว่าเสื้อแดงไม่ใช่แค่ขบวนการของคนชนบทภาคอีสานหรือภาคเหนือเท่า นั้น ซึ่งเห็นได้จากการที่คนกรุงเทพฯไม่น้อยไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์และผ่านฟ้า และยังลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยในทุกเขตของกรุงเทพฯ อีกด้วยทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะในหลายเขต


เรา ควรจะเข้าใจอีกด้วยว่านโยบายช่วยคนจนของไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันสุขภาพ หรือกองทุนหมู่บ้าน ที่ตั้งเป้าหมายไปที่คนชนบท เพราะคนงานในเมืองมีประกันสังคมอยู่แล้ว เป็นนโยบายที่ช่วยคนงานในเมืองด้วย เพราะลดภาระในการช่วยเหลือญาติพี่น้องในชนบท

สำหรับ สตรีไทย ซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานในเมืองมากขึ้น หลังจากที่เคยเป็นแรงงานในภาคเกษตร ประสบการณ์สำคัญคือการที่มีรายได้ของตนเอง ไม่ต้องพึ่งครอบครัวและผู้ชาย ซึ่งทำให้มีความมั่นใจทางการเมืองมากขึ้น[17] และเราจะสังเกตเห็นว่าขบวนการเสื้อแดงในระดับรากหญ้าประกอบไปด้วยผู้หญิงจำนวนมาก

ในปี 1960 (๒๕๐๓) แค่ 20% ของประชากรไทยจบม.๓ โดยที่ผู้ชายมักจะจบสูงกว่าผู้หญิงในภาพรวม[18] แต่พอถึงปี 1999 (๒๕๔๒) กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า 84% ของเด็กอายุ12-14 ปีกำลังเรียนในระดับมัธยมต้น และในระบบการศึกษาไทยผู้หญิงมีแนวโน้มจะได้ผลสอบดีกว่าผู้ชาย 


ประชาชน ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาในโรงเรียนก่อนที่จะเข้าใจประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ อย่างที่พวกนักวิชาการหัวโบราณชอบเสนอ แต่การศึกษาช่วยให้คนมั่นใจในการถกเถียงและต่อสู้ ซึ่งมีผลกับความมั่นใจของเสื้อแดงที่จะลุกขึ้นและเลิกหมอบคลาน ยิ่งกว่านั้นมันช่วยให้คนเสื้อแดงใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ทในการสื่อ สาร สร้างเครือข่าย ส่ง และรับข้อมูล โดยเฉพาะในยามที่มีการปิดกั้นเซ็นเซอร์สื่อโดยเผด็จการอำมาตย์ อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ได้เสนอเลยว่า Facebook, Skype หรือ Twitter เป็นสิ่งที่ทำให้คนลุกขึ้นสู้ อย่างที่มีนักข่าวเสนอเกินเหตุ[19]

เราเถียงไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวจริงจากระดับ GDP ต่อหัว $100 ในปี 1960 (๒๕๐๓) ไปเป็น $3000 ในปี 1996 (๒๕๓๙) และ $4000 ในปี 2008 (๒๕๕๑)[20] แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ค่าจ้างจริงหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงปี 1975 (๒๕๑๘) เกือบจะไม่ได้เพิ่มเลย ทั้งๆ ที่มีการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิตมหาศาล[21] ในปี 1975 (๒๕๑๘) ดัชชนี Gini ซึ่งวัดความเท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ เท่ากับ 0.43[22] แต่พอถึงปี 2009 (๒๕๕๒) มันแย่ลงเป็น 0.54[23] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใต้นโยบายกลไกตลาดสร้างความเหลื่อมล้ำ ถ้าเทียบกับสองประเทศอื่นในเอเชียในปี 2009 ปีเดียวกัน จะเห็นว่าดัชชนี Gini ของจีนเท่ากับ 0.42 และของอินเดียเท่ากับ 0.37[24] ซึ่งนับว่าดีกว่าไทย ในปีเดียวกัน 2009 (๒๕๕๒) คนรวยที่สุดในไทย 20% ครอบครอง 59% ของทรัพย์สินทั้งหมด ในขณะที่คนจนที่สุด 20% ครองแค่ 3.9% แม้แต่คนระดับกลางๆ 20% ครองแค่ 11.4% [25] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สมบัติในไทยกระจุกตัวอยู่เบื้องบนเป็นอย่างมาก


