โดยสุรพศ ทวีศักดิ์
สิ่งที่น่าแปลกใจมากสำหรับ “สื่อ” ในประเทศนี้คือ มักจะตั้งคำถามกับคนที่ถูกมองว่า “วิจารณ์เจ้า” หรือถูกกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” ว่า “เอาเจ้า หรือไม่เอาเจ้า” ทั้งที่เป็นคำถามที่บังคับในตัวมันเองว่าต้องมี “คำตอบเดียว” เท่านั้น
แต่ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ว่า การกล่าวหาว่าคนอื่น “ล้มเจ้า” (เช่น กล่าวหว่าทักษิณจะล้มล้างสถาบันจึงทำรัฐประห าร แต่งนิยาย “ผังล้มเจ้า” กล้าวหาว่ามี “ขบวนการล้มเจ้า” แล้วล้อมปราบประชาชน กล่าวหาว่าคำ ผกา “โชว์นมล้มเจ้า” และทุกวันนี้ก็ยังกล่าวหาใครๆ ล้มเจ้าๆ ด้วย “ความเท็จ” อยู่ทุกวันๆ) แทบทั้งหมดล้วนแต่เป็น “ความเท็จ” ทั้งเพ แต่สื่อกลับไม่ตั้งคำถามเลยว่า คนที่กล่าวหาว่าคนอื่นล้มเจ้าด้วยความเท็จนั้น ควรจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างไร? ควรจะมีกฎหมายเอาผิดคนที่ทำลายเพื่อนร่วมสังคมด้วยข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ เช่นนี้หรือไม่?พูดก็พูดเถอะ กรณี “อากง” สังคมไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่า “ข้อความหมิ่นฯ” นั้นว่าอย่างไร ส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินีในฐานะตัวบุคคลอย่างไร กระทบต่อความมั่นคงอย่างไร แต่อากงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ฉะนั้น “ข้อเท็จจริง” ของผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนั้นที่ว่า “อากง”ได้กระทำลงไปแล้วนั้น สังคมไม่ได้รับรู้เลย รับรู้แต่เพียงข้องเท็จจริงของ “ผลกระทบอย่างรุนแรง” ที่อากงและครอบครัวได้รับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมนี้ใช้ “เหตุผล” และ “ข้อเท็จจริง” อะไร ในการ “ประณาม” คนอย่างอากง!
เช่นเดียวกัน ที่สังคมนี้เกลียดชัง ประณามคนที่ถูกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” ก็เป็นความเกลียดชัง และประณามโดยที่ไม่ได้ “ประจักษ์” เหตุผลและข้อเท็จจริงเช่นกัน ซ้ำร้ายเมื่อรู้ในภายหลังว่าบุคคลนั้นถูกล่าวหาด้วย “ความเท็จ” บางคนยังคงเกลียดชังฝังใจไม่หายเลย
ในขณะที่ที่ไม่รู้สึกถึง “ความผิด” ใดๆ โดยเฉพาะ “สื่อ” ในประเทศนี้ไม่รับผิดชอบที่จะตั้งคำถามใดๆ ไม่เรียกร้องความรับผิดชอบใดๆ กับฝ่ายที่กล่าวหาว่าคนอื่น “ล้มเจ้า” ด้วย “ความเท็จ”
แต่กลับมาตั้งคำถาม (ที่คิดว่าเท่ห์) กับฝ่ายที่ถูกล่าวหาด้วยความเท็จว่าเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า
นี่คือ “ปรากฏการณ์” ที่แสดงให้เห็นว่า ความรักเจ้า การปกป้องเจ้า ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นเลย!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น