ญาติลุกยืน รวมตัวตั้งเครือข่ายผู้ประสบภัย 112 เปิดตัว 5 ก.ค.
สืบเนื่องจากสถิติการจับกุมในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องหลังรัฐประหารปี 2549 รวมถึงมีรายงานจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนถึงปัญหาหลายประการที่ ผู้ต้องโทษและผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องเผชิญ เช่น ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานสากล ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว
ล่าสุด ญาติของผู้ต้องโทษและผู้ต้องหา รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากกฎหมายอาญามาตรา 112” เพื่อเรียกร้องให้ผู้ต้องโทษและผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการ ปล่อยตัวโดยเร็วที่สุดอย่างไม่มีเงื่อนไข และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ สิทธิที่จะไม่ถูกซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ การรวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายยังเป็นไปเพื่อแสดงความต้องการของญาติในฐานะตัว แทนของผู้ต้องโทษและผู้ต้องหา และเพื่อแสดงเจตจำนงของกลุ่มญาติในการรณรงค์เพื่อปล่อยตัวผู้ต้องโทษและผู้ ต้องหาในคดีอาญามาตรา 112 ด้วย
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวในวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.30-12.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อให้ข้อมูลกับนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่ในวงกว้าง และจะจัดแถลงข่าวซ้ำอีกครั้งในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 เวลา 13.00-15.00 น. ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมกับการเสวนา โดยมีผู้เข้าร่วมแถลงข่าวและร่วมเป็นวิทยากรดังนี้
ผู้ดำเนินรายการ: ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข
ผู้ร่วมแถลงข่าว: สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามผู้เคยถูกฟ้องด้วยมาตรา 112
จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น
ศราวุฒิ ประทุมราช สถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน
ตัวแทนกลุ่มสร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ (DPP)
ตัวแทนญาติและผู้ได้รับผลกระทบ:
ปราณี (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาสุรชัย แซ่ด่าน
กีเชียง (ขอสงวนนามสกุล) พ่อของหนุ่ม เรดนนท์
รสมาลิน (ขอสงวนนามสกุล) ภรรยาอากง
แต้ม (ขอสงวนนามสกุล) แม่ของสุรภักดิ์
ณัฐ (ขอสงวนนามสกุล)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น