ความ รู้สึกไม่พอใจกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของคนเสื้อแดง ไม่ได้เกิดจาก “ความยากจนสุทธิ” ในลักษณะหยาบๆ คือคนที่ออกมาสู้ไม่ใช่คนที่กำลังอดตายหรือยากจนที่สุด และทุกคนก็มีฐานะดีกว่ารุ่นพ่อแม่ แต่ความไม่พอใจมาจากความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจถ้าเทียบกับคนชั้นสูง คือผลของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นการที่พรรคไทยรักไทยและทักษิณประกาศว่าจะให้ “คนจนเป็นผู้ร่วมพัฒนา” แทนที่จะมองอย่างที่อำมาตย์มอง ว่าคนจนเป็น “ภาระ” ของชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมากนิยมพรรคไทยรักไทย และยิ่งกว่านั้นการที่จะพูดว่าคนจนเป็นภาระเป็นการโกหก เพราะการขยันทำงานของคนจน เป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายแต่แรก และทำให้พวกอภิสิทธิ์ชนร่ำรวยจากการขูดรีด

นอก จากความโกรธแค้นไม่พอใจที่มาจากสภาพเศรษฐกิจแล้ว ในด้านสังคม การที่สังคมไทยมีชั้นชนที่ชัดเจนและน่าเกลียด จนทำให้คนส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นใต้ตีน” คนใหญ่คนโต หรือการที่ผู้น้อยต้องก้มหัวให้ผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครมาตรวจสอบได้ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความขัดแย้งอีกด้วย ในเรื่องนี้ผู้เขียนไม่ได้เจาะจงไปที่กษัตริย์และราชวงศ์อย่างเดียว เพราะคนใหญ่คนโตที่ได้อภิสิทธิ์มีมากกว่านั้น

ความ เหลื่อมล้ำทางสังคมที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรง เห็นได้ชัดในภาษาพูดที่มีคำพิเศษสำหรับคนชั้นสูง มีการเรียกผู้ใหญ่ว่า “ท่าน” และมีค่านิยมให้สตรีเรียกตนเองว่า “หนู” เหมือนกับว่าเป็นแค่เด็กๆ อันนี้ไม่พูดถึงเรื่อง ราชาศัพท์ ด้วย และเราคงทราบดีว่า บ่อยครั้งที่เราพบคนที่ไม่เคยรู้จักกันก่อน มีการสอบถามอายุและตำแหน่งงาน เพื่อประเมินว่าอีกฝ่ายมีฐานะ “สูง” หรือ “ต่ำ” กว่าเรา เพื่อที่จะเลือกใช้ภาษาที่ “เหมาะสม” จริงๆ แล้วพลเมืองทุกคนควรใช้คำว่า “ฉัน ผม คุณ” กับทุกคนโดยไม่เลือกหน้า หรืออาจเรียกคนอื่นทุกคนว่า “ท่าน” ก็ได้ ตามทำเนียมใหม่ที่พบในสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งในภาคตะวันออก


