หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เลยไม่ได้ไปอวกาศ เฝ้าดูมดเดินย้ายไข่กันต่อไป

เลยไม่ได้ไปอวกาศ เฝ้าดูมดเดินย้ายไข่กันต่อไป

 

 

ด้วยความคิดเห็นอันเป็นวิทยาศาสตร์ ของเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมาก ทำให้การม้วนเสื่อกลับบ้านของโครงการนาซา ส่งผลสะเทือนในด้านลบต่อฝ่ายต่อต้านอย่างมาก จนต้องปฏิเสธกันพัลวัน


โยนผิดกันไปมาระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ว่าใครกันแน่เป็นคนทำพัง

เพราะปฏิกิริยาจากประชาชนส่วนใหญ่ หลังได้รับฟังข้อมูลอันเป็นวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า นี่คือการนำเอาโครงการดินฟ้าอากาศที่ประเทศไทยและในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์ มาเป็นเกมการเมือง จนสุดท้ายก็พังพินาศ

พังกันต่อหน้าต่อตา แล้วก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ก่อนชี้นิ้วโทษใส่กัน

อันที่จริงพรรคการเมือง กลุ่ม ส.ว.เครือข่าย กลุ่มเคลื่อน ไหวการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบต่อต้านทักษิณทั้งหลาย

มักจับมือกันเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในทุกๆ กรณีด้วยสูตรเดียวกันนี้

เริ่มจากจับโยงผลประโยชน์ทักษิณ ตั้งข้อสงสัยด้วย ?ความรู้สึกไม่สบายใจ? ต่างๆ นานา

แล้วก็ลงเอยเป็นการยื่นตีความ ยื่นเอาผิด ยื่นถอดถอน ผ่านองค์กรอิสระต่างๆ

แม้รัฐบาลนี้จะมาจากการเลือกตั้งแท้ๆ มาจากมือของ

คนกว่า 15 ล้าน ได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น

แต่สุดท้ายก็พบว่า ปัญหาเดิมๆ ยังไม่จบ

ยุคหนึ่งเรามีรัฐบาลเส้นใหญ่ ทำอะไรก็ชนะทางเทคนิคไปหมด

วันนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ แต่ไม่มีเส้น

อาการสะดุดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำมาสู่การถกเถียงอย่างเปิดเผยและเปิดหน้าของนักวิชาการนักนิติศาสตร์ ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจถึงความจริงอย่างจะแจ้ง

จนเข้าใจอีกด้วยว่า ทำไมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องยอมถอย

ทั้งที่นักกฎหมายจำนวนมากหนุนหลัง กระแสเสียงสังคมเอื้ออำนวย

เหมือนกับกรณีนาซา ที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ล้วนเอาด้วยกับรัฐบาล ประชาชนได้ฟังข้อมูลข่าวสารก็เข้าใจถึงโครงการสำรวจเมฆและฝน รู้เท่าทันขบวนการยกเมฆ

แต่ลงเอยรัฐบาลก็ต้องถอย

นั่นเพราะรัฐบาลชุดนี้ ไม่มั่นใจในหลายๆ กลไกที่อยู่นอกเหนือการเมืองปกติ กลัวเดินไปสู่หลุมดำ

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา หลังจากโครงการนาซาต้องยุติลง ว่านี่เป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

เพราะวันนี้สังคมไทยอยู่ในจุดเผชิญหน้า

ฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มองว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือให้นักซื้อเสียงเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ

ฝ่ายนี้เชื่อในกลไกอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนมากกว่า ยังเชื่อว่ากองทัพต้องมีบทบาท ต้องมีหลายๆ กลไก เข้ามาหยุดนักการเมืองโกงชาติ เลยมีรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยกับดัก

กับอีกฝ่ายที่เห็นว่า ระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง คือระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด อำนาจอื่นๆ ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ควรยุติบทบาทไปเสียที

เท่ากับสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่เชื่อมั่นเลือกตั้ง กับฝ่ายต้องการประชาธิปไตย เสรีภาพของประชาชน

เมื่อยังไม่ไปไหน เราก็เลยไม่ได้ไปอวกาศ

ต้องมานั่งเฝ้าดูมดเดินย้ายไข่กันต่อไป

 

(คลิกอ่าน)http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1340962408&grpid=&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น