หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: ห้าเหตุผลที่ยิ่งลักษณ์ควรกำจัดประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ชี้เหตุผลทำไมนายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงสมควรไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการเป็นผบ.ทบ. เพื่อประโยชน์ดีของสังคมไทยในอนาคต

ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เขียนบทความ “It’s Time the Army Learned to Stay out of Politics for Good” (ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องเรียนรู้เพื่ออยู่นอกเกมการเมืองตลอดไป) ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยปวินอภิปรายเหตุผลห้าประการว่า เหตุใดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงจำเป็นต้องกำจัดพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก...

ปวิน ระบุว่า เป็นความจริงที่ยิ่งลักษณ์พยายามอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกอง ทัพ เมื่อพี่ชายของเธอ ผู้ซึ่งพยายามจะเข้าไปแทรกแซงทหาร ถูกทำการโค่นล้ม อย่างไรก็ตาม ปวินมองว่า ในขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังจะเห็นจากความสนับสนุนจากประชาชนอย่างมหาศาลที่มีต่อยิ่งลักษณ์ช่วงหลัง การรัฐประหารที่ผ่านมา ซึ่งแสดงถึงความไม่พอใจของสาธารณชนต่อการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ ยิ่งลักษณ์ จึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจควบคุมเหนือกองทัพ

ในการทำเช่นนั้น ยิ่งลักษณ์คงต้องเจอกับคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อกับเธออย่างแน่นอน เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เพียงทหารที่จงรักภักดีทั่วไป และต่อต้านทักษิณ ชินวัตรอย่างเปิดเผยเท่านั้น แต่เขายังมีบทบาทในการแทรกแซงทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งลักษณ์อาจจะพบว่า ในการทำงานร่วมมือกับคนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็นพอสมควร คำถามจึงมีอยู่ว่า ถ้าเช่นนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมควรไล่ประยุทธ์ออกในฐานะผู้บัญชาการกองทัพบกหรือไม่ ปวินเห็นว่า มีเหตุผลห้าประการที่ยิ่งลักษณ์ควรทำเช่นนั้น

ประการแรก พลเอกประยุทธ์ ไม่เป็นกลางทางการเมือง ทั้งๆ ที่ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เขาไม่ควรจะเลือกข้าง เนื่องจากการทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้สังคมไทยแบ่งขั้วมากขึ้นไปอีก ดังจะเห็นที่จากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาประกาศทางโทรทัศน์ต่อประชาชนไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ก่อนการเลือกตั้งว่า ให้เลือก”คนดี” เข้ามาทำงาน การประกาศดังกล่าว ทำให้ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการโจมตีความนิยมของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งปวินมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ไม่ควรจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ออกมาเลยเสียด้วยซ้ำ

ประการที่สอง พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงดึงสถาบันฯ ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเขาเองจะเป็นผู้ออกมาเตือนนักการเมืองว่าไม่ให้ทำเช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่า มีความพยายามรณรงค์เรื่องการต่อต้านสถาบันฯ อยู่ในกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และยังอ้างด้วยว่า หน่วยงานด้านความมั่นคง ได้พบหลักฐานที่หมิ่นสถาบันฯ อยู่จำนวนมาก
ปวินมองว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด เช่นเดียวกับกองทัพ ที่ใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องรักษาจุดยืนทางการเมืองของตนเอง และการที่พล.อ. ประยุทธ์ อ้างถึงกฎหมายดังกล่าวอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการสร้างความปรองดองของรัฐบาล

ประการที่สาม ปวินมองว่า ตัว พล.อ. ประยุทธ์นั้นเล่นการเมืองมากเกินไป ทำให้เราไม่สามารถหาความสม่ำเสมอในการกระทำและคำพูดของเขาได้มากเท่าใดนัก ซึ่งในฐานะทหารผู้ที่ออกมาประกาศศัตรูอย่างชัดเจนในทางสาธารณะนั้น เขาสมควรจะต้องรักษาคำพูด โดยในขณะที่เขาออกมาเตือนคนไทยก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ให้เลือกพรรคเพื่อไทย แต่ทันใดที่ผลการเลือกตั้งออกมา พล.อ. ประยุทธ์ก็รีบไปแสดงความยินดีกับยิ่งลักษณ์ทันที เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังหีบเลือกตั้งปิดลง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พล.อ. ประยุทธ์ยังกล่าวว่า “สิ่งเดียวทีเราขอร้อง คือให้ทุกฝ่ายอย่าหมิ่นสถาบัน หรือดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง” แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ในบทความว่า พล.อ. ประยุทธ์ต่างหากที่เป็นผู้ดึงสถาบันฯ ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง และกล่าวหาสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนว่า ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน

ประการที่สี่คือ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีที่ แล้ว โดยมีรายงานว่า เขาอาจเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังคำสั่งการดังกล่าว และจนปัจจุบัน ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดที่ต้องออกมารับผิดชอบกับอาชญากรรมที่กระทำต่อ ผู้ชุมนุมมือเปล่า และสารคดีของสำนักข่าวบีบีซีโดยเฟอร์กัล คีน ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ ก็ยังชี้ว่า ทหารเป็นผู้ที่มีส่วนรับรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดงอย่าง แน่นอน

อย่างไรก็ตาม กองทัพภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ กลับมองว่า เรื่องที่ต้องทำมากที่สุด คือการกำจัดศัตรูภายในประเทศ หากแต่การสมานแผลในสังคมไทยจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าหากว่าเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม และวิธีคิดดังกล่าวของกองทัพ จะไม่ช่วยทำให้สภาพการณ์ของสังคมไทยที่ปราะบางอยู่แล้วดีขึนแม้แต่น้อย

ประการสุดท้าย ปวินชี้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ขาดความคิดที่เหมาะสมทางด้านการทูต จะเห็นจากการที่เขา “ประกาศสงคราม” กับกัมพูชา และนำนโยบายต่างประเทศที่ยึดความมั่นคงเป็นศูนย์กลาง และล้าหลังกลับมาใช้ นอกจากนี้ ทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อกัมพูชาของพล.อ. ประยุทธ์ ที่มีส่วนมาจากประเด็นทางการเมืองของกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลใหม่ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีต่อ รัฐบาลกัมพูชา และสร้างสันติภาพและความสงบสุขของประชาชนทั้งสองประเทศที่อยู่บริเวณชายแดน

"ถึงเวลาแล้วที่นายกฯ สตรีผู้นี้ จะปฏิบัติตนเฉกเช่นนักรบที่กล้าหาญ และไล่ผู้ที่ทำความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของชาติผู้นี้ออกไป" นักวิชาการด้านการระหว่างประเทศระบุในท้ายบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น