ก่อน วิกฤตการเมืองปัจจุบัน มีการต่อสู้ทางชนชั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และการต่อสู้ช่วง ๑๔ ตุลา และช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล เป็นจุดสำคัญๆ และในทุกกรณีการต่อสู้นี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างคนชั้นล่างและคนชั้นบน ที่ผสมผสานเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง กับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ เราอาจเข้าใจผิดว่าสังคมเริ่มสงบสุขและปราศจากความขัดแย้ง และฝ่ายอำมาตย์พยายามจะสร้างข้อตกลงระหว่างอดีตคอมมิวนิสต์กับตัวเอง ผ่านการปรองดองที่ให้เปรียบทุกอย่างกับอำมาตย์ แต่การขยายตัวชั่วคราวของเศรษฐกิจ ทำให้ทุกคนดูเหมือนพอใจระดับหนึ่ง นั้นคือยุคก่อนวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” แต่พอเกิดวิกฤตและพวกอภิสิทธิ์ชนเผยความโหดร้ายเห็นแก่ตัว ผ่านนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่นำเงินภาษีประชาชนไปอุ้มบริษัทไฟแนนส์ แล้วให้คนจนแบกรับภาระในการจ่ายหนี้ผ่านการตกงานหรือลดรายได้ ประชาชนก็ไม่พอใจและพร้อมจะรับนโยบายใหม่ๆ ของไทยรักไทยที่เสนอว่า “ต้องช่วยทุกคน ไม่ใช่แค่คนรวย”

ใน บางยุคบางสมัย ถ้าดูสภาพสังคมแบบผิวเผิน เราอาจหลงคิดว่าทุกคนสงบสุข และสังคมมีความมั่นคงปราศจากความขัดแย้ง แต่ภายใต้ภาพลวงตานี้ประชาชนไทยเบื่อหน่ายต่อการแบ่งสังคมตามลำดับชนชั้น การมีผู้ใหญ่กับผู้น้อย หรือการที่คนข้างบนดูถูกคนข้างล่าง อย่างไรก็ตามความเคยชิน ขี้เกียจ หรือการขาดความมั่นใจที่จะลุกขึ้นสู้ อาจทำให้ไม่มีใครเคลื่อนไหวทั้งๆ ที่ความไม่พอใจดำรงอยู่


แต่ พออำมาตย์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้ง พอพันธมิตรฯก้าวร้าวใช้ความรุนแรงบนท้องถนน โดยไม่ถูกลงโทษ พอทหารและศาลล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และสร้างระบบสองมาตรฐานทางกฏหมาย พอทหารฆ่าประชาชนคนเสื้อแดงอย่างเลือดเย็น และการที่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถูกอ้างว่า “ทำเพื่อสถาบันกษัตริย์” โดยที่กษัตริย์ไทยเงียบเฉยต่อการฆ่าประชาชน และราชินีประกาศตัวเข้าข้างพันธมิตรฯอย่างชัดเจน ความไม่พอใจที่สะสมมานานก็ระเบิดออกมา ผลคือการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในทัศนะความคิดที่มี ต่อชนชั้นเบื้องบน แน่นอนสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียวหรือแม้แต่ปีเดียว แต่มันค่อยๆ พัฒนาขึ้น บางครั้งช้า บางครั้งอย่างรวดเร็ว และมันเป็นผลของการที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปในขณะที่โครงสร้างส่วนบนยังแช่แข็ง อยู่


นี่ คือวิกฤตแห่งความชอบธรรมของชนชั้นปกครองไทยและระบบการปกครองที่ออกแบบตกลง กันหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การต่อสู้รอบใหม่จะจบลงอย่างไร ไม่ได้ถูกกำหนดมาโดยอัตโนมัติ ถ้าขบวนการเสื้อแดงจะผลักสังคมไทยไปข้างหน้าเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพทางการ เมืองกับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม คนเสื้อแดงจะต้องประกาศอิสรภาพจากพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลใหม่ และที่สำคัญคือจะต้องหันไปให้ความสำคัญกับพลังของขบวนการแรงงาน



