"สุณัย ผาสุข" วิพากษ์พท. วิจารณ์ปชป. อย่า "ซุกมือไว้ใต้หีบ" ปรองดองคู่ขัดแย้งในมุมมืด
มติชนทีวีสัมภาษณ์ "สุณัย ผาสุข" ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ถึงประเด็นปรองดอง-นิรโทษกรรม
@สังคมไทยควรจัดการกับบาดแผลความขัดแย้งด้วยการลืมแล้วเริ่มต้นใหม่ หรือควรค้นหาข้อเท็จจริงก่อนให้อภัยแล้วอยู่ร่วมกัน
สังคมไทยโชคร้ายกว่าสังคมอื่นทั่วโลกที่เคยเผชิญความขัดแย้งกันมา เพราะคนไทยไม่มีโอกาสแม้กระทั่งรู้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น จึงไม่สามารถไปไกลถึงคำถามว่าเราจะ “เลือกจำ” หรือ “เลือกลืม” เราจะเลือกลงโทษหรือนิรโทษกรรม คือขอแค่ให้รู้ข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น คนไทยก็ยังไม่มีสิทธิรู้ ทั้งๆ ที่สังคมไทยเผชิญความรุนแรงขนาดใหญ่มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ จนกระทั่งการรัฐประหารครั้งต่างๆ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เข้ารหัสกันเป็นสีเหลือง สีแดง ทุกเหตุการณ์ ภาพความเป็นจริง หรือ ข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องลึกลับ
เพียงแต่ว่า รู้กันนัยๆ ว่าใครน่าจะเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่มีข้อเท็จจริง ที่ยอมรับกันโดยทุกฝ่าย ว่าเรื่องคืออะไร คู่ขัดแย้งคือใครกันแน่ แล้วคู่ขัดแย้งเหล่านั้น มีบทบาทอย่างไร สร้างความเสียหายแค่ไหน เราไม่มีโอกาสได้รู้เลย สิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริง ชุดของข้อเท็จจริง ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคงไม่มีชุดที่ยอมรับร่วมกันทั้งหมด แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย ฉะนั้น สังคมไทยโดยรวม เมื่อไม่รู้ว่าใครเป็นคู่ขัดแย้ง เราจึงทวงหาความรับผิดชอบไม่ได้ แล้วยิ่งกว่านั้น คนที่เป็นเหยื่อ ทั้งในทางตรงทางอ้อม ก็จะแสวงหาความยุติธรรมไม่ได้เลย เพราะไม่รู้จะไปแสวงหาจากใคร
@ แม้แต่รัฐบาลในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรง ก็อาจจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งตัวจริงงั้นหรือ
ความขัดแย้งทางการเมืองแต่ละครั้ง คู่กรณีอาจจะไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในแสงสว่าง อาจจะเป็นบุคคลที่อยู่ในเงามืด ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจโดยตรง แต่ยังมีอิทธิพล อยู่เหนือโครงสร้างอำนาจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็น ต้องเปิดเผยออกมา ว่าใครบ้างเป็นคู่ขัดแย้ง
คำถามอย่างที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ถาม พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน เป็นคำถามที่สำคัญ ส่วน พล.อ.สนธิ จะบอกว่าให้ตาย ก็บอกไม่ได้ อย่างนั้นเป็นคำตอบที่สังคมไม่ควรจะยอมรับแล้วปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ เพราะเหตุการณ์รัฐประหาร เป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ เป็นชนวนของความขัดแย้งที่เกิดต่อเนื่องมา ความแตกแยกที่เกิดในสังคม ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่ง ก็พันมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร ฉะนั้น ต้องตอบว่า การรัฐประหาร เป็นการตัดสินใจของฝ่ายทหาร หรือมีฝ่ายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำเพื่อผลประโยชน์ใครต้องมีคำตอบ แล้วยิ่ง พล.อ.สนธิ บอกว่า ให้ตายก็บอกไม่ได้ นั่นเท่ากับว่ามีการปกปิดข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง ซึ่งสังคมไม่ควรปล่อยผ่าน โดยเฉพาะ พล.อ.สนธิเอง เป็นคนเดียวกับผู้ต้องการจะผลักดันการปรองดอง โดยปกปิดข้อเท็จจริง อย่างนี้ก็มีปัญหาแล้ว
@ มองความเป็นไปได้เรื่องการปรองดองอย่างไร
ผมมองว่าสิ่งที่เป็นข้อเสนอผ่านจากสถาบันพระปกเกล้า เข้าสู่กรรมาธิการการปรองดอง แล้วได้รับการรับรองจากรัฐสภามาแล้ว มันไม่ใช่การปรองดอง มันคือ “การสมยอมกัน” ของผู้ที่มีอำนาจในฝ่ายต่างๆ เพราะในข้อเสนอที่ผ่านมาจากสถาบันพระปกเกล้า เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนว่า จะสนับสนุนการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ของ คอป. ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่การเผยแพร่รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น จะทำก็ต่อเมื่อสังคมมีความพร้อม มีเงื่อนไขที่เหมาะสม สรุปแล้วคือเมื่อไหร่ เพราะใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าเงื่อนไขทางสังคมพร้อมแล้ว แล้วที่สำคัญคือรายงานดังกล่าวบอกว่าจะมี “การปกปิด” รายชื่อคนที่เกี่ยวข้อง เพราะนั่นเท่ากับคุณไม่ได้ให้คำตอบใดๆ กับสังคมเลยว่าใครเป็นคู่ขัดแย้ง แล้วคู่ขัดแย้งก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกหรือผิด ทำตามกรอบหรือนอกกรอบ เช่น วาทกรรม บอกว่าฝ่ายหนึ่งเผาบ้านเผาเมือง ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่ถูกบอกว่าเป็นฆาตกร
ผู้ได้รับผลกระทบ ก็ไม่ทราบว่าใครกระทำ แล้วเขาจะตัดสินใจได้อย่างไรว่า ผู้กระทำควรได้รับการลงโทษ หรือได้รับการนิรโทษกรรม หรือให้อภัย
การที่เรียกร้องบอกว่าลืมๆ กันไปเถอะแล้วเดินหน้าไป แต่คุณยังไม่ให้ข้อเท็จจริงกับสังคมเลย มันเป็นสิ่งที่ผมมองได้ 2 ทางคือ เป็นการดูถูกความเป็นมนุษย์ ของผู้ที่ถูกกระทำ การดูถูกสังคมทั้งสังคมผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความรุนแรงนั้นๆ แล้วบอกให้ลืมกันไป มันไม่ใช่ทางออกอะไร
คือถ้าใช้ตรรกะว่า ลืมกันไปแล้วก้าวเดินไป ผมมองว่าเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรม การทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เป็นการฟอกขาว ของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยปกป้องผู้ที่กระทำผิด ให้อยู่ในเงามืดต่อไป สิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกส่งเสริม ไม่ว่าผ่านทางงานวิชาการ หรือกระบวนการทางการเมือง การปกปิดให้ผู้กระทำผิดยังอยู่ในเงามืดต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดเป็นสิ่งไม่ควรสนับสนุน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น