หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รัฐสวัสดิการกับความจริงในประเทศไทย



รัฐสวัสดิการกับความจริงในประเทศไทย

วิกฤติ การเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายังไม่มีแนวโน้มจะสิ้นสุด ความเจ็บปวดและความอดทนของเพื่อนเสื้อแดงล้านๆ คนทั่วประเทศหมายความว่าเราต้องเดินหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่แค่ย้อนกลับไปสู่สภาพสังคมก่อนการทำรัฐประหาร ส่วนสำคัญของประชาธิปไตยแท้คือเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม เพราะถ้าพลเมืองไทยทุกคนไม่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย และไม่มีทางที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงเสนอว่าคนเสื้อแดงต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการ (ถ้วนหน้า-ครบวงจร-จากภาษีก้าวหน้า) คู่ขนานไปกับข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย

1.  รัฐสวัสดิการ (Welfare State) คืออะไร?

ใน ยุคปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับคนจนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบสวัสดิการที่พบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม แยกส่วน และไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้

     รัฐสวัสดิการ (Welfare State) เป็นระบบสวัสดิการรูปแบบที่พัฒนาไปถึงระดับสูงสุดสำหรับระบบทุนนิยม และถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) รัฐสวัสดิการมีลักษณะพิเศษคือ
(ก) เป็นระบบครบวงจรที่ดูแลพลเมือง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยเน้น “ผลในการสร้างความเสมอภาคในสังคมที่วัดได้” เพื่อเป็นเป้าหมาย แทนที่จะพูดลอยๆ ว่า “ทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน” โดยไม่คำนึงถึงโอกาสที่แตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย
(ข) เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า คือพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับ ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นคนจนสุดเท่านั้น พลเมืองจึงไม่ต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน
(ค) เป็นระบบสวัสดิการเดียวสำหรับพลเมืองทุกคนที่อาศัยรัฐเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ว่ามีหลายระบบซ้ำซ้อนกัน อย่างที่เรามีในประเทศไทย
(ฆ) เป็นระบบสวัสดิการที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า คือคนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อย

2องค์ประกอบของรัฐสวัสดิการ

รัฐสวัสดิการเป็นระบบครบวงจรและถ้วนหน้า ดังนั้นจะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ดังนี้
1.       สวัสดิการ ในรูปแบบเงิน คือสวัสดิการที่ประชาชนสามารถเบิกจากรัฐในกรณี ลาป่วย บำเหน็จบำนาญเกษียณ สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการลาคลอด สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำแต่มีงานทำ ฯลฯ
2.       ระบบ รักษาพยาบาลและยาฟรี ที่ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงสถานดูแลคนชรา และโรงพยาบาลโรคจิตด้วย ระบบการศึกษาฟรีจากอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัยพร้อมทุนศึกษาแบบ ให้เลยเพื่อไม่ให้นักศึกษาเป็นภาระกับครอบครัว 
3.       ความมั่นคงและมาตรฐานในการมีที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยรัฐในราคาถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนเช่า
4.       มาตรการ เสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนในราคาถูกที่รัฐอุดหนุนซึ่งช่วยเสริม ประสิทธิภาพในการเดินทาง การสนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และนอกจากนี้อาจมีสื่อมวลชนแบบวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐที่ไม่มุ่งหา กำไรอีกด้วย
5.       ระบบนักสังคมสงเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำกับผู้มีปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว และช่วยคนจนเข้าถึงบริการต่างๆ
6.       ระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าโดยตรงซึ่งเก็บจากรายได้ กำไร มรดก และทรัพย์สิน(รวมถึงที่ดิน) โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ (Wealth Distribution) เพราะเก็บจากคนรวยในอัตราสูง และนอกจากนี้เป็นแหล่งทุนสำหรับงบประมาณของรัฐสวัสดิการด้วย (Welfare Income Generation)
7.       รักษา มาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคนที่พักอยู่ในประเทศ ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้ได้โดยคนต่างชาติที่มาพักชั่วคราว ศึกษา หรือทำงานในประเทศได้ ในกรณีแรงงานที่มาจากต่างประเทศ สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวไม่เป็นภาระเลยเพราะเขาเข้ามาทำงานสร้างมูลค่าให้ กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีอีกด้วย

3ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะมีรัฐสวัสดิการ

ประเทศ ไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ปัจจุบันนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาระดับกลาง รัฐบาลไทยเองและองค์กรพัฒนาต่างประเทศหลายองค์กรมองว่าไทยไม่จำเป็นต้องรับ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และในปี ๒๕๔๕ บริษัท Merrill Lynch คาดว่ามีเศรษฐีไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้าน$U.S. (หรือ41.5 ล้านบาท) ประมาณ 2หมื่นคน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์

     ปัญหา ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลขาดงบประมาณเพื่อแก้ความยากจน คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการทำงานของพลเมืองไทย ทุกระดับ ความร่ำรวยไปกระจุกอยู่ที่คนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในปี ๒๕๔๖ คนรวยที่สุด 20% ในประเทศไทยครอบครอง 48.4% ของทรัพย์สินทั้งหมดในขณะที่คนจนสุด 20% ครอบครองเพียง 6.4%[2]