กรรมาชีพ


ทั้งๆ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นประโยชน์กับกรรมาชีพจำนวนมากที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และในตำแหน่งระดับล่างของภาคบริการ แกนนำเสื้อแดงที่มีรากฐานการกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน ไม่เคยเห็นความสำคัญของการขยายการจัดตั้งของขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรง งานเลย และการจัดตั้งของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะทำ ให้สหภาพแรงงานต่างๆ เคลื่อนไหวร่วมกับเสื้อแดง สำแดงพลังทางเศรษฐกิจของแรงงาน ผ่านการนัดหยุดงาน และพิสูจน์ความสำคัญของแรงงานในการต่อสู้กับอำมาตย์ สถานการณ์นี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของเสื้อแดง และช่วยเปิดโอกาสให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารเข่นฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราช ประสงค์เมื่อปี 2010 (๒๕๕๓)

ถ้าเราเปรียบเทียบกับกรณีการประท้วงล้มเผด็จการมูบารักในอียิปต์ เมื่อต้นปี 2011(๒๕๕๔) เราจะเห็นว่าก่อนหน้านั้นหลายปี ขบวนการฝ่ายซ้ายทำงานใต้ดินเพื่อเสริมสร้างขบวนการสหภาพแรงงานที่อิสระจาก รัฐ จนมีกระแสนัดหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 2006 สี่ปีก่อนการประท้วงล้มมูบารัก[26] การออกมานัดหยุดงานของสหภาพคู่ขนานกับการประท้วงที่จตุรัสทาห์เรีย เป็นเงื่อนไขชี้ขาดที่ทำให้กองทัพอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกไปก่อนที่ ประชาชนจะเขี่ยนายพลออกไปด้วยและทำการปฏิวัติสังคม และหลังจากที่มูบารักถูกล้ม สหภาพแรงงานอิสระที่เกิดขึ้น ได้รวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองของกรรมาชีพและเกษตรกร


นอก จากกรรมาชีพไทยจะไม่มีการจัดตั้งโดยคนเสื้อแดงและไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อ ล้มอำมาตย์แล้ว สหภาพแรงงานไทยในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยพยายามตั้งพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพและเกษตรกรเลย ยิ่ง กว่านั้นในกรณีพรรคกรรมาชีพและเกษตรกรอียิปต์ และขบวนการสหภาพแรงงานอิสระ มีการประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่รับเงินจากองค์กรใดๆ รวมถึงเอ็นจีโอด้วย เพราะจุดยืนนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญของความอิสระ แต่สหภาพแรงงานไทยจำนวนไม่น้อย รับเงินจากองค์กรเอ็นจีโอ ซึ่งทำให้ขาดความอิสระ และทำให้มีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ก้าวหน้า เนื่องจากเอ็นจีโอส่วนใหญ่เป็นเสื้อเหลืองที่เข้าข้างอำมาตย์[27]


เวลา ที่นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวแรงงานพูดถึง “ความอ่อนแอ” ของขบวนการแรงงาน เขามักจะชี้ไปที่สัดส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ ซึ่งในปี 2007 (๒๕๕๐) อยู่ที่ประมาณ 3.5% หรือ อาจมีการพูดถึงการที่มีหลายสภาและสหภาพแรงงาน “ขาดเอกภาพ” แต่ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้มีผลบ้างในการกำหนดความเข้มแข็งของแรงงาน มันไม่ใช่ประเด็นหลัก


ประเด็น หลักที่นำไปสู่ความอ่อนแอในขบวนการแรงงานคือ “การเมือง” เพราะการเมืองของขบวนการแรงงานเป็นเข็มทิศที่ชี้ทางไปสู่วิธีการจัดตั้ง และยุทธวิธีในการใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม


ใน อดีตนักสังคมนิยมในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เคยให้ความสำคัญในการจัดตั้งแรงงาน แต่หลังจากที่พรรคเริ่มหันไปเน้นการจับอาวุธในป่า การทำงานสายแรงงานถูกลดความสำคัญลง พอถึงยุค “ป่าแตก” และการล่มสลายของ พคท. ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจัดตั้งแรงงานลดน้อยลงจนเกือบจะไม่ เหลือ และ เอ็นจีโอ ก็เข้ามาแทนที่


