หน้าเว็บ

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ข้อดีข้อเสียของหนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" โดยจิตร ภูมิศักดิ์

ข้อดีข้อเสียของหนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" โดยจิตร ภูมิศักดิ์ 

 


หนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของจิตรภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่นสุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้ 

จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ "อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต" (จิตร ๒๕๓๙; หน้า 362) จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ (จิตร ๒๕๓๙; หน้า 371) โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (จิตร ๒๕๓๙; หน้า 369)
 
ในความเป็นจริง ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิตในเมื่อ เมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ  เพราะในค.ศ. 1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ 73 คนในอินเดีย และ 21 คนในอินโดนีเซีย (ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘; หน้า 28) การ เกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึง เป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน (แล ๒๕๒๒, คึกฤทธิ์ ๒๕๑๖, ศุภรัตน์ ๒๕๒๗, ชัยอนันต์ ๒๕๑๙, ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘, ใจ ๒๕๔๓; หน้า 13) นอก จากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส (Rajchagool 1994) ดัง นั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินา ไม่มีความหมายไปมากกว่าเชิงสัญญลักษณ์ เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน (จิตร ๒๕๓๙; หน้า 423) น่า จะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดินจริงๆ ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส

ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส (ใจ ๒๕๔๓; หน้า 13) นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ (Rajchagool 1994) และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ ที่เริ่มใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน (ใจ ๒๕๔๓; หน้า 29) พูดง่ายๆ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย

รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของ จิตร คือเขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่มาร์คซ์เคยเสนอสำหรับยุโรป ตะวันตก มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับ จิตร ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอล์ในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก "ยุคทาส"  (จิตร ๒๕๓๙; หน้า 381 และ 396) แต่ ระบบศักดินาใช้ทาสกับไพร่ และ มาร์คซ์ ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์ คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไป หมดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
 
การที่ผมสามารถวิจารณ์หนังสือของ จิตร ได้ มาจากการที่ผมได้เปรียบเพราะเกิดภายหลังเขาและมีนักวิชาการอื่นๆ ไปค้นพบข้อมูลมาเพิ่ม ดังนั้นเราสามารถเคารพความพยายามและความกล้าหาญของจิตร และวิจารณ์ข้อผิดพลาดไปพร้อมๆ กันได้ ผมเชื่อว่า จิตร คงอยากให้เราทำแบบนั้น
 
อ้างอิง

คึกฤทธิ์
 ปราโมช (๒๕๑๖) สังคมสมัยอยุธยาประวัติศาสตร์และการเมือง สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (๒๕๓๙) "โฉมหน้าศักดินาไทย" สำนักพิมพ์นกฮูก
ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ (๒๕๔๓) "การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์" ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (๒๕๒๘) เศรษฐศาสตร์หมู่บ้านไทยในอดีตสำนักพิมพ์สร้างสรรค์

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (๒๕๑๙) ศักดินากับการพัฒนาการของสังคมไทยนำอักษรการพิมพ์ 

แล ดิลกวิทยรัตน์ (๒๕๒๒) วิถีการผลิตแบบเอเซียกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แห่งความด้อยพัฒนาของสังคมไทย วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๙ (๑), ๘๗-๙๘

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล (๒๕๒๗) ระบบศักดินา ใน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔
ฉัตร ทิพย์ นาถสุภา กับ สมภพ มานะรังสรรค์ (บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

Rajchagool, Chaiyan (1994) The rise and fall of the absolute monarchy. White Lotus, Bangkok.

จากหนังสือ รื้อฟื้นการต่อสู้  ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทยใจ อึ๊งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิก สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๗) ISBN 974-91967-5-9

(อ่านต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น