     ดัชนี “จินนี่” (Gini Coefficient) เป็นดัชนีที่วัดความเท่าเทียมในสังคม (0=เท่าเทียมสมบูรณ์, 1=ไม่ เท่าเทียมสมบูรณ์) ถ้าเปรียบเทียบความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของสังคมไทยกับประเทศอื่นหลายประเทศ จะเห็นภาพชัดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัยที่สุดแต่สังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยน แปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย

ประเทศ
ปี ค.ศ.
ดัชนีจินนี่ Gini Coeff.
ฮ่องกง
2001
0.525
ญี่ปุ่น
1993
0.249
เกาหลีใต้
1998
0.316
สวีเดน
2000
0.250
อังกฤษ
1999
0.360
สหรัฐอเมริกา
2000
0.408
ไทย
2003
0.410
ที่มา: http://www.legco.gove.hk/yr04-05/english/sec/library/0405f507e.pdf  และ Earth Trends 2003. ค้น มิ.ย. ๔๙

     สิ่ง ที่เห็นได้ชัดจากตารางข้อมูลดัชนีจินนี่คือประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ เช่นสวีเดนหรือญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ส่วนประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแต่ไม่มีรัฐสวัสดิการเลย มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ประเทศนั้นคือสหรัฐอเมริกา สหรัฐเน้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ที่อาศัยกลไกตลาดแทนรัฐในการบริการสังคม และอังกฤษก็เริ่มขยับจากรูปแบบรัฐสวัสดิการไปเพิ่มอิทธิพลของตลาดภายใต้รัฐบาลของ Thatcher กับ Blair ซึ่งสะท้อนออกมาในระดับความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงในอังกฤษอีกด้วย

     สิ่ง ที่น่าสนใจ ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง คือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มักจะเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสำหรับทั้งคนจนและคนรวย หนังสือThe Spirit Level [3] สำรวจข้อมูลจาก 23 ประเทศที่พัฒนา โดยพิจารณาดัชนีต่างๆ เกี่ยวกับสภาพชีวิต แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสภาพความเท่าเทียมในสังคม ข้อสรุปที่สำคัญคือ ประเทศที่มีความเท่าเทียมสูงเป็นประเทศที่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ในขณะที่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด เช่นสหรัฐอเมริกา ประชาชนทุกระดับมีคุณภาพชีวิตต่ำสุด

     เวลา พิจารณาข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นสังคมที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสุดสำหรับคนทุกระดับ เพราะสังคมที่เหลื่อมล้ำเป็นสังคมที่มีการแย่งชิงกัน มีลำดับชั้นของศักดิ์ศรี มีความเครียด ความรุนแรง และมีความสุขน้อย ขาดประสิทธิภาพในการบริหารสังคมโดยรวม และขาดความสมานฉันท์ในครอบครัวและสังคม สรุปแล้วเรามีทางเลือกสองทางคือ เราจะสร้างสังคมแบบแย่งชิงกัน หรือจะสร้างสังคมมิตรภาพสมานฉันท์?

     ประเทศอังกฤษนำรัฐสวัสดิการตามรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาใช้ในปีค.ศ. 1945 ในขณะนั้นอังกฤษมีผลผลิตมวลรวมต่อหัว G.D.P./capita (หรือมูลค่าทั้งหมดในเศรษฐกิจหาญด้วยจำนวนประชากร) คิดเป็นเงินปัจจุบันประมาณ 3.5 แสนบาทต่อหัวประชากร ในปี ๒๕๔๖ G.D.P./capita ของไทยตกประมาณ 3 แสนบาทต่อหัว[4] ดังนั้นถ้าสมัยนั้นอังกฤษสร้างรัฐสวัสดิการได้ สมัยนี้ไทยก็สร้างได้

     จริงๆ แล้วประเทศไทยล่าช้ามากในการสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะในปี ๒๔๗๕ ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอหน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการในหนังสือ เค้าโครงการเศรษฐกิจ [5] ประเด็นหลักๆ ของ ปรีดี คือการประกันรายได้พื้นฐานสำหรับพลเมืองทุกคนโดยรัฐ ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยมีมาตรการต่างๆ เช่นการแบ่งที่ดินทำกิน และการเก็บภาษีมรดกและภาษีรายได้ ซึ่งเก็บจากคนรวยในระดับสูง (Super tax) แต่ ข้อเสนอนี้ของ ปรีดี ถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากผู้มีอภิสิทธิ์ที่จะเสียประโยชน์ ตัวหลักคือกษัตริย์รัชกาลที่ ๗ มันไม่ใช่ว่าข้อเสนอนี้นำมาปฏิบัติไม่ได้เพราะสังคมไทย “ยากจนเกินไป”แต่อย่างใด การปฏิเสธความคิดของ ปรีดี โดยฝ่ายขวานำไปสู่ระบบการปกครองเผด็จการทหารที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนส่วน น้อยใน 30ปีหลังจากนั้น