ในปัจจุบันกลุ่ม “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอ ที่เข้าไป ช่วยแรง งานมีแนวโน้มจะเสนอให้คนงานทำตามกฎหมายนายทุนในระบบ “แรงงานสัมพันธ์” และไม่คิดต่อสู้ทางชนชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร ACILS/Solidarity Center ซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อ พัฒนาแรงงานองค์กร นี้ไม่เคยสนับสนุนการนัดหยุดงานเลย ทั้งๆ ที่การนัดหยุดงานเป็นวิธีหลักในการต่อสู้ของแรงงาน อีกองค์กรหนึ่งที่ให้เงินสหภาพแรงงานและชวนให้แรงงาน “แยกตัวออกจากการเมือง” คือ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES.) ของเยอรมัน แนวคิดของ FES จะ เน้นการแยกบทบาทระหว่างสหภาพแรงงาน ที่เขามองว่าควรต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง กับพรรคการเมืองของแรงงาน ที่เขามองว่าควรลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภา จุดยืนนี้สอดคล้องกับกฏหมายของอำมาตย์ไทยที่มองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรยุ่งการ เมือง ในรูปธรรมผลของแนวคิดแบบนี้คือ ไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองในขบวนการแรงงาน และสหภาพแรงงานจะไม่ออกมานัดหยุดงานในประเด็นการเมืองเลย นอกจากนี้ FES เชื่อว่า “สังคมนิยมหมดยุค” และแรงงานต้องยอมรับว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลไกตลาดเสรี นี่คือสาเหตุที่ FES เชิญ อ. Thomas Meyer มานำเสนอในงานเสวนาต่างๆ ให้แรงงานไทยบ่อยๆ

นอก จากนี้ เอ็นจีโอ มักเน้นการทำงานกับกลุ่มคนงานที่พ่ายแพ้ไปแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีผลในการพัฒนาความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเลย และที่สำคัญประสบการณ์จากทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กร เอ็นจีโอ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเท่ากับพรรคการ เมืองของฝ่ายซ้าย เพราะพรรคฝ่ายซ้ายสามารถประสานและเสริมพลัง ของขบวนการแรงงานในด้านความคิดทางการเมือง เพื่อให้นักสหภาพนำตนเองแทนที่จะพึ่ง “พี่เลี้ยง” และเงินจากภายนอก และในกรณีที่สหภาพแรงงานเข้มแข็งจริง จะไม่มีการพึ่งพา เอ็นจีโอ เลย เช่นในเกาหลีใต้ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งจนองค์กร เอ็นจีโอ มักจะเป็นฝ่ายมาขอพลังความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน K.C.T.U.


ปัญหา หลักของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบันคือการที่ยังไม่ค่อยสำแดงพลังด้วยการนัด หยุดงาน สาเหตุไม่ใช่เพราะว่ามีการปราบปรามจากรัฐและนายจ้าง แต่มาจากการขาดความมั่นใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับความอ่อนแอในการสร้างความสมานฉันท์หนุนช่วยซึ่งกันและกันใน ขบวนการแรงงาน สิ่งเหล่านี้แก้ได้โดยการทำงานของนักสังคมนิยมในขบวนการแรงงาน เพราะแนวคิดของนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมจะเน้นว่า “รัฐ” และกฏหมายของรัฐ เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง และความเข้มแข็งของแรงงานมาจากพลังการนัดหยุดงานกับการหนุนช่วยกัน โดยที่สหภาพแรงงานไม่ควรแยกประเด็นการเมืองออกจากประเด็นเศรษฐกิจปากท้องเลย นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวสังคมนิยม จะเน้นการสร้างเครือข่ายของแกนนำรากหญ้า เช่นสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ ที่สามารถสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานที่ทำงานได้ แทนที่จะไปผิดหวังอย่างต่อเนื่องกับผู้นำสภาแรงงานระดับชาติเป็นประจำ


