หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม และเสื้อแดงต้องจับมือกัน


ชื่อบทความเดิม : ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นักสหภาพแรงงาน นักสังคมนิยม และเสื้อแดงต้องจับมือกัน
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

เสื้อแดงกำลังเรียนรู้ความจริงที่พวกเราหลายคนคาดการมาแต่แรกคือ แกนนำพรรคเพื่อไทย มีข้อตกลง “ในใจ” ที่จะประนีประนอมกับอำมาตย์ เพื่อให้ถูกยอมรับโดยอำมาตย์ ซึ่งแปลว่าพรรคเพื่อไทยกำลังหักหลังเสื้อแดง ทรยศต่อวีรชน และหันหลังให้กับประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ขบวนการเสื้อแดงจะต้องรื้อฟื้นตัวเองในรูปแบบที่อิสระจากแกนนำ พรรคเพื่อไทย และเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม ถ้าเรายอมให้คนอย่างนายเฉลิม อยู่บำรุง มาควบคุมไม่ให้เสื้อแดงเคลื่อนไหว ในขณะที่เขามุ่งหน้าใช้กฏหมาย 112 อย่างเคร่งครัด ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีอนาคต อย่าลืมว่าคนอย่างเฉลิม มีข้อเคลือบแคลงใจในการสร้าง “สองมาตรฐาน” ในระบบยุติธรรม ด้วยข้อสงสัยในการแทรกแซงระบบยุติธรรมในคดีของลูกชายตนเองที่ฆ่าตำรวจตาย
    
นักสังคมนิยมเสนอมานานแล้วว่า ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมหลังการเลือกตั้ง เสื้อแดงที่ไม่ตกเป็น “ลูกน้อง” ของพรรคเพื่อไทย และพร้อมจะเคลื่อนไหวอิสระ ควรมองว่าพลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงานเป็นเรื่องชี้ขาด เราอธิบายด้วยเหตุผลดังนี้
     
(1) การที่คนงานไม่ออกมานัดหยุดงานควบคู่กับการประท้วงที่ราชประสงค์เมื่อปีที่ แล้ว ทำให้ทหารปราบเราง่ายขึ้น ตรงข้ามกับประสบการณ์ที่อียิปต์
    
(2) สหภาพแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีการจัดตั้งและมีพลังซ่อนเร้น ที่จะกดดันผู้มีอำนาจ ถ้ารู้จักสู้ร่วมกันและหนุนช่วยซึ่งกันและกัน
    
(3) การต่อสู้ของ “ไพร่” เสื้อแดง เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจพร้อมกัน องค์กรของแรงงานมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับคนจนและเกษตรกร ต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองนายทุน และพวกเสื้อเหลืองที่เชิดชูอำมาตย์
    
ทั้งๆ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แต่ก็มีข้อกังวลว่าอาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะอาจนับค่าสวัสดิการและค่าทำงานนอกเวลา (โอที) และในอนาคตแรงงานกับเกษตรกรคนจนคงต้องต่อสู้หรือต่อรองกับรัฐบาลนี้ในหลายๆ เรื่องแน่นอน เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ใช่รัฐบาลของกรรมาชีพหรือเกษตรกรแต่อย่างใด

เราเลือกพรรคนี้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อให้ทหารและประชาธิปัตย์แพ้เท่านั้น เราไม่ได้หวังอะไรมากกว่านั้น และทุกวันนี้ถึงแม้ว่าประชาธิปัตย์กับทหารแพ้การเลือกตั้ง แต่รัฐบาลใหม่ทำตัวเหมือนกับว่าประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่ ไม่มีการแก้ปัญหา 112 ไม่มีการปล่อยนักโทษเสื้อแดงทั้งหมด ไม่มีการปฏิรูประบบยุติธรรม ไม่มีการปลด ผบ.ทบ.ประยุทธ์ ไม่มีการนำนายพลและนักการเมืองมือเปื้อนเลือดขึ้นศาล และไม่มีการปฏิรูปกองทัพ
    
เราต้องเข้าใจว่าในอดีต แกนนำเสื้อแดงที่มีรากฐานกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน ไม่เคยเห็นความสำคัญของการขยายการจัดตั้งของขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรง งานเลย ตอนนี้การจัดตั้งดังกล่าวเป็นภาระเร่งด่วน เพื่อให้นักสหภาพแรงงานและคนเสื้อแดงจับมือสร้างพลังต่อรองเพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ตรงนี้นักสังคมนิยมควรจะมีบทบาทสำคัญถ้าเราเข้าใจสถานการณ์
    
ในอดีตนักสังคมนิยมในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) เคยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งแรงงาน แต่หลังจากที่พรรคเริ่มหันไปเน้นการจับอาวุธในป่า การทำงานสายแรงงานถูกลดความสำคัญลง พอถึงยุค “ป่าแตก” และการล่มสลายของ พคท. ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจัดตั้งแรงงานลดน้อยลงจนเกือบจะไม่ เหลือ และ เอ็นจีโอ ก็เข้ามาแทนที่ ที่เลวร้ายคือเอ็นจีโอส่วนใหญ่ (ยกเว้นโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย) ไปเข้ากับเสื้อเหลืองและอำมาตย์
    
