๘๐ ปีวันชาติไทย
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
“ยี่สิบสี่มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา -รยประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์”
บทเพลง ๒๔ มิถุนายนนี้ สะท้อนถึงความสำคัญของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน
พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย
เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยคณะราษฎร ที่นำโดย
พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
ได้ทำการยึดอำนาจดำเนินการให้ก่อเกิดรัฐธรรมนูญมาเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาว
ไทย และนำมาสู่คำขวัญที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ รัฐธรรมนูญ”
และอันที่จริงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ยังมีฐานะเป็นวันชาติของไทยอีกด้วย
ดังนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ ๘๐ ปี แห่งกรณี ๒๔ มิถุนา
จึงต้องถือเป็นปีมหามงคลสมัยของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น
การยอมรับอำนาจทางการเมืองของราษฎรสามัญว่า
สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศได้โดยผ่านการเลือกตั้ง
ให้ชาวไทยได้มีสิทธิเสรีภาพ และมีความเสมอภาคกันภายใต้กฏหมาย
ไม่ใช่เจ้าอยู่สูงกว่าราษฎร ต่อมาก็คือ การใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
อันนำมาซึ่งการปกครองโดยกฎหมาย
แทนที่การปกครองด้วยพระบรมราชโองการในแบบเดิม
การใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสาม
และการบริหารด้วยคณะรัฐมนตรีตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งใหม่
ที่สำคัญคือการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของการบริหารที่อำนาจอยู่ในมือของคนเดียว
บริหารประเทศแบบไม่มีกรอบเวลา
คงต้องย้อนไปอธิบายให้ชัดเจนว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕
เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอย่างรอบด้าน เพราะตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒
เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
และนำมาซึ่งการตกต่ำครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
กรณีนี้กลายเป็นปัญหาของระบอบการปกครอง เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน
ถ้ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหา
ประชาชนยังมีโอกาสในการเปลี่ยนรัฐบาลโดยผ่านกลไกรัฐสภา
หรือผ่านการเลือกตั้ง แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โอกาสเช่นนั้นไม่มี
ปัญหาของระบอบก็คือ ความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาล
กลายเป็นความรับผิดชอบของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ดังนั้น
จึงมีการอธิบายกันด้วยซ้ำว่า
การปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นการผ่อนเบาพระราชภาระ
และเป็นการรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์
และการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนมาแล้ว
นั้น เป็นการมอบในเชิงสถาบัน จึงไม่สามารถรับคืนได้
ความความพยายามในการถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ที่กระทำกัน
จึงเป็นการหมิ่นพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้น วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
จึงถือเป็นวันสำคัญที่มีความหมายแก่ประวัติศาสตร์ประชาชนไทย
และวันนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม
ประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติของประเทศไทย โดยครั้งแรกเรียกว่า
“วันชาติและวันฉลองสนธิสัญญา” เพราะปี พ.ศ.๒๔๘๒
จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้เอกราชสมบูรณ์
หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาเสียเปรียบมาตั้งแต่สัญญาบาวริง
พ.ศ.๒๓๙๘
http://www.prachatai.com/journal/2012/06/41225
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น