หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

ถ้าอำนาจศาลเป็นอำนาจอิสระ ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีความผิดม.112 มีอำนาจอิสระจริงหรือไม่..?

ถ้าอำนาจศาลเป็นอำนาจอิสระ ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีความผิดม.112 มีอำนาจอิสระจริงหรือไม่..?


 

วิญญูชน คนทั่วไปมีเหตุอันสมควรต่อการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือ ที่ศาลจะหลุดพ้นจากอคติสี่ ในขณะที่มติหนึ่งมีนโยบายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในอีกมติหนึ่งนั่งพิจารณาคดี, วินิจฉัย, พิพากษา ข้อพิพาทความผิดระหว่างผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 กับสถาบันพระมหากษัตริย์


โดยทางกฏหมาย นัยหนึ่งของการกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดต่อความมั่นคง, ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว, เป็นความผิดระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับรัฐ, ขบวนการยุติธรรมไทยถือนัยนี้ดำเนินคดีความกับผู้ถูกกล่าวหา 

ในทางกลับกัน ถ้าพิจารณาอีกนัยหนึ่ง เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ความผิดฐานนี้ย่อมเป็นความผิดส่วนตัว การกล่าวถ้อยคำ ดูหมิ่น หรือสบประมาทตามความในมาตรานี้จึงเป็นเรื่องของศรัทธา เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์
          
อย่างไรก็ตามแม้ทั้งสองนัยเป็นการละเมิดสิทธิทางอาญา แต่มีผลแตกต่างกัน นัยแรกเป็นความผิดอันไม่อาจยอมความได้ กำหนดโทษขั้นต่ำสามปี ขั้นสูงสิบห้าปี ส่วนในนัยหลังเป็นความผิดอันยอมความได้ และมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหนึ่งหรือสองปี โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ความสุจริตของการกล่าวถ้อยคำ หรือการกระทำอันถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น[1]

เมื่อนำสองนัยมาเปรียบเทียบกัน, ลักษณะการกระทำความผิดประเภทเดียวกัน (ถึงแม้จะใช้คำแตกต่างกัน), แต่เป็นความผิดต่างฐานต่างหมวดความผิด, มีผลและโทษทางกฏหมายแตกต่างกัน ความเด่นชัดในเหตุที่แตกต่างกันเช่นนี้ก็คือ ฐานะของผู้ถูกหมิ่น, ถูกประมาท, หรือถูกละเมิด, ประวัติศาสตร์ที่ขาดการกวาดล้างชำระบอกให้คนไทยโดยทั่วไปเชื่อโดยสุจริตว่า บุคคลในฐานะหนึ่งควรได้รับการคุ้มครองพิเศษ แตกต่างออกไปจากฐานะของบุคคลธรรมดาอีกฐานะหนึ่ง 

กล่าวตรงความหมายคือ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือความเป็นมาของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 โดยเฉพาะบทบัญญัติปัจจุบัน ผู้ประกาศใช้จงใจเจตนา นำบทลงโทษมาเป็นเครื่องมือยืนยันถึง ความบกพร่องของการเขียนประวัติศาสตร์, ความแตกต่างกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชาติ, เป็นอคติความลำเอียง ขัดต่อหลักคุณธรรม-มนุษยธรรมทางกฏหมายอันมีมานับแต่แรก 

ดังนั้น การกำหนดโทษบังคับต่อการที่ใครไม่ศรัทธาใคร โดยวิธีการการกำหราบปราบปราม มีโทษขั้นต่ำสามปี และกำหนดโทษขั้นสูงถึงสิบห้าปี ไม่ว่าจะมองทางใด ย่อมเป็นเรื่องเกินเหตุ, เกินสมควร, เกินความจำเป็น  
          
เป็นเรื่องที่น่าประหลาดประการหนึ่งในขบวนการศาลยุติธรรมไทย แม้กฏหมายมาตรานี้เป็น ผลไม้จากต้นไม้พิษ[2] ศาลยุติธรรมซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางหลักการ, ตัวบท, กฏหมาย นำมาซึ่งความยุติธรรม ตรงกันข้าม กลับเป็นผู้ใช้กฏหมายมาตรานี้โดยปราศจากความรู้สึกผิดต่อคุณธรรมทางกฏหมาย 

ดุลพินิจปฏิเสธการให้ประกันตัวผู้ต้องหาก็ดี, การพิจารณาเป็นความลับก็ดี, หรือภาษาที่ใช้ในคำพิพากษาก็ดี[3] บ่งชี้ถึงนโยบายที่ต้องกำหราบปราบปรามผู้กระทำความผิดชนิด กำปั้นเหล็ก โดยปราศจากข้อเสนอแนะ, หรือปรับปรุงแก้ไข ให้กฏหมายมาตรานี้สอดคล้องเป็นไปตามหลักคุณธรรมทางกฏหมาย
          
เมื่อเหตุกระทบถึงสิทธิของศาลยุติธรรม ศาลอ้างกฏหมายรัฐธรรมนูญ[4] แต่เมื่อยามกฏหมายรัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างสิทธิของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสิทธิของประชาชน ศาลยุติธรรมวางตัวคลุมเคลือ ไม่ชัดเจน ต่ออำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ควรมีกฏหมายหมายรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณาญาสิทธิราช หรือควรมีกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ให้สิทธิเสียงประชาชน เป็นผู้อำนาจอย่างแท้จริง
          
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประวัติความเป็นมาของขบวนการผู้พิพากษาตุลาการ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่นั่นเป็นอดีต อดีตที่ผู้พิพากษา ตุลาการ ใช้ความสัมพันธ์ลักษณะตัวการตัวแทน[5] ในการไต่สวน ทวนความ คดีความ
 
 
(อ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น