หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หมอตุลย์-สมศักดิ์ เจียมฯ ร่วมเวที "อึด ฮึด ฟัง" เปิดใจคุยเรื่องมาตรา 112-สถาบันฯ

หมอตุลย์-สมศักดิ์ เจียมฯ ร่วมเวที "อึด ฮึด ฟัง" เปิดใจคุยเรื่องมาตรา 112-สถาบันฯ

Posted Image




(16 ส.ค.55) มีการจัดสานเสวนา ประเด็น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์...เสรีภาพในการแสดงออกและมาตรา 112” ภายใต้โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือและสนับสนุนของ โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย และ USAID ที่ห้องประชุม ศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาดังกล่าวมีผู้ร่วมพูดคุยจากกลุ่มต่างๆ อาทิ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น นิธิวัต วรรณศิริ ผู้ประสานงานเครือข่ายเสรีราษฎร สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 พล.ท.อิสระ วัชรประทีป อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 1 พลเอกไวพจน์ ศรีนวล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมศรี หาญอนันทสุข ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (มูลนิธิอันเฟรล) สกุล สื่อทรงธรรม มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ


โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย มีเป้าหมายต้องการให้ประชาธิปไตยของไทยเป็นแบบสันติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ถ้ารู้จักฟังกัน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผ่านการพูดคุย เปิดใจ โดยเมื่อเข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ไม่เกิดการกล่าวโทษกันง่ายๆ หรือสามารถช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่กัน ซึ่งจะสร้างสันติประชาธิปไตยได้ โดยลักษณะการพูดคุยจะเป็นแบบ "อึด ฮึด ฟัง" หมายถึง อดทน หนักแน่น และฟังอย่างตั้งใจ ทั้งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดใคร แต่อยากให้ฟังความเห็นที่ต่างด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

อนึ่ง ก่อนการเสวนามีการชี้แจงว่า เนื่องจากเรื่องที่พูดคุยในวันนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงขอให้ไม่มีการบันทึกเสียง รวมถึงขอให้ไม่มีการอ้างอิงคำพูดของผู้ร่วมแลกเปลี่ยน โดยช่วงเวลาพูดคุยกว่า 4 ชั่วโมง บรรยากาศเป็นไปด้วยความราบรื่น แม้จะมีการโต้แย้งกันบ้าง แต่เมื่อผู้จัดขอให้พูดทีละคน ผู้ร่วมเสวนาก็รับฟังและยินดีปฏิบัติตาม และหลังการพูดคุยมีการถ่ายรูปร่วมกันด้วย

ในงานสานเสวนาดังกล่าว มีการพูดคุยถึงปัญหาของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกันทางการเมือง กำหนดบทลงโทษที่สูงเกินไปและมีหลายมาตรฐานในการพิจารณาให้ประกันตัว นอกจากนี้ยังทำให้การแลกเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายมองว่ามาตรา 112 ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการหยิบคดีหมิ่นสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือรณรงค์แก้มาตรา 112 รวมถึงสร้างความเข้าใจผิดต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งหากมีการเชื่อและนำข้อมูลผิดๆ ไปใช้ อาจเกิดผลเสียตามมา

อย่างไรก็ตาม มีการพูดถึงข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันว่าแบ่งเป็นข้อมูลเท็จซึ่งควรต้อง พิสูจน์ ข้อมูลที่เป็นจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้ไม่ควรปิดกั้น

อีกทั้งยังมีการวิจารณ์ถึงการนำเสนอข้อมูลสถาบันฯ ในด้านดีด้านเดียวโดยสื่อกระแสหลัก และปิดกั้นเว็บไซต์ที่วิจารณ์ด้วยเหตุผล ขณะที่ในโลกออนไลน์นั้นมีการถกเถียงกันเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งท้ายที่สุดในคดีหมิ่นฯ บางคดี สื่อก็ต้องนำเสนอข่าว แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีทางปิดกั้นได้ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามด้วยว่าเวลาพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น มองในลักษณะปัจเจกบุคคลหรือองค์กร

แนวทางแก้ปัญหามาตรา 112 มีการเสนอว่าศาลฎีกาต้องวางบรรทัดฐานในการตีความมาตรา 112 โดยจำกัดเฉพาะเรื่องของความมั่นคงของรัฐเท่านั้น ส่วนคนที่ใช้คำพูดดูหมิ่นก็ยังมีกฎหมายอื่นจัดการได้ อย่างไรก็ตาม มีการแย้งว่าการตีความของศาลนั้น ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา เกิดจากหลักการที่ยึดถือร่วมกันคือ The Bill of Rights ไม่ได้ผูกกับสถาบันใด ขณะที่ของไทยยังไม่มี

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงเรื่องการรายงานข่าวของนิตยสารฟอร์บส์ ที่รายงานว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงร่ำรวยที่สุดในโลก สถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเงินบริจาค โดยบ้างยกข้อกฎหมาย บ้างยกข้อมูลจากการค้นคว้ามาอ้างอิง

อย่างไรก็ดี มีการเสนอว่า ปัญหาทุกวันนี้ ไม่ใช่แก้มาตรา 112 แล้วจะจบ แต่สังคมไทยควรจะหาคำตอบว่าจะจัดวางที่ทางของสถาบันกษัตริย์อย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น มีการเสนอให้สร้างบรรทัดฐานการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ แบบเดียวกับที่วิจารณ์นักการเมือง โดยชี้ว่าในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนคิดด้วยตัวเอง เกิดการตัดต่อภาพล้อเลียน คงไม่มีใครหยุดได้แล้ว ขณะเดียวกัน มีการแย้งว่า การเสนอในลักษณะนี้ควรต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเกรงจะมีผลเสียตามมา อีกทั้งมีการถกเถียงถึงจังหวะเวลาในการแก้ปัญหา โดยมีทั้งฝ่ายที่มองว่าควรรีบแก้ไขก่อนเกิดการนองเลือด และฝ่ายที่มองว่าควรค่อยเป็นค่อยไป

(ที่มา)
http://prachatai.com/journal/2012/08/4213

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น