เราจะฟื้นสังคมจากวิกฤตน้ำท่วมอย่างไร?
น้ำ ท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย เป็นวิกฤตร้ายแรงมากสำหรับประชาชนไทย พอๆกับวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน น้ำท่วมครั้งนี้กระทบพลเมืองกว่า 2 ล้านคน บ้านเรือนเสียหายกว่า 700,000 หลัง ยอดคนตายเกิน 300 ราย และกระทบ 27 จังหวัด โรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ต้องปิด 200 กว่าแห่งและน้ำท่วมที่นาของเกษตรกรมากมาย ดังนั้นจะมีผลต่อการส่งออก การเลี้ยงชีพของพลเมืองจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจโดยทั่วไปหดตัวลง คาดว่าเศรษฐกิจจะชลอลงอย่างน้อย 1% อาจมากกว่านั้น สมาคมหอการค้าไทยประเมินว่าค่าเสียหายจะสูงถึง 150 พันล้านบาท
ดังนั้นทั้งๆ ที่ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการแจกถุงยังชีพอย่างเร่งด่วน หรือการหาทางระบายน้ำ แต่พอน้ำลงเรียบร้อยแล้ว จะมีปัญหาใหญ่กว่าที่ตามมาคือ บ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงถนนหนทางและสาธารณูปโภค จะเสียหายมหาศาล เกษตรกรจะติดหนี้มากขึ้น และสำหรับลูกจ้างหลายแสนคน เขาจะตกงานหรือขาดรายได้เพราะสถานที่ทำงานถูกน้ำท่วม
ถ้าเป็นรัฐบาลเดิมๆ ที่จงรักภักดีกับอำมาตย์หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลทหาร จะมีการช่วยเหลือเล็กๆ น้อย แบบผักชีโปรยหน้า แล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยให้ประชาชนต่างคนต่างหาตัวรอดในวิกฤต
ตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือนโยบายรัฐบาลประชาธิปัตย์ของนายกชวนหลังวิกฤต เศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นโยบายรัฐบาลประกอบไปด้วยการบอกให้ประชาชนที่ตกงาน “กลับบ้าน” ไปพึ่งญาติพี่น้องที่ยากจนอยู่แล้วในชนบท บวกกับการสอนประชาชนคนจนให้เจียมตัวรู้จักพอเพียง ไม่มีมาตรการการสร้างงานหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีการปกป้องเงินออมของคนรวยและธนาคารด้วยงบประมาณรัฐ นี่คือสาเหตุสำคัญที่พรรคไทยรักไทยสามารถเสนอนโยบาย “คิดใหม่ทำใหม่” และโฆษณาว่าจะช่วยทุกคน ไม่ใช่แค่คนรวย และนโยบายดังกล่าวนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณรัฐอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากรัฐบาลไทยรักไทยไม่สนใจที่จะเก็บภาษีจากคนรวยหรือ นายทุนในอัตราสูง งบประมาณในโครงการต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะกำจัดความยากจนไปหมด และรัฐบาลไม่ได้มีความประสงค์ที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐ สวัสดิการครบวงจรเลย
สิ่งที่จะช่วยกู้สถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมสำหรับสังคมไทย มีสองอย่างคือ
(1) ในระยะยาวต้องมีการพัฒนาระบบชลประทานให้ดีกว่านี้ เช่นการสร้างคลองลำน้ำพิเศษที่จะระบายน้ำลงทะเลอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำหรือท่วมเขตชุมชน อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะคุ้มค่า เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้วจะสร้างงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างอีกด้วย
(2) ในระยะสั้นหลังน้ำลงรัฐบาลควรจะเร่งโครงการก่อสร้างซ่อมแซม และชดเชยทรัพย์สินของประชาชนที่สูญหายไป เรื่องนี้จะสร้างประโยชน์สองด้านคือ กู้สถานการณ์ และสร้างงานพร้อมกันด้วย และรัฐบาลต้องมีโครงการสร้างงานที่นอกเหนือจากนั้นอีกด้วย และต้องมีการเสริมรายได้กับประชาชนด้วยการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะหดตัว ผ่านการเสริมกำลังซื้อ และจะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพร้อมกันอีกด้วย นอกจากนี้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
รัฐบาลควรจะหารายได้เพิ่มมหาศาล สำหรับการกู้สถานการชีวิตประชาชนหลังจากน้ำลง เงินนี้หาจากรายได้ที่มีอยู่แล้วไม่ได้ และการตัดงบประมาณทุกกระทรวง 10% จะยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายมากขึ้นและมีผลกระทบในด้านลบกับชีวิตคนส่วนใหญ่
ดังนั้นถ้าจะทำกันอย่างจริงจัง ต้องมีการ “คิดใหม่ทำใหม่” นอกกรอบคิดเดิมของอำมาตย์คือ ต้องเพิ่มการเก็บภาษีทางตรงจากเศรษฐี คนรวย และนายทุนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ไม่ควรมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนจนต้องจ่าย พร้อมกันนั้นต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยของทหารอีกด้วย ในรูปธรรมหมายถึงการงดซื้ออุปกรณ์ รถถัง เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในการช่วยเหลือชาวบ้านเลย ถ้าใช้ก็ใช้เพื่อฆ่าประชาชนอย่างเดียว และต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในหลายปีข้างหน้า
ถ้าใครโวยวายว่าโครงการแบบนี้ “ผิด” เราจะต้องเตือนย้ำว่า ในสภาพวิกฤตปัจจุบันมันไม่มีโครงการเฉพาะหน้าอะไรที่ถือว่า “เพื่อประโยชน์ชาติ” “หรือเพื่อประโยชน์ของคนไทยส่วนใหญ่” มากกว่านี้ จะผิดได้อย่างไร? หรือประชาชนไม่สำคัญ?
จะเห็นได้ทันทีว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมแยกออกไม่ได้จากการลบล้างผลพวงของอำนาจ อำมาตย์ หรือผลพวงของรัฐประหาร แต่เราทำได้ถ้ารัฐบาลพร้อมจะคิดใหม่และจับมือกับคนเสื้อแดงซึ่งเป็นคนส่วน ใหญ่ของประเทศ
ในการกู้สังคมไทยจากวิกฤตน้ำท่วม เราจะต้องถกเถียงอย่างถึงที่สุดกับพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ หรือในสำนักงานวิจัยอย่าง “ทีดีอาร์ไอ” ที่พูดเหมือนนกแก้วว่า “รัฐบาลไม่ควรใช้งบประมาณในการพัฒนาชีวิตประชาชน ต้องปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นของตลาดเสรีดำเนินการไปแทน”
จะมีอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และเพื่อชาติบ้านเมืองมากกว่าการกู้สังคมและชีวิต ของคนส่วนใหญ่จากวิกฤตน้ำท่วม? คำถามใหญ่คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมจะทำหรือไม่?
(ภาพรถฮอนดาถูกน้ำท่วมที่โรงงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น