ใน ยุคปัจจุบัน นอกจากผู้นำสภาแรงงานระดับชาติแล้ว องค์กรสภาแรงงานสากลต่างๆ เริ่มพยายามเข้ามาจัดตั้งแรงงานในประเทศไทยมากขึ้น การที่สภาสากลช่วยให้คนงานไทยตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานที่ไม่มีสหภาพ แรงงาน เป็นเรื่องดี แต่ในทางการเมืองสภาแรงงานสากลเหล่านี้จะไม่ส่งเสริมการนัดหยุดงานเพื่อเป้า หมายทางการเมืองเลย และจะไม่มีผลอะไรเลยในการปกป้องผู้นำแรงงาน หรือสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะสภาแรงงานสากลทุกแห่งนำโดยเจ้าหน้าที่ “แรงงานข้าราชการ” ที่ห่างเหินจากขบวนการแรงงานจริงในทุกประเทศ เราจะเห็นว่าในประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง อย่างเช่นในยุโรปตะวันตก หรือเกาหลีใต้ สภาแรงงานสากลเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย


ขบวน การแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกที่จะหันหลังให้กับการเมือง แนวคิดแบบนี้ ที่เรียกว่า “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องการต่อสู้ของเสื้อแดงเพื่อล้มอำมาตย์ หรือการตั้งพรรคการเมืองอิสระเป็นต้น


ความ อ่อนแอทางการเมืองของขบวนการแรงงานไทย เปิดช่องให้คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข นำการเมืองปฏิกิริยาของพันธมิตรฯรักเจ้า เข้ามาในบางส่วนของขบวนการแรงงาน เช่นในรัฐวิสาหกิจรถไฟ และไฟฟ้า และในบางส่วนของย่านอุตสาหกรรมเอกชนในภาคตะวันออกรอบๆ เมืองระยองเป็นต้น แต่แนวคิดเสื้อเหลืองของสมศักดิ์ ขัดกับผลประโยชน์พื้นฐานของกรรมาชีพไทยโดยสิ้นเชิง เพราะพาคนไปต่อสู้เพื่ออำมาตย์ แทนที่จะสู้เพื่อผลประโยชน์คนจน

สาย แรงงานที่ได้รับแนวคิดเสื้อเหลืองจากคนอย่างสมศักดิ์ มีจุดร่วมดังนี้คือ เป็นแรงงาน “รุ่นน้อง” ของสมศักดิ์ ที่มีความสัมพันธ์ผ่านกลุ่มศึกษาที่สมศักดิ์จัดด้วยทุนจากองค์กร เอ็นจีโอ อย่างเช่น ACILS/ Solidarity Center และ FES มักเป็นแกนนำแรงงานที่ทำงานสหภาพเต็มเวลา และห่างเหินจากรากหญ้ามากขึ้น และมักจะแสดง “ความกล้า” ในการเคลื่อนไหวหรือนัดหยุดงาน เมื่อมี “ผู้ใหญ่” ในสังคมสนับสนุนถือหาง ซึ่งเป็นนิสัยเก่าของแกนนำสหภาพรัฐวิสาหกิจในบางที่


อย่าง ไรก็ตาม เราควรเข้าใจว่าสมาชิกรากหญ้าของสหภาพที่มีแกนนำเสื้อเหลือง บ่อยครั้งไม่เห็นด้วยกับผู้นำ เพราะสมาชิกรากหญ้าไม่ใช่เสื้อเหลือง และอาจสนับสนุนเสื้อแดง หรือเคยลงคะแนนให้ไทยรักไทยในอดีตอีกด้วย อย่าลืมว่านโยบายของไทยรักไทยในหลายเรื่อง เช่นการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า มีผลดีต่อแรงงาน เพราะลดภาระส่วนตัวในการดูแลยาติพี่น้องในต่างจังหวัด

ถ้า เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้และความเป็นธรรมทางสังคมในไทย ซึ่งหมายถึงการล้มอำมาตย์ ปฏิรูปกองทัพ และสร้างมาตรฐานความยุติธรรม ขบวนการประชาธิปไตยและนักสังคมนิยมจะต้องขยันในการดึงแรงงานเข้ามามีส่วน ร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง



ข้อตกลงระหว่างเพื่อไทยกับอำมาตย์หลังการเลือกตั้ง?


