หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อิหม่ามยะผา เหยื่อผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานจนตาย
รูปภาพ

จ่ายอ่วม! ทหารกระทืบประชาชนตาย

คำสั่งศาลแพ่ง วันที่ 20 ก.ค 54

1.ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 (เมีย1และลูก3) เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท


2.ค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท

3.ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท

รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น
5,211,000 บาท

จำเลย

1.กระทรวงกลาโหม

2.กองทัพบก

3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รวม 3 หน่วยงาน


ศาลแพ่งสั่งกลาโหม-ทัพบกชดเชยครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง 5.2 ล้าน เหตุตายระหว่างคุมตัว

ศูนย์ข่าวอิสรา

"คดี ซ้อมทรมาน" เกิดขึ้นไม่น้อยในระหว่างทางของปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชาย แดนภาคใต้โดยฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ แต่มีไม่กี่คดีที่พอจะมีความคืบหน้าให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังพอเป็น ที่พึ่งหวังให้กับชาวบ้านตาดำๆ ได้บ้าง และหนึ่งในนั้นคือคดี "อิหม่ามยะผา"

คดีของ "อิหม่ามยะผา" หรือ นายยะผา กาเซ็ง กลายเป็นสัญลักษณ์ "ความไม่เป็นธรรม" คดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในห้วง 7 ปีที่ไฟใต้โหมกระพือรุนแรง โดยก่อนเสียชีวิต นายยะผาเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อราววันที่ 19-20 มี.ค.2551 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551เพราะถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย

คดีที่มีครอบครัวของอิหม่ามยะผา นำโดย นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่าม เป็นผู้เสียหายนั้น มีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่คดีที่มีความคืบหน้าชัดเจนที่สุดจนถึงขณะนี้ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว คือคดีทางแพ่ง

เมื่อวันพุธที่ 20 ก.ค.2554 ศาลแพ่งได้นัดพร้อมไกล่เกลี่ยในคดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 ซึ่ง นางนิม๊ะ และลูกๆ ของอิหม่ามยะผารวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศาลได้ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว คดีสามารถตกลงกันได้

โดยจำเลยทั้งสาม (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่ทำให้นายยะผาเสียชีวิตนั้น เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของจำเลยทั้งสามภายใต้กรอบของกฎหมายตามสถานการณ์ ที่เป็นอยู่ขณะเกิดเหตุ เมื่อมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว พบว่านายยะผาผู้ตายและครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ จำเลยทั้งสามรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับที่จะเยียวยาความเสียหายให้กับฝ่ายโจทก์ตามที่ศาลได้มีการไกล่เกลี่ย และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายโจทก์ เป็นค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของนายยะผาผู้ตาย เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท ค่าปลงศพเป็นจำนวนเงิน 87,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 (ภรรยาและบุตร) เป็นจำนวนเงิน 4,624,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,211,000 บาท และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน

คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า คดีสามารถตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ยื่นต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาตามยอม ศาลตรวจสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วเห็นว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาตามยอมให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไป


3 ปีแห่งความเจ็บช้ำ

คดีอิหม่ามยะผายืดเยื้อมากว่า 3 ปี แม้จะเป็นคดีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในชั้นไต่สวนการตายทางอาญา เพราะเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2551 (ราว 9 เดือนหลังเสียชีวิต) ศาล จังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 สรุปว่านายยะผาเสียชีวิตที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ ราชการตามหน้าที่

ต่อมานางนิม๊ะและลูกๆ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2554 ได้นัดไกล่เกลี่ยกันมาครั้งหนึ่งแล้วที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลแพ่ง แต่ฝ่ายโจทก์และจำเลยไม่สามารถยอมความกันได้ เพราะติดขัดในเรื่องคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้หน่วยงานของจำเลย (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ประกาศทางหนังสือพิมพ์และส่งหนังสือถึงหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงให้ขอโทษครอบ ครัวของอิหม่ามยะผา ประกอบกับค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยเสนอมาค่อนข้างต่ำ กระทั่งล่าสุดในการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. จึงสามารถตกลงกันได้


คดีอาญายังมืด-ลุ้นฎีกาขึ้นศาลพลเรือน

สำหรับคดีอาญา พนักงานสอบสวน สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ทำสำนวนสรุปความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ทหารที่ ร่วมกระทำความผิดไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2551 แต่จนถึงปัจจุบันการไต่สวนของ ป.ป.ช. ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ต่อมา นางนิม๊ะ ภรรยาของอิหม่ามยะผา จึงตัดสินใจนำคดียื่นฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552 โดยนับเป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนได้ลุก ขึ้นใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเอง

