หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แบทแมน ความคลุมเครือของโลกที่ไร้ทางออก

แบทแมน ความคลุมเครือของโลกที่ไร้ทางออก




ความล้มเหลวในอดีต เป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์โลกหรือไม่ เปล่าเลยเพราะการปฏิวัติไปสู่สังคมใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่มันถูกสะสมพลังแห่งความขัดแย้งภายในสังคมเดิมที่เราอาศัยอยู่ แต่เราต้องพยายามช่วงชิงนิยามการปฎิวัติกลับมาจากพวกฝ่ายปฎิรูปที่มองกว่า สังคมสามารถปฏิรูปเล็กๆน้อยๆ ผ่านความเป็นคนดี หรือผ่านความใจดี ของคนรวยได้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครดีหรือไม่ดี แต่มันอยู่ที่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาต่างหาก


โดย วัฒนะ วรรณ 


The Dark Knight Rises หนังภาคสุดท้ายของ แบทแมน ซึ่งต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ดูสองภาคแรก ก่อนหน้านี้ โดยสิ่งที่เขียนมาจากเนื้อหาของหนังในภาคสุดท้ายเป็นหลัก

หนังในภาคนี้ ประกอบด้วย ตัวละครสามกลุ่มหลัก คือ “คนจน” ที่สิ้นหวังและมีหวัง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมผ่านการปฏิวัติ “คนรวย” ที่ทั้งคนเห็นแก่ตัวและเอื้ออารีย์ ที่ต้องการรักษาโลกใบนี้ที่ให้น่าอยู่ และ “ตำรวจ” ผู้ถืออำนาจรัฐ ที่เป็นทั้งผู้บ้าในอำนาจและผู้หวังดีที่จะนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข และแน่นอนพระเอกหรือฮีโร่ของหนังก็คือ แบทแมน มหาเศรษฐีที่ทุ่มเทชีวิต เพื่อรักษาเมืองให้คงอยู่ปกติสุข กับผู้ร้ายคือ เบน ที่ต้องการทำลายเมืองทิ้งไปเสีย

เนื้อหนังสร้างสัญลักษณ์ การต่อสู้ทางชนชั้นไว้ในหลายฉาก เช่นการบุกไปตลาดหุ้น การตั้งศาลประชาชน การพิพากษาคนรวย การทำลายคุก ที่ขังคนด้วยกฎหมายเผด็จการ แต่มันดูแปลกหรือเป็นตลกร้าย คือผู้นำการปฏิวัติอย่าง เบน กลับเป็นเผด็จการชัดเจน ที่ต้องการทำลายเมือง โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ให้ความเห็นว่า...

“ผมคิดว่า "เบน" เป็นขวามากกว่าซ้าย เป็นฟาสซิสต์เลยก็ว่าได้ เพราะเขาต้องการสานต่องานของอัลกูลใช่มั้ย ที่คิดว่าคนในเมืองเป็นปัญหา ต้องทำลายล้างคนพวกนี้ที่แปดเปื้อนให้หมดแล้วเริ่มต้นใหม่ ผมว่าไอเดียแบบนี้ไม่ใช่ซ้ายเลย คำว่า "ประชาชน" ถูกเอามาใช้อ้างเท่านั้น ที่มันตลกร้ายคือ เขาเอาวิธีการแบบการปฏิวัติฝรั่งเศสมาใช้และเอาวาทกรรมของการปฏิวัติมาใช้ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง”
“สำหรับผม ฉากการทำลายคุก แล้วก็การตั้งศาลเตี้ยแบบที่เห็น หรือการแขวนคนประจานบนสะพาน มันคือการปฏิวัติฝรั่งเศสชัดๆ ส่วนที่บอกว่าเอาวาทกรรมการปฏิวัติมาใช้ ก็เพราะเบนพูดถึงประชาชน คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน การปลดปล่อยประชาชน คือ ใช้คำพูดชุดนี้มาอธิบายการยึดอำนาจ เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรม แต่มันตรงข้ามกับที่เขาทำทุกอย่าง”[1]

หนังสะท้อนภาพกระแสความคิดบางชุดในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสที่คนเริ่มไม่พอใจระบบทุนนิยม หรือระบบเสรีนิยมกลไกตลาด ที่สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับกลุ่มนายทุน ในขณะที่คนจน ประสบกับความยากลำบากมากขึ้น จนเป็นที่มาของขบวนการ อ๊อกคิวพาย ที่เกิดขึ้นที่วอลสตรีท ที่เป็นย่านธุรกิจการเงิน ของสหรัฐอเมริกา แล้วกระจายไปที่ต่างๆ ในหลายเมืองในยุโรป แต่ในหนังทำให้ภาพการปฏิวัติของคนจน ดูกลายเป็นผู้ร้าย และนำมาซึ่งระบบเผด็จการในอีกรูปแบบ ที่เลวร้ายกว่าสภาพที่เป็นอยู่ ทางออกของหนังจึงเน้นไปที่การพึ่งพาฮีโร่ ซึ่งเป็นใครก็ได้ ที่กระทำการในนิยามของ “ความดี” มันก็คล้ายๆ กับกระแสความคิดในสังคมไทย ก่อนหน้าที่จะมีขบวนการเสื้อแดง ที่สังคมส่วนมากมักจะเรียกหาฮีโร่ หรือผู้นำ ที่จะนำพาประเทศไปให้รอด

การมองว่าการปฏิวัติ มักนำพาไปสู่ระบอบเผด็จการที่เลวร้าย เป็นชุดความคิดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในสังคม ผ่านการยกตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น โซเวียต สมัยสตาลิน คิวบา เขมรแดง จีน ลาว อีหร่าน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ผู้กำกับเขาต้องการสื่อในความหมายนี้หรือไม่ แต่ความคิดแบบนี้ มันก็ถูกสร้างขึ้นมาในสังคมอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนการปฏิวัติทางชน ชั้นในอดีตไม่สบผลสำเร็จ และมีการปฏิวัติซ้อนกลายเป็นเผด็จการที่ให้เราเห็น และบางขบวนการปฏิวัติก็อาศัยเพียงเสื้อคลุมทางชนชั้น เพื่อนำการปฏิวัติเพียงเท่านั้น หาใช่เป็นเนื้อแท้แห่งการปฏิวัติทางชนชั้นไม่

แต่ความล้มเหลวในอดีต เป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์โลกหรือไม่ เปล่าเลยเพราะการปฏิวัติไปสู่สังคมใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่มันถูกสะสมพลังแห่งความขัดแย้งภายในสังคมเดิมที่เราอาศัยอยู่ แต่เราต้องพยายามช่วงชิงนิยามการปฎิวัติกลับมาจากพวกฝ่ายปฎิรูปที่มองกว่า สังคมสามารถปฏิรูปเล็กๆน้อยๆ ผ่านความเป็นคนดี หรือผ่านความใจดี ของคนรวยได้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครดีหรือไม่ดี แต่มันอยู่ที่ระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาต่างหาก

เชิงอรรถ

[1]ความคิดเห็นของ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร มาจากการแลกเปลี่ยนกับผู้เขียนในเฟซบุ๊ค


(ที่มา)
http://turnleftthai.blogspot.dk/2012/07/blog-post_9904.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น