หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ส่วนกลางถึงส่วนตน คำวินิจฉัยศาลรธน. ไฉนกฎหมายสับสน

ส่วนกลางถึงส่วนตน คำวินิจฉัยศาลรธน. ไฉนกฎหมายสับสน

 

 

มีปัญหามาตั้งแต่แสดงท่าทีว่าจะเปิดรับวินิจฉัย

กรณีที่มีผู้เข้าร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่ เป็นการล้มล้างการปกครอง

จนเมื่อคำวินิจฉัยกลางแบบสรุปประกาศเมื่อศุกร์ 13 กรกฎาคม ปัญหาเดิมก็ไม่ได้หายไปไหน

แถมมีปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาให้ขบคิด

คนจำนวนหนึ่งระบุว่าให้รอจน "คำวินิจฉัยส่วนตัว" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงออกมาก่อน

ปัญหาและความสับสนสงสัยอาจจะทุเลาลงไป

แต่ความจริงดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

หลังคำวิจฉัยส่วนตัวในคดีดังกล่าวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายดาวรุ่งจากฮาร์วาร์ด ผู้เอาจริงเอาจังอย่างยิ่งกับการชำระกฎหมายมหาชนของเมืองไทย ระบุว่า

ยิ่งอ่านยิ่งมึนไปกับคำวินิจฉัยส่วนตน 8 ตุลาการ เนื่องจากไม่สอดคล้องเนื้อหาคำวินิจฉัยกลางฉบับศุกร์ 13 เพราะไม่มีตุลาการแม้แต่คนเดียวที่เห็นว่ารัฐสภา "ควร" ทำประชามติถามประชาชนก่อน
ในขณะที่ประเด็นว่ารัฐสภาจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ เสียงก็แตกเป็นเสี่ยงๆ

เมื่อตุลาการ 2 คนให้แก้ได้แต่ต้องทำประชามติก่อน

อีก 2 คนบอกทำไม่ได้

ขณะที่อีก 1 คนให้ทำได้

ส่วนที่เหลืออีก 3 เสียง ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้

ความมึนงงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับระดับชาวบ้านธรรมดาทั่วไป

แม้แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังสับสนสงสัย

ถึง ขั้นที่ในการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุรินทร์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านนมา นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รายงานสรุปคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า

โดยหลักการคำวินิจฉัยส่วนตัวต้องออกก่อนคำวินิจฉัยส่วนกลาง แต่ศาลเปิดคำวินิจฉัยส่วนกลางก่อน จึงเปิดคำวินิจฉัยส่วนตัวภายหลัง

และคำวินิจฉัยที่ออกมาขัดแย้งกันเอง

 
เนื่องจาก 8 ตุลาการนั้น มีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนเพียง 4 คน ส่วนอีก 4 คน กลับไม่มีการวินิจฉัย
จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือเดินหน้าลงมติในวาระ 3

นำไปสู่ข้อสรุปของที่ประชุมว่าควรรอผลการศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตัวอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุด

โดยไม่ต้องเร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญ

นี่หรือไม่คือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของขบวนการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ?

ทันทีทันควัน

นาย สมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 4 ต่อ 4 กลุ่มแรกที่บอกว่าการแก้ไขมาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภาจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ได้

ประกอบด้วยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาล นายบุญส่ง กุลบุปผา นายชัช ชลวร และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ส่วน อีก 4 คนอันได้แก่ นายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายนุรักษ์ มาประณีตและนายเฉลิมพล เอกอุรุ มีความเห็นว่าไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้

แต่หากถามว่าจะต้องฟังเสียงทางไหน ต้องไปดูตามคำวินิจฉัยกลาง ในประเด็นที่ 2 ที่ศาลเสนอแนวทางไปให้แล้วว่ารัฐสภาควรทำอย่างไรต่อไป

นาย พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงเพิ่มเติมว่า เมื่อนัดประชุมก่อนลงมติคำวินิจฉัยกลาง ตุลาการทุกคนต้องจัดทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาก่อนแล้ว

ส่วนคำวินิจฉัย ส่วนตนนั้น หากปรับปรุงความเห็นเพิ่มเติมที่ไม่มีผลต่อสาระสำคัญเสร็จแล้วจะส่งให้เจ้า หน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 60 วัน

ก่อนหน้านี้ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการก็ออกมาภายหลังคำวินิจฉัยกลาง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับกรณีนี้

เรื่องที่ไม่แปลกของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นข้อชวนฉงนของสังคมต่อไป

เช่นเดียวกับความสงสัยที่ว่า กฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือในการรักษาระเบียบของสังคม

ที่ตามหลักแล้วควรจะชัดเจน เป็นมาตรฐาน เข้าใจได้โดยง่าย

ทำไมจึงยุ่งยาก ซับซ้อน คดเคี้ยว และนำมาซึ่งข้อโต้เถียงไม่รู้จบ

ดังเช่นที่เป็นอยู่

(ที่มา)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1343879606&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น