แต่เมื่อประชาชนใช้สิทธิฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายกำหนดให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับรับฟ้องเพื่อพิจารณาว่าคดีมี มูลหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2553 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ซึ่งนางนิม๊ะเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร.ต.สิริเขตต์ วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม จำเลยที่ 3 ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 ส.อ.บัณฑิต ถิ่นสุข จำเลยที่ 5 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา (อดีตผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ) จำเลยที่ 6 ใน ข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อ สิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือ โดยกระทำทารุณโหดร้าย

ทว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ

ต่อมานางนิม๊ะได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน คือให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 และให้ไปฟ้องจำเลยที่ 1-5 ต่อศาลทหาร ทำให้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2554 นางนิม๊ะโดยความช่วยเหลือของ นายปรีดา นาคผิว ทนายความโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ยื่นคำขอรับรองฎีกาพร้อมกับฎีกาต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนราธิวาสหรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ซึ่งพิจารณาคดีหรือลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เซ็นชื่อรับรองฎีกาเพื่อส่งฎีกาให้ศาลฎีกาได้พิจารณาต่อไป (ว่าจะรับฟ้องหรือไม่)

ทั้งนี้ รายละเอียดในคำขอรับรองฎีกาของโจทก์นั้น ได้ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษา ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ประทับรับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1-5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร และวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของทั้งสองศาลดังกล่าว ด้วยเห็นว่าอิหม่ามยะผาได้เสียชีวิตภายใต้การปฏิบัติการของทั้งเจ้าหน้าที่ ทหารและตำรวจซึ่งสนธิกำลังร่วมกันจับกุม ควบคุมตัว นำไปแถลงข่าว และเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายจนอิหม่ามยะผาเสียชีวิต จึงเป็นคดีอาญาในเรื่องเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วมกันกระทำความผิดต่อ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ

เมียและลูกไม่เอาศาลทหาร ทหารยังยื้ออยู่

ข้อต่อสู้ของทนายฝ่ายลูกและเมีย


เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพลเรือนร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ไม่ใช่ศาลทหาร อีกทั้งหากคดีต้องฟ้องต่อศาลทหาร ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่สามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทหาร ได้ และไม่สามารถแต่งตั้งทนายความของตนเพื่อดำเนินคดีในศาลทหารได้ เนื่องจากพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 บัญญัติห้ามไว้ จึงเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในศาลทหารจะทำให้ผู้เสียหายเข้าไม่ถึงกระบวนการ ยุติธรรมได้อย่างแท้จริงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


ถึงนาทีนี้จึงต้องลุ้นว่าคดี "อิหม่ามยะผา" ในภาคอาญาจะเป็นอย่างไร เพราะไม่ว่าจะขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน คดีก็เพิ่งเริ่มนับหนึ่งเท่านั้นเอง...


ทหารชี้เป็นบทเรียนกำลังพลต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก นายทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า คดีอิหม่ามยะผาเป็นคดีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังสามารถ ให้ความเป็นธรรมได้ และกองทัพไม่เคยเข้าไปแทรกแซงหรือช่วยเหลือ ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ซึ่งเป็นนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ทุกคน ในส่วนของคดีอาญาขณะนี้ทราบว่าทางตำรวจได้ดำเนินการตามกระบวนการ เรื่องอยู่ในชั้น ป.ป.ช. และมีคดีที่ครอบครัวของอิหม่ามยื่นฟ้องเองด้วย โดยในส่วนของกำลังพลที่เกี่ยวข้อง ทางผู้บังคับบัญชาก็ได้มีคำสั่งลงโทษไปตามระเบียบ และย้ายหน่วยดังกล่าวออกจากพื้นที่ตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ถือเป็นบทเรียนที่กำลังพลทุกนายต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

"ก่อนหน้านี้ ท่านแม่ทัพ (พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์) ได้ส่งคณะไปเยี่ยมครอบครัวของอิหม่ามยะผา และได้ทำความเข้าใจว่ากองทัพไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินการกระทำที่ผิดพลาดทั้งหมด" พ.อ.ปริญญา ระบุ และว่าในแง่ของการปฏิบัติของกำลังพลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้เน้นย้ำและกำชับเพื่อไม่ให้เรื่องราวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก


http://www.isranews.org/south-news/scoo ... B9%89.html

แม่ น้องเกดได้ตัวอย่างแล้ว มีข้อสังเกตุว่า คดีคืบหน้าเพราะศาลจ.ว นราธิวาสมีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา ม.150 ว่าจนท.รัฐกระทำผิด แต่คดีคนเสื้อแดงโดนนายธาริตทำลายหลักฐานไปเยอะแล้ว จะเอาอะไรให้ศาลดู! หรือศาลไทยกล้างัดข้อลากเหล่มาขึ้นศาลพลเรือนหรือไม่!

ข้อกฏหมายโดยละเอียดในการฟ้อง อ่านจากกระทู้

"ศาลรับฟ้องคดียิงหัว"น้องเฌอ"ซอยรางน้ำเรียก10ล้านดูคลิป"
http://board.banrasdr.com/showthread.php?tid=33776

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น