ในปัจจุบันกลุ่ม “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอ ที่เข้าไป “ช่วย” แรงงานมีแนวโน้มจะเสนอให้คนงานทำตามกฎหมายนายทุนในระบบ “แรงงานสัมพันธ์” และไม่คิดต่อสู้ทางชนชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร ACILS/Solidarity Center และมูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES.) ของเยอรมัน องค์กรเหล่านี้มีผลในการทำลายความเข้มแข็งทางการเมืองของสหภาพแรงงาน
    
ในยุคปัจจุบัน องค์กรสภาแรงงานสากลต่างๆ เริ่มพยายามเข้ามาจัดตั้งแรงงานในประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย การที่สภาสากลช่วยให้คนงานไทยตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานที่ไม่มีสหภาพ แรงงาน เป็นเรื่องดี แต่ในทางการเมืองสภาแรงงานสากลเหล่านี้จะไม่ส่งเสริมการนัดหยุดงานเพื่อเป้า หมายทางการเมืองเลย และจะไม่มีผลอะไรเลยในการปกป้องผู้นำแรงงาน หรือสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะสภาแรงงานสากลทุกแห่งนำโดยเจ้าหน้าที่ “แรงงานข้าราชการ” ที่ห่างเหินจากขบวนการแรงงานจริงในทุกประเทศ เราจะเห็นว่าในประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง อย่างเช่นในยุโรปตะวันตก หรือเกาหลีใต้ สภาแรงงานสากลเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย
    
ความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการแรงงานไทยในอดีต เปิดช่องให้คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ นำการเมืองปฏิกิริยาของพันธมิตรฯ เข้ามาในบางส่วนของขบวนการแรงงาน เช่นในรัฐวิสาหกิจรถไฟ และไฟฟ้า และในบางส่วนของย่านอุตสาหกรรมเอกชนในภาคตะวันออกรอบๆ เมืองระยองเป็นต้น

แต่แนวคิดเสื้อเหลืองของสมศักดิ์ ขัดกับผลประโยชน์พื้นฐานของกรรมาชีพไทยโดยสิ้นเชิง เพราะพาคนไปต่อสู้เพื่อคนที่กดขี่แรงงาน แทนที่จะสู้เพื่อผลประโยชน์คนจน สมศักดิ์ด่าทักษิณว่าเป็น “นายทุนสามานย์” แต่ชวนให้คนงานไปรับใช้เผด็จการทหาร ดังนั้นคนเสื้อแดงกับนักสังคมนิยมสามารถพิสูจน์ต่อหน้าแรงงานรากหญ้าได้ว่า แนวของพวกเสื้อเหลืองจะนำไปสู่ทางตัน แต่มันต้องพิสูจน์กันในรูปธรรม ไม่ใช่แค่ด้วยวาจา ซึ่งแปลว่าเราต้องสนับสนุนแกนนำสหภาพแรงงานรถไฟที่กำลังถูกนายจ้างลงโทษ ด้วยสาเหตุที่เขากล้านัดหยุดงานเพื่อปกป้องความปลอดภัยในระบบรถไฟ ทั้งๆ ที่สหภาพนี้เคยสนับสนุนพันธมิตรฯ
    
สายแรงงานที่ได้รับแนวคิดเสื้อเหลืองจากคนอย่างสมศักดิ์ มีจุดร่วมดังนี้คือ เป็นแรงงาน “รุ่นน้อง” ของสมศักดิ์ ที่มีความสัมพันธ์ผ่านกลุ่มศึกษาที่สมศักดิ์จัดด้วยทุนจากองค์กร เอ็นจีโอ อย่างเช่น ACILS/ Solidarity Center และ FES มักเป็นแกนนำแรงงานที่ทำงานสหภาพเต็มเวลา และห่างเหินจากรากหญ้ามากขึ้น และมักจะแสดง “ความกล้า” ในการเคลื่อนไหวหรือนัดหยุดงาน เมื่อมี “ผู้ใหญ่” ในสังคมสนับสนุนถือหางเท่านั้น ซึ่งเป็นนิสัยเก่าของแกนนำสหภาพรัฐวิสาหกิจที่เคลื่อนไหวเพื่อผู้บริหาร
    
เราควรเข้าใจว่าสมาชิกรากหญ้าของสหภาพที่มีแกนนำเสื้อเหลือง บ่อยครั้งไม่เห็นด้วยกับผู้นำ เพราะสมาชิกรากหญ้าไม่ใช่เสื้อเหลือง และอาจสนับสนุนเสื้อแดง หรือเคยลงคะแนนให้ไทยรักไทยในอดีตอีกด้วย อย่าลืมว่านโยบายของไทยรักไทยในหลายเรื่อง เช่นการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า มีผลดีต่อแรงงาน เพราะลดภาระส่วนตัวในการดูแลญาติพี่น้องในต่างจังหวัด
    
ถ้าเราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้และความเป็นธรรมทางสังคมในไทย ซึ่งหมายถึงการล้มอำมาตย์ ปฏิรูปกองทัพ และสร้างมาตรฐานความยุติธรรม ขบวนการประชาธิปไตยและนักสังคมนิยมจะต้องขยันในการดึงแรงงานเข้ามามีส่วน ร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง และแรงงานควรจะเข้าใจความสำคัญของการร่วมกับเสื้อแดงในต่อสู้ทางการเมืองอีก ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น