วิกฤตน้ำท่วม ไม่ใช่แค่เรื่องถุงยังชีพ
ใจ อึ๊งภากรณ์
น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย เป็นวิกฤตร้ายแรงสำหรับประชาชนไทย พอๆกับวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ดังนั้นทั้งๆ ที่ต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการแจกถุงยังชีพอย่างเร่งด่วน หรือการหาทางระบายน้ำ ฯลฯ แต่พอน้ำลง จะมีปัญหาใหญ่กว่าตามมาคือ บ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงถนนหนทางและสาธารณูปโภค จะเสียหายมหาศาล และสำหรับลูกจ้างหลายแสนคน เขาจะตกงานหรือขาดรายได้เพราะสถานที่ทำงานถูกน้ำท่วม
ถ้าเป็นรัฐบาลเดิมๆ ที่จงรักภักดีกับอำมาตย์หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลทหาร จะมีการช่วยเหลือเล็กๆ น้อย แบบผักชีโปรยหน้า แล้วก็ปล่อยวาง ปล่อยให้ประชาชนต่างคนต่างหาตัวรอดในวิกฤต ตัวอย่างเป็นรูปธรรมคือนโยบายรัฐบาลประชาธิปัตย์ของนายกชวนหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นโยบายรัฐบาลประกอบไปด้วยการบอกให้ประชาชนที่ตกงาน “กลับบ้าน” ไปพึ่งญาติพี่น้องที่ยากจนอยู่แล้วในชนบท บวกกับการสอนประชาชนคนจนให้เจียมตัวรู้จักพอเพียง ไม่มีมาตรการการสร้างงานหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีการปกป้องเงินออมของคนรวยและธนาคารด้วยงบประมาณรัฐ นี่คือสาเหตุสำคัญที่พรรคไทยรักไทยสามารถเสนอนโยบาย “คิดใหม่ทำใหม่” และโฆษณาว่าจะช่วยทุกคน ไม่ใช่แค่คนรวย และนโยบายดังกล่าวนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้งบประมาณรัฐอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากรัฐบาลไทยรักไทยไม่สนใจที่จะเก็บภาษีจากคนรวยหรือนายทุนในอัตราสูง งบประมาณในโครงการต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะกำจัดความยากจนไปหมด และรัฐบาลไม่ได้มีความประสงค์ที่จะกำจัดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการครบวงจรเลย
สิ่งที่จะช่วยแก้วิกฤตน้ำท่วมสำหรับสังคมไทย นอกเหนือจากการพัฒนาระบบชลประทานแล้ว คือการสร้างโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาชีวิตของประชาชนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในสภาพวิกฤตปัจจุบันมันไม่มีโครงการเฉพาะหน้าอะไรที่ถือว่า “เพื่อประโยชน์ชาติ” มากกว่านี้
รัฐบาลจะต้องเร่งโครงการก่อสร้างซ่อมแซม และชดเชยข้าวของของประชาชนที่สูญหาย เรื่องนี้จะสร้างประโยชน์สองด้านคือ กู้สถานการณ์ และสร้างงานพร้อมกัน และรัฐบาลต้องมีโครงการสร้างงานที่นอกเหนือจากนั้นอีกด้วย และต้องมีการเสริมรายได้ประชาชนด้วยการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะหดตัว ผ่านการเสริมกำลังซื้อ และจะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพร้อมกันอีกด้วย
รัฐบาลจะต้องหารายได้เพิ่มมหาศาลสำหรับการกู้สถานการชีวิตประชาชนหลังจากน้ำลง เงินนี้หาจากรายได้ที่มีอยู่แล้วไม่ได้ จะไม่พอแน่นอน ดังนั้นถ้าจะทำกันอย่างจริงจัง ต้องมีการ “คิดใหม่ทำใหม่” นอกกรอบคิดเดิมของอำมาตย์คือ ต้องเพิ่มการเก็บภาษีจากเศรษฐี คนรวย และนายทุนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในหลายปีข้างหน้า และต้องมีการตัดงบประมาณฟุ่มเฟือยของทหารอีกด้วย ในรูปธรรมหมายถึงการงดซื้ออุปกรณ์ รถถัง เครื่องบิน เรือรบ ฯลฯ อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในการช่วยเหลือชาวบ้านเลย ถ้าใช้ก็ใช้เพื่อฆ่าประชาชนอย่างเดียว นอกจากนี้ต้องมีการเปิดสถานที่ขนาดใหญ่ที่เคยจำกัดการใช้ไว้ให้คนหยิบมือเดียว เพื่อเป็นที่พักของประชาชนที่ไร้บ้าน
ถ้าใครโวยวายว่าโครงการนี้ “ผิด” เราจะต้องเตือนซ้ำว่า ในสภาพวิกฤตปัจจุบันมันไม่มีโครงการเฉพาะหน้าอะไรที่ถือว่า “เพื่อประโยชน์ชาติ” มากกว่านี้ จะผิดได้อย่างไร? หรือประชาชนไม่สำคัญ?
จะเห็นได้ทันทีว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมแยกออกไม่ได้จากการลบล้างผลพวงของอำนาจอำมาตย์ มันแยกไม่ออกจากการทำตามนโยบายข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ มันแยกไม่ออกจากการสร้างมาตรฐานยุติธรรม ผ่านการปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อ ยกเลิกกฏหมาย 112 และกฏหมายคอมพิวเตอร์ และการนำทหารและนักการเมืองมือเปื้อนเลือดจากราษฏร์ประสงค์และผ่านฟ้าเมื่อปีที่แล้วมาขึ้นศาล
และมันแยกไม่ออกจากการที่เราจะต้องถกเถียงอย่างถึงที่สุดกับพวกคลั่งกลไกตลาดเสรี ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในพรรคประชาธิปัตย์ หรือในสำนักงานวิจัยอย่างทีดีอาร์ไอ ที่บอกว่ารัฐบาลไม่ควรใช้งบประมาณในการพัฒนาชีวิตประชาชน
พวกเสื้อแดงบางกลุ่มที่พูดเสมอให้พวกเรา “ใจเย็น” “ให้เวลากับรัฐบาล” “งดเรื่องการเมืองไปก่อน” เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังจัดการกับปัญหาน้ำท่วม ไม่เข้าใจประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับการเมืองของอุทกภัย เพราะตราบใดที่เรามีพวกอำมาตย์ทหารเห็นแก่ตัวคอยยับยั้งความเจริญของสังคม เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างจริงจัง เสียดายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะยอมจำนนต่อความมั่นคงของอำมาตย์ไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น