     การ ปกครองแบบเผด็จการทหารที่มีการร่วมมือกันหาผลประโยชน์โดยชนชั้นปกครองเก่า โดยทหาร และโดยนายทุน ถูกท้าทายอย่างแรงในปี ๒๕๑๖ เมื่อมีการลุกฮือของประชาชนเพื่อล้มรัฐบาลถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม การล้มรัฐบาลครั้งนี้เป็นจุดสุดยอดของกระแสที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความ เท่าเทียมซึ่งก่อตัวขึ้นก่อนหน้านั้น[6]  ในยุคนั้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอให้สังคมไทยสร้างรัฐสวัสดิการอีกครั้งหนึ่งในบทความคุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน[7] ข้อเสนอของ ป๋วย สะท้อนรูปแบบแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) ด้วยการพูดถึงระบบสวัสดิการครบวงจรที่หางบประมาณรัฐมาจากการเก็บภาษีก้าว หน้า นอกจากนี้มีการพูดถึงคุณภาพชีวิตในด้านปัญญาและวัฒนธรรม และเสรีภาพในการรวมตัวกันทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐสวัสดิการนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจปากท้องอย่าง เดียว

     ความเข้มข้นของกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไทยยุคนั้น เห็นได้จากการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ เสนีย์ ปราโมช ในปี ๒๕๑๘ อ้างอย่างลอยๆ ว่าจะใช้นโยบาย “สังคมนิยมประชาธิปไตย”[8] แต่กระแสรัฐสวัสดิการครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงกระแสความคิดของนักศึกษาฝ่ายซ้าย ก็ถูกปฏิเสธและปราบปรามด้วยกองกำลังของรัฐในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙[9] นอกจากนักศึกษาและปัญญาชนอย่าง ป๋วย ที่ต้องเดินทางออกไปจากสังคมไทยแล้ว ผลของการปราบปรามครั้งนั้นทำให้มีการยับยั้งกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการเป็น ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทย ชนชั้นนำไทยรวมถึงนายภูมิพลในยุคนั้น มีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านการพัฒนารัฐสวัสดิ[10]  ป๋วย อธิบายเรื่องเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ว่า
ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม
ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป
ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม
และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย
กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆที่เป็นปรปักษ์แก่ตนด้วยวิธีต่างๆ...[11]

     ข้อสรุปสำคัญจากความพยายามที่จะเสนอรัฐสวัสดิการในไทยในอดีตคือ อุปสรรคหลักไม่ใช่ ความเป็นไปได้หรือไม่ได้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการเมือง และการแข่งแนวและต่อรองกับแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะเสียประโยชน์ต่าง หาก การที่มีกระแสสนับสนุนรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกครั้งในยุคนี้ก็มาจากประเด็น ทางการเมืองเช่นกันคือ
  1. พลเมืองส่วนใหญ่ที่ยากจนต้องถูกบังคับให้รับภาระจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทั้งๆ ที่ผู้สร้างวิกฤตคือคนรวย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้นำไปสู่การสร้างนโยบายประชานิยมของ ไทยรักไทย ที่มีผลในการให้ประโยชน์กับคนจนจริงๆ
  2. ทหาร คมช. พันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ และ เอ็นจีโอ ร่วมกันคัดค้านและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรัฐบาลที่พยายามพัฒนาสวัสดิการสำหรับพลเมือง ถึงแม้ว่าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ

สรุปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย เป็นปัจจัยทางการเมืองและสังคม ไม่ใช่ปัญหาเทคนิค



[1]กลุ่มเสื้อแดงเพื่อสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการเป็นกลุ่มคนไทยในยุโรปที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแท้ มีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม
[2]  Earth Trends 2003. ค้น website มิ.ย.๔๙
[3] Richard Wilkinson & Kate Pickett (2009) The Spirit Level: Why more equal societies almost always do better. Allen Lane, London.
[4] Economic History Services http://www.eh.net/hmit/ukgdp/  และ Earth Trends 2003. ค้น มิ.ย.๔๙
[5] ปรีดี พนมยงค์ (๒๔๗๕) เค้าโครงการเศรษฐกิจ พิมพ์ใน ศิษย์อาจารย์ ฉบับที่ ๓ (๒๕๔๑) สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม
[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (๒๕๔๑) จาก 14ถึง6ตุลา มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,  ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ (๒๕๔๓) การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์ ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน
[7] ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 11, ๑๐   ต.. ๒๕๑๖
[8] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (๒๕๔๑) อ้างแล้ว หน้า 235
[9] ใจ อึ๊งภากรณ์ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (๒๕๔๔) อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
[10] Hewison, K. (1997) The Monarchy and democratization. In Kevin Hewison (Ed.) Political Change in Thailand. Democracy and Participation. Routledge. หน้า 67
[11] ป๋วย อึ๊งภากรณ์(๒๕๑๙)  ความรุนแรงและรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขียนในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่อังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น