หลัง วิกฤตและสงครามกลางเมืองระหว่างอำมาตย์กับพรรคคอมมิวนิสต์ ความพ่ายแพ้ของพรรคนำไปสู่การปรองดองในเชิงยอมจำนน มีการสร้าง “ข้อตกลง” สู่สันติภาพและความสงบ คำถามสำคัญสำหรับเราตอนนี้คือ หลังการเลือกตั้ง และชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จะมีข้อตกลงใหม่ที่อาศัยการยอมจำนนต่ออำมาตย์หรือไม่

เราเริ่มเห็นภาพของ ข้อตกลงไม่ ว่าจะทางการหรือไม่ ระหว่างอำมาตย์กับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ และเพื่อให้แกนนำเพื่อไทยถูกกลืนกลับไปเป็นพรรคพวกของอำมาตย์เหมือนเดิม เพราะพรรคไทยรักไทยในอดีตก็เคยเป็นพวกเดียวกับอำมาตย์ก่อนที่จะทะเลาะกัน

อำมาตย์กีดกันไม่ให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาลยาก เพราะเสียงประชาชนชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยแสดงความยินยอมที่จะ ปรองดองแบบยอมจำนนต่ออำมาตย์ เพื่อแลกกับการไม่ถูกล้ม โดยการสัญญาว่าจะไม่เปลี่ยนอะไรมากมายในสังคมไทย


ในเรื่องกฏหมาย 112 ซึ่งขัดกับสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เราเห็นภาพของพรรคเพื่อไทยที่คล้อยตามอำมาตย์ กฏหมาย 112 สำคัญ สำหรับทหารเผด็จการ เพราะเป็นวิธีอ้างความชอบธรรมจากกษัตริย์แล้วปิดปากผู้ที่คัดค้านทหาร ดังนั้นการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรณรงค์ใช้ 112 ต่อ ไปแสดงว่ายอมรับอิทธิพลของทหาร และยอมรับการใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อกดขี่ประชาชน โดยอาจหวังว่าในอนาคตพวกทหารจะเลิกกล่าวหาทักษิณว่าเป็นพวก ล้มเจ้านี่คือการปรองดองตามเงื่อนไขอำมาตย์


การ กำจัดพิษภัยทางการเมืองของทหารออกจากสังคมเรา การปฏิรูปกองทัพ การลดงบประมาณ การเอาทหารออกจากสื่อและรัฐวิสาหกิจ และการลงโทษพวกนายพลมือเปื้อนเลือด รวมถึงการยกเลิกกฏหมาย 112 เรา ทำได้ แต่ต้องอาศัยมวลชนเสื้อแดง อย่าตั้งความหวังจอมปลอมว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจะทำ ตรงกันข้ามเขาจะปรองดองกับทหารและชวนให้เราเลิกเคลื่อนไหวต่างหาก


ถ้าเราต้องการสร้างประชาธิปไตยแท้ เสื้อแดงต้องเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่อง ข้อตกลงกับอำมาตย์อัน นี้ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อต้านทั้งอำมาตย์และรัฐบาลพร้อม กัน เราอาจมีความหวังได้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนใจถ้าเรากดดันเพียงพอ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราน่าจะสนับสนุนมาตรการดีๆ ของรัฐบาล แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนใจอะไรเลย และยึดติดกับ ข้อตกลงกับอำมาตย์เราต้องสู้กับรัฐบาล

อย่า ลืมว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามีความสำคัญในประเด็นเดียวเท่านั้น คือการพิสูจน์ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เอาทหารเผด็จการและอภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด การมีรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะมีความหมายเป็นสูญ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเบื้องบนของสังคมไทยที่แช่แข็งมานานเกิน ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น